ค้านเกณฑ์ใหม่กำกับสหกรณ์ เกษตรจ่อหารือคลังผ่อนปรน

สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่รุมค้านเกณฑ์กำกับดูแลฉบับใหม่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ “พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ” พร้อมรับไปหารือคลัง และ ธปท. ลดเกณฑ์อีกรอบ

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของกรมส่งเสริมสหกรณ์จากตัวแทนสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภท ที่มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 5,000 ล้านบาท กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ ไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ตัวแทนสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทคัดค้านคือ เรื่องอัตราส่วนหนี้สินต่อหุ้นบวกทุนสำรองไม่เกิน 2 เท่า และระยะสุดท้าย 1.5 เท่า เรื่องอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิกไม่เกิน 6% ต่อปี และจ่ายปันผลไม่เกิน 80% ของกำไรสุทธิ ประเด็นสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองและการลงทุนได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีเรตติ้งระดับ AA ซึ่งในตลาดมีอยู่น้อยมาก ทางกรมพร้อมจะนำกลับไปหารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป

ในเรื่องของอัตราส่วนหนี้สินต่อหุ้นบวก ทุนสำรองไม่เกิน 1.5 เท่า อาจมีการขยายระยะเวลาและอัตราส่วนเกินกว่า 1.5 เท่า เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็มีอัตราส่วนเกินกว่า 1.5 เท่า อยู่ที่ระดับ 8-9 เท่า ส่วนอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสมาชิกไม่เกิน 6% ต่อปี ถือเป็นเรื่องที่สหกรณ์คัดค้านมาก ก็อาจจะพิจารณาให้เพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดให้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง ก็อาจพิจารณาขยายให้เป็น 30-50% และอาจผ่อนเกณฑ์หลักทรัพย์ที่กำหนดเรตติ้งให้อยู่ในระดับ AA ลงมา เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น ทั้งนี้ หากปรับแก้ไขหลักเกณฑ์เหล่านี้ได้ทันก็พร้อมประกาศใช้พร้อมกับหลักเกณฑ์อื่นๆ ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ แต่ถ้าไม่สามารถปรับแก้ได้ทันก็จะทยอยออกต่อไป

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ (ฉบับที่…) พ.ศ….ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ. ทั้งหมด 3 ชุดคือ ร่างของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ฯลฯ จะมีการรวบรวมความเห็นส่งต่อคณะกรรมการทฤษฎีกาต่อไป คาดว่าจะส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ. สหกรณ์รวมต่อ สนช. พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายนศกนี้

โดยสาระสำคัญที่จะเพิ่มเติม ได้แก่ การให้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ฟ้องร้องบุคคลภายนอกที่ทำให้สหกรณ์เสียหายได้ หากสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี การปรับปรุงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โดยยกเลิกเรื่องการเว้นวรรคตำแหน่ง การกำหนดความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กรณีทำให้สหกรณ์เสียหาย การกำหนดให้มีทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์

ให้นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดคุณสมบัติวิธีการรับสมัครและการขาดจากการเป็นผู้ตรวจสอบกิจการรวมถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ การกำหนดให้มีส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ เนื่องจากเงินกองทุนดังกล่าวมาจากการจัดสรรกำไรสุทธิของสหกรณ์ ซึ่งเป็นเงินของสมาชิกและกองทุนนี้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ นายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์และสมประโยชน์ของระบบสหกรณ์ เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ