“สมศักดิ์ เทพสุทิน” ชี้ ปลดล็อกพืชกระท่อม ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร ปลูก 3 ต้น ทำเงิน 1 แสน

3 เดือนเต็ม กับการแถลงปลดล็อกให้พืชกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ให้มีผลบังคับใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ผลจากการปลดล็อก ให้ถือว่าประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี หรือจะบริโภคก็สามารถทำได้ ส่วนกรณีการเทียบสัดส่วน 4×100 ยังเป็นการผิดกฎหมายอยู่ โดยสาระสำคัญของข้อกฎหมายฉบับนี้คือ ให้ผู้ปลูกกระท่อม ครอบครองกระท่อม สามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบดเคี้ยวได้ และยังปลูกกระท่อมเพิ่มเติมได้ด้วย

แล้วในส่วนของภาคเกษตรกรรมอย่างผู้อ่านเรา

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ไม่ได้เน้นเรื่องของข้อกฎหมายตามกระทรวงที่ดูแล แต่ให้ข้อมูลที่เห็นเด่นชัดถึงตัวเลขรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ

“กระท่อม ที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ มีจำนวน 135 หมู่บ้าน เฉลี่ยประชากรหมู่บ้านละ 300 คน ตามธรรมนูญการปลูกกระท่อม ปลูกได้ 3 ต้นต่อคน เท่ากับมีจำนวนกระท่อมที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 124,500 ต้นทั่วประเทศ หรือราว 5,000 ไร่ หากเทียบกับจำนวนต้นกระท่อมที่ปลูกได้ 25 ต้นต่อไร่ และผมเชื่อว่า มีประชากรที่ปลูกไว้และไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกเท่าตัว นั่นหมายถึง เรามีพื้นที่ปลูกกระท่อมทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ไร่ ในตอนนี้”

ราคาซื้อขายใบกระท่อมสด 300 บาทต่อกิโลกรัมขั้นต่ำ บางตลาดขายสูงถึงกิโลกรัมละ 450 บาท

ตัวเลขการซื้อขายที่สูง ทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าเกษตรหรือพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบายด้วยตัวเลขให้เกษตรกรเข้าใจอย่างง่ายว่า

ฤดูฝน 3 เดือน เก็บได้เดือนละ 3 ครั้ง รวม 9 ครั้ง ครั้งละ 10 กิโลกรัม เท่ากับผลผลิต 90 กิโลกรัม

ฤดูแล้ง 9 เดือน เก็บได้เดือนละ 2 ครั้ง รวม 18 ครั้ง ครั้งละ 7 กิโลกรัม เท่ากับผลผลิต 126 กิโลกรัม

รวมตลอดปี เก็บผลผลิตกระท่อมสด 216 กิโลกรัมต่อต้น พื้นที่ 1 ไร่ มี 25 ต้น รวมผลผลิต 5,400 กิโลกรัมต่อไร่ หากจำหน่ายในราคาขั้นต่ำ 300 บาทต่อกิโลกรัม นั่นหมายถึง มีรายได้จากการขายใบกระท่อมสด ไร่ละ 1,620,000 บาท

เมื่อคิดพื้นที่ปลูกปัจจุบันที่ประมาณการว่ามีจำนวน 10,000 ไร่ทั่วประเทศ หากซื้อขายในราคา 300 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้มีเงินสะพัดมากถึง 16,200 ล้านบาทต่อปีทีเดียว

“ผมมองว่า กระท่อมคือพืชเศรษฐกิจ แค่เอามาเคี้ยว เอามากิน ก็ได้ถึง 16,200 ล้านบาทต่อปีแล้ว”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานตัวเลขจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถึงตัวเลขการผลิตเครื่องสำอางในประเทศไทย เป็นตัวเลขผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และส่งออกอีก 300,000 ล้านบาท จึงมองว่า หากนำสารที่ได้รับการสกัดจากพืชกระท่อมมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มชูกำลัง จะช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชกระท่อมได้อีก อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยลดและควบคุมปริมาณพืชกระท่อมที่จะมีผู้ปลูกเพิ่มในอนาคต โดยการนำไปแปรรูปและสกัดนำสารที่มีประโยชน์ไปใช้แทนการจำหน่ายกระท่อมสดเพียงอย่างเดียว

นายสมศักดิ์ บอกด้วยว่า การที่กระทรวงยุติธรรมไม่ได้ออกกฎหมายควบคุมพื้นที่ปลูกและราคา เพราะมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ทำได้เอง แม้ว่าความต้องการขณะนี้จะสูง แต่หากมีการปลูกโดยคิดจำหน่ายเพียงใบกระท่อมสดก็อาจจะทำให้ราคาซื้อขายถูกลงได้ ดังนั้น การมองการณ์ไกลถึงการนำสารในใบกระท่อมที่มีประโยชน์ไปใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มมูลค่าพืชกระท่อม และลดปริมาณพืชกระท่อมสดที่เกษตรกรปลูกมากไปใช้ในการแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้ราคาพืชกระท่อมไม่ตกลง

“ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งมาตรฐานการนำเข้ากระท่อมผงไว้ว่า จะต้องมีสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จึงนำเข้าได้ ซึ่งพืชกระท่อมที่ปลูกในประเทศไทยเรามีมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีสารเซเว่นไฮดรอกซี่ไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของยาบรรเทาปวดได้เช่นกัน โดยตลาดในประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นำเข้าเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมผลิตมอร์ฟีนขายมูลค่าปีละ 500,000 ล้านบาททีเดียว ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐอเมริกานำเข้ากระท่อมผงจากอินโดนีเซีย ประมาณปีละ 240,000 ตัน ซึ่งตรงนี้ตลาดสหรัฐอเมริกาถูกครองโดยอินโดนีเซีย 95 เปอร์เซ็นต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์นำเข้าจากที่อื่น”

เมื่อถามถึงการควบคุมไม่ให้ใช้สารในพืชกระท่อมไปในทางที่ผิดกฎหมาย หรือเสพมากเกินปริมาณ ได้อย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้คำตอบว่า บางคนเสพกระท่อมมานาน 40 ปี ไม่เป็นอะไร จึงขออย่ากังวลกับสิ่งเหล่านี้มาก ควรย้อนกลับไปดูว่า กระท่อมเป็นพืชที่มีมานาน เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ถูกรัฐปิดตายมา 78 ปี งานวิชาการเกี่ยวกับพืชกระท่อมเปรียบเสมือนเริ่มต้นใหม่ หากมีงานวิชาการรับรองจะทำให้พืชกระท่อมมีทิศทางการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไปในทางที่ดี ทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

“คนกินกระท่อมไม่เห็นออกมาฆ่ากันตาย ขับรถเฉี่ยวชนก็ไม่มี สิ่งที่เห็นคือขยันขันแข็งทำงาน หากย้อนไปมองอดีตว่าทำไมกระท่อมถึงอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ก็เพราะรัฐบาลเก็บภาษีจากฝิ่นได้น้อย เพราะคนหันมาเสพกระท่อมที่มีราคาถูกกว่าและทดแทนกันได้”

นายสมศักดิ์ ย้ำว่า ในอดีต กระท่อมเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีปัญหามาก เพราะมีราคาถูก แต่ปัจจุบัน เมื่อกระท่อมถูกปลดล็อกเป็นพืชที่มีราคา สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้แล้ว ก็ขอให้เกษตรกรที่ปลูกและจำหน่าย มองในเรื่องของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย

ในท้ายที่สุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สรุปเป็นตัวเลขพืชกระท่อม เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจมองอนาคตพืชกระท่อมให้เห็นชัดว่า ผลผลิตที่ได้จากพืชกระท่อม 216 กิโลกรัมต่อต้น เมื่อปลูกจำนวน 3 ต้นต่อประชากร 1 คน จะได้ผลผลิตจำนวน 658 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายกิโลกรัมละ 300 บาท ประชากร 1 คน จะมีรายได้จากพืชกระท่อมไม่น้อยกว่า 100,000 บาทแน่นอน