เปิดตัว 9 นวัตกรรมเกษตรสุดทึ่ง ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

ตามไปดู 9 นวัตกรรมเกษตรที่น่าทึ่ง ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย. 64 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ แถลงข่าวจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพ ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ กระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564  วช. ได้นำเสนอผลงานวิจัยใน 7 ประเด็น ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับเกษตรกรและผู้ที่ชื่นชอบอาชีพเกษตรห้ามพลาด 9 นวัตกรรมเกษตรที่น่าทึ่งที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ ได้แก่

1.ชลาศัยให้น้ำพืช ป้องกันดินเค็ม

ผลงาน นายประกอบ เกิดท้วม นายสุรธัช พ่วงผจง และ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลาศัยฯ เป็นนวัตกรรมที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดินเค็ม โดยการใช้น้ำมาควบคุมระดับความเค็มในดินชั้นล่างไม่ให้ระเหยขึ้นมา ให้ดินมีความชื้นตลอดเวลา โดยนำชลาศัยฯ ไปฝังใส่ดินและให้ท่อเติมน้ำของชลาศัยฯ โผล่ขึ้นมาเหนือดิน ต่อท่อเติมน้ำเข้ากับท่อน้ำ สายยาง หรือจะใส่น้ำลงไปในตัวชลาศัยฯ โดยตรงได้แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าท่อเติมน้ำ น้ำจะลงไปเก็บที่ช่องกลวงตรงกลางในโครงสร้างภายในตัวชลาศัยฯ น้ำจะแทรกผ่านเข้าไปตามรูพรุนเชรามิกและไหลออกมาอยู่ตรงผิวลาย     เซรามิกที่มีช่องหกเหลี่ยมขนาดเล็กอยู่รอบชลาศัยฯ น้ำจะไหลออกมาช้าๆ และซึมลงไปในดินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินมีความชื้นและทำให้ความเค็มของดินชั้นล่างไม่สามารถระเหยขึ้นมาบนเนื้อดินชั้นบน ซึ่งเป็นชั้นที่มีรากพืชได้ มีประโยชน์ในการช่วยแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่การเกษตร ทีมนักวิจัยได้นำผลงานไปทดลองใช้ในสวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรี  สามารถป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. เครื่องควบคุมอุณหภูมิและความขุ่นด้วย LoT ผ่านสมาร์ทโฟน สำหรับบ่อเลี้ยงกุ้ง (กุ้งมีสุข)

ผลงาน นางสาวนวลพรรณ มณี นางสาวณัฐกมล มากทองน้อย มหาวิทยาลัยทักษิณ และอาจารย์ที่ปรึกษา ดร. จิราพร ช่อมณี ผลงานชิ้นนี้ เป็นการออกแบบและสร้างชุดเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง และอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยนำองค์ความรู้และใช้เทคนิคเซ็นเซอร์ไร้สายทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจจับค่าทางเคมีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยเซ็นต์เซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ และเซ็นเซอร์วัดความขุ่น ส่งข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพน้ำระยะไกลผ่านระบบ I0T ได้แบบเรียลไทม์ โดยแสดงผล Application Blynk และ Application Line ผ่านสมาร์ทโฟน

ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถทราบค่าอุณหภูมิและระดับความขุ่นของน้ำได้ทันที ใช้งานง่ายสะดวก ไม่ซับช้อน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ช่วยลดอัตราการตายของกุ้งและรักษาคุณภาพของผลผลิต ทั้งช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการบริหารจัดการการควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อกุ้ง

  1. ปลาช่อนวิเศษ บ้านห้วยคันแหลน

เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร. เจษฎา อิสเหาะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ที่ช่วยแก้ไขปัญหาระบบการเลี้ยงและราคาปลาที่ตกต่ำในปัจจุบันให้กับชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการคือ 1. เพื่อลดต้นทุนการผลิต 2. เพิ่มมูลค่าของผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  1. โครงการพัฒนาเรือติดตามและเฝ้าระวังสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำ

โดยกรมชลประทาน ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อการเก็บตัวอย่างน้ำ พร้อมทั้งตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบอัตโนมัติ ทำให้ติดตามผลได้รวดเร็ว สามารถเฝ้าติดตามสถานการณ์ระดับคุณภาพน้ำได้อย่างดี พร้อมทั้งสามารถวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรย่านางแดง นวัตกรรมเพื่อสุขภาพเชิงพาณิชย์

ผลงาน ดร. ปิลันธนา เลิศสถิตธนากร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ย่านางแดง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเชื้อรา ทีมนักวิจัยได้พัฒนาแผ่นปิดแผลจากสารสกัดย่านางแดง เพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณแผล พัฒนาตำรับแชมพูและครีมนวดผมขจัดรังแคจากสารสกัดย่านางแดง โดยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่ภาคเอกชน

6..การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ

ผลงาน ดร. อนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักผลไม้ในรูปแบบงานวิจัยและสารชีวภัณฑ์ ขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ 124 คลัสเตอร์ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาท ต่อปี

7.ชุดกังหันกระแสน้ำผลิตไฟฟ้านวัตกรรมทั่วถึง

ผลงาน ผศ.ดร. อุตสาห์ บุญบำรุง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นวัตกรรมนี้ช่วยให้ชาวบ้านคีรีวงศ์ได้มีแหล่งพลังงานเพียงพอสำหรับดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานและใช้ประกอบอาชีพ โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูง แทนการใช้น้ำมันดีเซล ช่วยลดค่าไฟฟ้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศไปพร้อมๆ กัน

8.เพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากทุเรียน

โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับภาคเอกชนคือ บริษัท 168 โกลเด้น ฟรุ๊ตส์ อิมพอร์ต เอ็กพอร์ต จำกัด ศึกษาวิจัยการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งของทุเรียนในรูปแบบสารสกัดสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เวชสำอาง และวัสดุภัณฑ์ ปัจจุบัน บริษัท 168 โกลเด้น ฟรุ๊ตส์ อิมพอร์ต เอ็กพอร์ต จำกัด ได้จัดตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปทุเรียน ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยนำร่องไปยังประเทศจีน

  1. พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันจากข้าวสีไทยในเชิงพาณิชย์

ผลงานสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยศึกษาตั้งแต่แนวคิดผลิตภัณฑ์ การคัดเลือกวัตถุดิบโดยใช้ข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ จากวิสาหกิจชุมชนแปลงนาสะอาดจังหวัดกำแพงเพชร โดยพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ตลอดจนศึกษาการขยายขนาดการผลิตเพื่อพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และจัดทำแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์โดยร่วมมือกับบริษัทวีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด