ธุรกิจกล้วยไม้รูปแบบใหม่ กล้วยไม้เพื่อการจัดสวนและปรับภูมิทัศน์ (ตอนที่ 2) เทคนิคการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่

ปกติกล้วยไม้ในธรรมชาติเป็นไม้อิงอาศัยที่ถูกแบ่งออกเป็นสองชนิดตามสภาพพื้นที่ที่เขาขึ้นอยู่ นั่นคือขึ้นอยู่บนต้นไม้ใหญ่หนึ่ง และพวกขึ้นอยู่บนพื้นป่าหรือหินตามหน้าผาหรือลานหินอีกหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นในที่มีแสงแดดลอดส่องมารำไร หรือรับแสงสะท้อนที่จ้าจากท้องฟ้า ด้วยอยู่ตามผาสูง จะพบว่าในธรรมชาติถ้ากล้วยไม้ขึ้นบนต้นไม้หรือบนพื้นที่ที่พุ่มต้นหรือเครือเถาวัลย์คลุมจนแสงลอดเข้ามาได้น้อยหรือค่อนข้างทึบ ต้นของเขาและใบจะมีสีเขียวเข้ม ออกดอกน้อยหรือไม่ค่อยออกดอก แต่ถ้าเป็นที่โปร่งได้รับแสงแดดส่องมาค่อนข้างมาก จนบางช่วงฤดูของปีโดนแสงแดดตรงๆ ตอนเที่ยงหรือบ่ายเป็นช่วงเวลานาน จะพบว่า ต้นกล้วยไม้จะมีใบสีออกเหลืองมากขึ้น และมักจะแกร็นๆ หรือต้นเล็กกว่าพวกที่อยู่ที่แสงรำไร

กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ติดบนต้นศรีตรังพันธุ์ใหญ่จากเยอรมัน

แต่กล้วยไม้ที่ได้รับแสงมากกว่าก็จะออกดอกดีกว่า เป็นต้น นิสัยของกล้วยไม้แต่ละชนิดเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สนใจจะปลูกกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่เชิงจัดสวนหรือปรับภูมิทัศน์ควรที่จะต้องทำความเข้าใจ

กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ติดบนต้นคิงส์ปาล์ม

ต้นไม้ใหญ่ที่เหมาะกับการใช้งานติดกล้วยไม้

เคมีของเปลือกไม้ ในธรรมชาติ ในป่าที่เป็นแหล่งหรือที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่มาก เราจะพบว่ากล้วยไม้ไม่ได้ขึ้นอยู่บนต้นไม้ทุกชนิด คือมีต้นไม้บางชนิดแทบไม่มีกล้วยไม้ขึ้นเลย บางชนิดมีกล้วยไม้เกาะมากและมีหลายชนิด หรือต้นไม้บางประเภทก็มีกล้วยไม้บางชนิดที่จำเพาะชอบขึ้นหรือเกาะมากกว่า เช่น ในถิ่นที่ฟ้ามุ่ยอยู่ในเชียงใหม่ มีรายงานว่าฟ้ามุ่ยชอบขึ้นบนต้นก่อ หรือในกลางเมืองเชียงใหม่ เช่น ต้นสักหลายต้นแถบริมคูเมืองย่านช้างเผือก ถ้าเงยหน้ามองจะเห็นต้นกล้วยไม้เขาแกะที่มีดอกสีม่วงเล็กๆ ขึ้นเต็มไปหมด แสดงว่าบนเปลือกต้นสัก มีเคมีที่เข้ากันได้กับการงอกและเจริญเติบโตของกล้วยไม้ (ขั้นตอนการงอกของเมล็ดกล้วยไม้ที่ปลิวมาตามลม เมื่อตกบนเปลือกไม้ต้นที่มีเคมีเหมาะสม และต้องมีเชื้อราไมคอร์ไรซาอยู่ เชื้อไมคอร์ไรซาจะส่งรากหรือไมซีเลียมเจาะเข้าเมล็ดกล้วยไม้ที่กำลังพองตัวจะงอก แล้วส่งน้ำตาลเลี้ยงต้นอ่อนกล้วยไม้ ด้วยในเมล็ดกล้วยไม้ไม่มีอาหารสะสมไว้เลี้ยงต้นอ่อน การที่ต้นอ่อนกล้วยไม้งอกได้จึงต้องพึ่งพาการมีอยู่ของเชื้อรานี้)

กล้วยไม้ส่วนใหญ่เป็นเอื้องตาเหินและเอื้องสายหลวงติดบนต้นมะพร้าวพันธุ์เล็ก

ในแง่เคมีของเปลือกไม้ ถ้าพิจารณาจากต้นในป่าที่กล้วยไม้เกาะ มากน้อยหรือไม่มีกล้วยไม้ขึ้นเลยก็พอจะสรุปได้ว่าเคมีของเปลือกไม้ชนิดนั้นๆ เหมาะกับที่กล้วยไม้ชอบไหม พอมาถึงการใช้งานในการจัดสวนเชิงการค้า หรือการปลูกต้นไม้ใหญ่จัดภูมิทัศน์ในบ้านของเรา ต้นไหนที่จะใช้ติดกล้วยไม้ เราก็ควรจะต้องมั่นใจว่าเคมีของเปลือกไปกันได้ ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าต้องไปวัดเคมีของมัน แต่ต้องหมายรู้ว่าต้นไม้ชนิดนี้รากกล้วยไม้งอกมาเกาะหรือไม่ เกาะแล้วรากเดินดีหรือไม่ นี่ถือว่าเป็นเรื่องความรู้หรือข้อมูลที่ยังไม่มีการศึกษาและบันทึกอยู่ (นักวิชาการที่อยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องสามารถเอาตรงนี้เป็นโจทย์วิจัยศึกษาแง่เคมีของเปลือกต้นไม้ที่ใช้งานในการจัดสวนแต่ละชนิดว่ามีความเป็นกรดด่างอย่างไร มีสารเคมีอะไรไม่เหมาะแก่การงอกหรือเจริญเติบโตของกล้วยไม้ สร้างเป็นฐานข้อมูลไว้ให้วงการนี้ใช้งาน)

กล้วยไม้กลุ่มสามปอยติดบนต้นมะพร้าวพันธุ์เล็ก

ดังนั้น ผู้ที่จะเริ่มต้นติดกล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่จะต้องเคยเห็นหรือรู้ว่าต้นชนิดนี้กล้วยไม้เจริญรากงอกเดินเกาะได้อย่างดี ถ้าจำเป็นต้องเขียนแบบหรือติดกล้วยไม้บนต้นไม้ที่ไม่เคยมีข้อมูลหรือไม่เคยรู้ว่าต้นกล้วยไม้ชอบหรือรากเกาะไหม ก็ต้องสอบถามหาข้อมูลก่อนเพราะถ้าเกิดเขียนแบบระบุจำนวนและชนิดกล้วยไม้ไปแล้ว ในระดับการปฏิบัติงานก็ต้องทำตามสเปกที่เขียนมา แล้วถ้าต้นไม้ชนิดนั้นปรากฏว่ารากกล้วยไม้ไม่งอกหรือเดิน ภารกิจก็จะล้มเหลวเสียหาย

กล้วยไม้สายสามสีและกุหลาบเหลืองโคราชต้นเล็กติดบนต้นจำปีสิรินธร

ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ติดกล้วยไม้บนต้นไม้มาหลายชนิดที่มีอยู่รอบบ้านมาสิบกว่าปี และได้สังเกตดูการงอกของรากและการเดินของรากที่งอกมาใหม่ที่แนบติดกับเปลือกไม้ พบว่าต้นที่รากกล้วยไม้งอกและเดินดีในเกือบทุกชนิดที่ลอง เช่น กลุ่มไม้ประเภทต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ ต้นลำดวน ต้นพะยอม ต้นอินทนิล ต้นกาซะลองหรือปีบ ต้นกฤษณา ต้นจำปีสิรินธร ต้นมะกอกป่า ต้นไข่ดาว และต้นพุดเขา รวมทั้งกลุ่มปาล์มและหมาก ได้แก่ ต้นมะพร้าว ต้นปาล์มฟอกซ์เทล ต้นคิงส์ปาล์ม ต้นหมากเยอรมัน และต้นหมากเขียว ทั้งหมดนี้รากงอกเกาะดีและรากเดินดีในระดับที่มากน้อยต่างกันเล็กน้อย มียกเว้นอยู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นไม้ดอกหอมที่ค่อนข้างหายากหรือมีปลูกกันน้อย

กล้วยไม้ส่วนใหญ่สกุลหวายติดบนต้นมะพร้าวพันธุ์ใหญ่ รับแสงแดดตรงใกล้เที่ยง

นั่นคือต้นบุนนาค พบว่าเมื่อติดกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่ระดับ 1-2 เมตรเหนือพื้นดินมาตลอดฤดูฝนปรากฏว่ารากแทบไม่งอกเลย ถึงมีงอกมาแล้วบ้างก็ไม่เดินเจริญไปตามผิวเปลือกไม้ ต้นกล้วยไม้จึงชะงักงัน ทรุดโทรม สุดท้ายต้องแกะย้ายกล้วยไม้ออกไปติดต้นอื่น จึงเป็นความรู้ว่า อย่าติดกล้วยไม้บนต้นบุนนาค ด้วยเคมีคงไม่เข้ากัน

ต้นหมากเยอรมันที่มีกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ติดมาสิบกว่าปีแล้ว

ลักษณะทางกายภาพของเปลือกไม้ ว่าเป็นเปลือกไม้ของต้นไม้ใหญ่แบบเป็นเกล็ด เป็นชิ้น หลุดล่อนได้เมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้น เช่น พะยอม กาซะลอง หรือเปลือกเรียบแต่เป็นขุย เช่น จำปีสิรินธร กฤษณา หรือเปลือกเรียบและอ่อน เช่น มะกอกป่า หรือเป็นกลุ่มหมากและปาล์มที่เปลือกค่อนข้างเรียบและแข็ง หลายท่านที่ไม่คุ้นชินกับการติดกล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ มักจะนึกว่าต้นไม้ที่มีเปลือกไม้เป็นชิ้นหรือมีร่อง เช่น กาซะลอง น่าจะเหมาะกับการติดกล้วยไม้ แต่จากประสบการณ์พบว่า ต้นกาซะลองแม้รากกล้วยไม้จะงอกและเดินดี แต่ต้นกาซะลองที่มีอายุมากขึ้น เปลือกจะล่อนหลุดออกมาเป็นชิ้นเป็นแผ่นได้ พานจะทำให้ต้นกล้วยไม้หลุดล่วงหรือห้อยอยู่ได้ ส่วนต้นไม้ใหญ่กลุ่มที่เปลือกไม่ล่อนหรือไม่หลุดง่าย ก็จะดีกว่า แต่พวกผิวที่เป็นขุยๆ จะทำให้รากหลุดลอกออกได้เมื่อนานไป (เช่น ต้นสัก) กลุ่มต้นไม้ที่เมื่อติดกล้วยไม้แล้วรากเดินดีเกาะแน่น รากไม่หลุดล่อนคือต้นไม้ที่มีเปลือกเป็นผิวเรียบ เช่น ต้นมะกอกป่า แต่กลุ่มต้นไม้ที่ใช้ในการจัดสวนมาก และถือว่าต้นกล้วยไม้เกาะดีรากเดินดีมากคือกลุ่มหมากและปาล์ม ซึ่งรวมถึงต้นมะพร้าวด้วย!

กล้วยไม้เอื้องเสือโคร่งติดบนต้นศรีตรัง

ชนิดของทรงพุ่มของต้นและการรับแสง ปกติแล้วกลุ่มต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้าน ทรงพุ่มใหญ่ ที่ห้อยคลุมจนแทบไม่มีแสงลอดเข้ามาถึงโคนต้น จะต้องมีการตัดแต่งให้โล่งโปร่ง มีแสงรำไรลอดส่องส่งลงมา ในการตัดแต่งควรเปิดให้แสงแดดตรงในช่วงเวลาก่อน 10 โมงเช้าด้านทิศตะวันออก และประมาณบ่าย 3 เป็นต้นไปทางทิศตะวันตกล้วงเข้ามาถึงโคนต้น โดยเฉพาะช่วง 1-2 เมตรเหนือพื้นที่เรามักติดกล้วยไม้มากๆ ถ้าพุ่มด้านบนทึบมากก็ควรตัดแต่งให้มีแสงรำไรลอดลงมา เพราะถ้าปล่อยให้ทึบมาก กล้วยไม้ได้รับแสงน้อยไปก็จะโตต้นเขียวสดและไม่ค่อยออกดอก

กล้วยไม้เอื้องโมกติดบนต้นปาล์มฟอกซ์เทล

ในส่วนของต้นไม้ที่ค่อนข้างโปร่ง แสงแดดตรงๆ ส่องเข้ามามากจนบางจุดเป็นแดดตรงช่วงใกล้เที่ยงหรือบ่าย หรือจะติดกล้วยไม้กับต้นหมาก ปาล์ม และต้นมะพร้าวที่มีแสงเข้ามาเต็มที่ทั้งก่อนเที่ยงและบ่าย ต้นไม้ที่รับแสงตรงๆ มากเหล่านี้จะเป็นอันตรายกับกล้วยไม้ โดยเฉพาะที่ไม่ได้มีการใช้เวลากราดแดดให้มีภูมิคุ้มกันแดดตรงๆ มาก่อน ดังนั้น สำหรับการติดกล้วยไม้กับกลุ่มต้นไม้ที่รับแสงตรงๆ ดังกล่าวต้อง “อย่าเอากล้วยไม้ที่มีขายในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มแวนด้าและใกล้เคียงมาติดต้นหมาก ปาล์ม หรือต้นมะพร้าวทันที” เพราะเมื่อโดนแดดเข้มๆ ร้อนๆ ตรงๆ เพียงแดดเดียวก็จะทำให้ใบไหม้และสลดเหี่ยวตายได้ ถ้าจำเป็นจะต้องติด ให้เลือกติดฝั่งทิศเหนือของลำต้นด้วยเมื่อตะวันอ้อมข้าวไปทางใต้ในหน้าหนาว อย่างน้อยลำต้นจะช่วยบังไม่ให้โดนแดดตรง

ข้างล่างกอใหญ่คือเอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด ข้างบนเอื้องเงินหลวงติดบนต้นจำปีสิรินธร

สภาพของกล้วยไม้ที่จะติดต้นไม้

ปกติกล้วยไม้ที่จะนำมาติดต้นไม้ควรจะให้ดอกโรยไปก่อน เพื่อให้สภาพสรีระของต้นไม้อยู่ในสภาพที่ไม่มีผลผลิต ซึ่งกล้วยไม้จะมีความต้องการน้ำ อาหารหรือปุ๋ยต่ำ แต่ในการจัดสวนรับจ้าง ถ้าผู้ออกแบบไม่เข้าใจ เขียนกำหนดให้ติดต้นกล้วยไม้ที่มีดอกก็จะมีปัญหา เพราะเราจะต้องตัดรากกล้วยไม้ให้เหลือสั้นๆ เพื่อการงอกรากใหม่ที่เร็วและรากเกาะติดต้นไม้เร็ว แต่กล้วยไม้ที่กำลังแทงช่อดอกหรือกำลังมีดอกบาน ต้องการน้ำและปุ๋ยมาก จึงสวนทางกัน

ฟ้ามุ่ยติดบนต้นกฤษณา

ด้วยผู้เขียนได้ปรับแนวการผลิตกล้วยไม้ในสวนของตัวเองเพื่อนำมาใช้ติดต้นไม้ใหญ่ ดังนั้น ซาแรนที่ใช้พรางแสง ผู้เขียนจึงเลือกชนิดกรองแสง 50% และขึงดึงค่อนข้างตึง ซึ่งยิ่งทำให้แสงลอดผ่านมาได้เพิ่มอีกเล็กน้อย ดังนั้น กล้วยไม้ส่วนใหญ่เมื่อจะเริ่มโปรแกรมกราดแดด ก็เพียงนำไปแขวนในราวนอกสุดทางทิศตะวันตกของโรงกล้วยไม้ซึ่งได้รับแดดตรงช่วงบ่ายโมงเป็นต้นไปได้เลย พบว่าใบไม่ไหม้แดด เมื่อแขวนไว้สัก 2-4 สัปดาห์ก็นำไปติดต้นไม้ใหญ่ที่รับแดดตรงๆ เกือบทั้งวัน เช่น ต้นมะพร้าวหรือปาล์มได้เลย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2564

………………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354