ปล่อยเจ้าทุย ลุยทะเล ที่เกาะสุกร

เกาะสุกร หรือที่เรียกกันว่า เกาะหมู เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร มีความสวยงามทั้งทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์และมีความโดดเด่น ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สภาพตัวเกาะประกอบด้วยภูเขา สวนยางพารา นาข้าว ทำให้ชาวบ้านบนเกาะสุกรมีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ เมื่อหมดฤดูนาข้าวก็จะมีการปลูกแตงโมซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของเกาะสุกร รวมถึงการเลี้ยงควายที่มีกว่า 300 ตัว ถือเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง โดยทุกปีชาวบ้านบนเกาะสุกรจะจัด “ประเพณีวันปล่อยควายเกาะสุกร”

ฝูงควายลงเล่นน้ำ หลังเก็บเกี่ยว

สำหรับประเพณีวันปล่อยควายเกาะสุกรถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว โดยชาวบ้านจะทำในช่วงฤดูกาลหยุดทำการเกษตรปีละ 1 ครั้ง ระหว่างช่วงขึ้น 5 ค่ำ ถึง 10 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน หลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดแล้ว หรือที่เรียกกันว่า ฤดูปล่อยควาย ซึ่งควายที่ปล่อยทั้งหมดจำนวน 300 กว่าตัว

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมประเพณีปล่อยควายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ควายได้อยู่ร่วมกันเป็นอิสระตามธรรมชาติ ซึ่งควายแต่ละตัวจะเลือกเข้าฝูงของตัวเองตามธรรมชาติ โดยมีจ่าฝูงแต่ละฝูง และถือเป็นโอกาสให้ควายได้มีการผสมพันธุ์กันโดยไม่ต้องไปจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากที่อื่น ซึ่งระยะเวลาที่ปล่อยควายจนกว่าจะเริ่มทำการเกษตรใหม่ พอเริ่มฤดูการทำนาก็จะประกาศให้ทุกคนที่เป็นเจ้าของควายและที่ทำการปล่อยควาย ให้นำกลับมาเลี้ยงในสถานที่ของตนเอง ไม่ให้ปล่อยตามท้องทุ่งนาแล้ว เนื่องจากชาวบ้านจะเริ่มทำการเกษตร ทำนา หว่านกล้า ไถนา อยู่ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน

ควายพื้นบ้านเหล่านี้จะพร้อมใจกันลงไปเล่นน้ำทะเลเพื่อคลายร้อน โดยเฉพาะบริเวณตลอดแนวชายหาดแตงโม หมู่ที่ 2 บ้านแหลม และหมู่ที่ 3 บ้านทุ่ง หรือทางด้านทิศใต้ของเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งควายจะทยอยกันลงไปเล่นน้ำทะเลวันละ 2 รอบ คือ ตอนเช้าตรู่ ตั้งแต่เวลา 05.30 น. และตอนพลบค่ำ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. หรือช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และก่อนพระอาทิตย์ตก ซึ่งควายตั้งแต่รุ่นเล็ก ไปจนถึงรุ่นใหญ่จะชวนกันลงเล่นน้ำทะเลอย่างสนุกสนาน

แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่เกาะสุกรทำการบุกเบิกพื้นที่ทำนาด้วยแรงคนขุดต้นไม้ออกแล้วใช้ควายฝูงปล่อยเหยียบนา การทำนาเป็นระบบอินทรีย์ใช้ขี้ค้างคาวชุบรากต้นกล้าก่อนปักดำ ก่อนทำนาก็ปล่อยควายไว้ให้ควายขี้ในนาเพื่อเป็นปุ๋ยเมื่อตอนปลูกข้าว การทำนาต้องเอาใจใส่ดูแลนาตลอดการทำนา ด้วยวิธีนี้ทำให้มีข้าวที่ปลอดภัยไว้บริโภค ยิ่งถ้าใช้ขี้วัวขี้ควายบำรุงดินไปเรื่อยๆ ดินก็จะค่อยๆ มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ปลูกข้าวได้ผลผลิตดี และลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่หากเอาแต่ใส่ปุ๋ยเคมีไปตลอด ต่อไปดินก็จะเสื่อมสภาพเร็ว เป็นการทำลายระบบนิเวศ

 

ฝูงควายลงเล่นน้ำ หลังเก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมของควายพื้นบ้านเหล่านี้ที่น่าทึ่งอย่างมาก และสามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวของประเทศไทยนี้เป็นมนต์เสน่ห์เพียงส่วนหนึ่งของเกาะสุกร นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวิถีชีวิตคนบนเกาะสุกรอีกด้วย โดยในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมของทุกปีหลังฤดูกาลปล่อยควาย จะมีการทำนาข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ และเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยก็จะมีการปลูกแตงโม สินค้าเลื่องชื่อของเกาะสุกร จะเห็นได้ว่าบนเกาะแห่งนี้ยังมีเรื่องราวน่าสนใจ น่าหลงใหลอีกมากมาย