บริหารจัดการน้ำ ดิน ความปลอดภัย ด้วยหัวใจ “นิพนธ์ บุญญามณี”

น้ำ คือ ชีวิต

ดิน คือ ชีวิต

และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็เป็นสิ่งที่ต้องบรรเทาไว้ ให้เกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุด

ประโยคเหล่านี้ เป็นโจทย์ตั้งต้นของการแก้ปัญหา การพัฒนา การบูรณาการของทุกกรมกองที่มีกลไก และเครื่องมือในการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

กระทรวงมหาดไทย โดย คุณนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงที่ดูแลปากท้องของประชาชนระดับรากหญ้า จำต้องคิด วิเคราะห์ให้มากและละเอียดยิ่ง

เมื่อได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวถึงแนวนโยบายการทำงานในมุมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมที่ดิน โดยตรง ทั้งยังเป็นกรมที่มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย คือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แล้ว ทำให้ทราบว่า คุณนิพนธ์พยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาให้งานลุล่วง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย แต่ที่พบเป็นประจำทุกปี คือปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

“ปภ. เดินไปใต้คอนเซ็ปต์ สร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล คอนเซ็ปต์นี้พูดถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ประเทศไทยเราอาชีพเกษตรเป็นหลัก น้ำมีแหล่งที่มาที่เดียวคือ น้ำฝน เมื่อถึงฤดูฝน เราจึงจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด แล้วบริหารจัดการน้ำให้ใช้สำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปีจนถึงช่วงฤดูแล้ง ก็จะมีน้ำในการเกษตรและอื่นๆ ใช้ได้ตลอดทั้งปี”

คุณนิพนธ์ กล่าวว่า การสร้างที่ให้น้ำอยู่ นอกจากเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำขนาดเล็ก และเรือกสวนไร่นา เป็นที่กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากแล้ว สิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้คือการนำน้ำไปเก็บไว้ในทุ่งแทนที่พืชผลที่เก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะหลากท่วมได้มาก แต่การกักเก็บน้ำไว้แล้วบริหารจัดการในระยะเวลาที่เหลือหลังฤดูฝนก็เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้มีน้ำใช้ไปถึงฤดูแล้ง ซึ่งหากไม่มีน้ำทำการเกษตร อันเป็นรากฐานของประเทศ ก็จะเกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา

โดยหน้าที่ของการทำงาน คุณนิพนธ์ได้ให้นโยบายไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด ออกสำรวจพื้นที่ที่สามารถกักเก็บน้ำได้ อาทิ เหมือง เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ ซึ่งยังมีบางแห่งที่ไม่ได้รับการดูแล เกิดการตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุมเบียดพื้นที่รับน้ำ ในส่วนนี้ต้องประสานหน่วยงานที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือเฉพาะทาง เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน ในการขุดลอกหรือปรับปรุงให้สถานที่นั้นๆ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ดีและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

คุณนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งแล้ว เราเป็นห่วงเรื่องของการเข้าถึงประชาชนในการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ประชาชนเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติแบบคาดไม่ถึงจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงการเยียวยาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยโดยเร็ว หลังภัยพิบัติจบ

“อาชีพเกษตร ขาดน้ำไม่ได้ ถ้าทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำ โดยให้เห็นถึงความมั่นคงในการประกอบอาชีพที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งหากไม่สามารถสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่เช่นเขื่อนได้ ก็ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อให้เกิดแหล่งน้ำหรือที่เก็บน้ำในชุมชนขึ้น และสิ่งที่ได้กับชาวบ้านคือ หลักประกันในอาชีพเกษตรของชาวบ้านเอง”

ส่วนฤดูแล้ง หากจำเป็นต้องนำน้ำเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ปัจจุบัน ทาง ปภ. มีรถสูบน้ำระยะไกล ที่เดิมใช้วิธีขนส่งน้ำโดยรถบรรทุกน้ำขับเข้าไปในพื้นที่ ขณะนี้ได้นำรถสูบน้ำระยะไกลมาใช้ ปรับนวัตกรรมการสูบน้ำและการส่งน้ำให้ได้ระยะไกลเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องบรรทุกน้ำ ด้วยการทำท่อสูบน้ำแรงดันสูง สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำส่งต่อไปยังปลายทางที่ต้องการน้ำโดยท่อส่งน้ำ ระยะไกล 10 กิโลเมตร

ดิน ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าน้ำ เพราะเป็นผืนดินที่ใช้ทำกิน สร้างอาชีพ หล่อเลี้ยงให้เกษตรกรและประชาชนได้ดำรงอยู่

นโยบายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในด้านการมีที่ดินทำกิน เสมือนจุดเริ่มต้นหนึ่งของการยังชีพ คุณนิพนธ์ให้ความสำคัญนับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง กระทั่งถึงปัจจุบัน โครงการนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยท่านนี้ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันมีที่ดินซึ่งยังไม่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 ก. จำนวน 2,940,127 แปลง น.ส.3 อีกจำนวน 1,007,011 แปลง และเป็นใบจองจำนวน 152,685 แปลง นอกจากนี้ ยังมีกรณีประกาศให้ประชาชนที่ครอบครองที่ดินประเภท ส.ค.1 ให้นำมายื่นขอออกโฉนดที่ดินภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีผู้ยื่นคำขอทั้งหมด 492,265 ราย และคงค้างดำเนินการอีก 280,000 แปลง ขณะนี้กรมที่ดินได้มีการเร่งรัดดำเนินการแล้ว

ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 15 ล้านแปลง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 71 ล้านไร่ ยังมีพื้นที่ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งกรมที่ดินเสนอ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 2. โครงการเดินสำรวจรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดิน และเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ด้วยระบบเทคโนโลยีการรังวัดระบบดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ให้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใส เพื่อประโยชน์สูงสุดสุดต่อประชาชน

“คนต้องมีที่อยู่อาศัย ที่อยู่อันเป็นปัจจัย 4 ที่ดิน คือ ที่ทำกิน ส่งต่อให้ลูกหลานได้ทำกิน หากเร่งรัดจัดการสะสางเอกสารสิทธิให้ได้ครบถ้วนโดยเร็วได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่ผมอยากทำ” คุณนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

“ผมเป็นคนมาจากท้องถิ่น ผมคิดว่าเราใช้ท้องถิ่นน้อยไป เฉพาะความปลอดภัยบนถนน เทศกาลที่เราคุมเฉพาะ 7 วันอันตรายบนถนนสายหลัก แต่เส้นทางสายรองในชนบทไม่เคยไปดู ไม่เคยตั้งด่าน” คุณนิพนธ์กล่าวให้ความสำคัญกับถนนที่เห็นว่าไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ถนนสายหลักเพียงอย่างเดียว เพราะแท้จริงนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย เกิดขึ้นบนถนนสายรองและท้องถิ่น”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า ถนนประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 700,000 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นถนนสายหลัก 50,000 กว่ากิโลเมตร ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบทกว่า 40,000 กิโลเมตร เป็นถนนท้องถิ่นมากกว่า 600,000 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพียง 4,000 กิโลเมตร

คุณนิพนธ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อลดการสูญเสีย จะไปพุ่งเป้าที่ถนนสายหลักซึ่งมีพื้นที่ถนนน้อยกว่าไม่ได้ ควรดูแลลึกลงไปที่ท้องถิ่น ซึ่งมีพื้นที่ถนนมากกว่า 600,000 กิโลเมตรจะดีกว่า จึงมอบนโยบายเรื่องของตำบลขับขี่ปลอดภัยไว้กับท้องถิ่น ให้ดูแลความปลอดภัยในท้องถิ่นเอง อาจจะมีสัญญาณไฟกระพริบบริเวณสี่แยก สามแยก ที่ไม่เคยมีสัญญาณไฟ หรือมีป้ายบอกความเร็ว ป้ายบอกทาง แผงไฟโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลง

ทั้งหมด คือหน้าที่และความรับผิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท่านนี้กล่าว และมุ่งมั่นผลักดันให้ประสบความสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด