ครูโอ๊ะ ปักหมุดบูรณาการ กศน. ทุกมิติ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. ตามความหมายของการกำกับดูแลของ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ไม่ได้เขียนขึ้นเองด้วยการแต่งเติม แต่เป็นข้อความที่ออกจากปากของ ดร.กนกวรรณ ที่วงการการศึกษารู้จักดีในชื่อของ “ครูโอ๊ะ”

แต่ละวันของการทำงานในภาพรัฐมนตรี น้อยครั้งที่จะนั่งทำงานอยู่ในห้อง ดร.กนกวรรณเอ่ยถึงความยากลำบากในการทำงานของครู กศน. ที่ไม่ได้เป็นเพียงครูสอนในห้อง แต่ต้องเป็นทุกอย่างให้กับผู้เรียน

“บุคลากร กศน. ถือเป็นคนพันธุ์พิเศษ จะต้องได้รับการพัฒนาตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ได้มีการสั่งการให้เลขาธิการ กศน. ทำการสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อส่งเสริมเรื่องหนึ่งตำบลหนึ่งอาชีพ และเพิ่มเติมในเรื่องภาษาอังกฤษให้กับประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคงสู่ครัวเรือนต่อไป”

ก่อนหน้านี้ การเรียนการสอนในระบบของ กศน. เป็นการสอนในระบบการศึกษาที่นอกเหนือจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ แต่ ดร.กนกวรรณมองเห็นช่องว่างและเข้ามาเติมเต็มระบบการศึกษาให้ครบถ้วน โดยการให้ความสำคัญไปที่ความถนัด ทักษะของผู้เรียน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษาหรือมีใบปริญญาก็สามารถสร้างอาชีพได้

“เรื่องอาชีพ เราไม่อยากให้มองเรื่องประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว เมื่อต้องการช่วยเหลือ ควรมองไปที่การมีงานทำ มีผู้ประกอบการบางแห่งสนใจทักษะและความชำนาญของผู้เรียน ไม่ได้สนใจใบประกาศนียบัตร ยินดีให้ความช่วยเหลือ ตรงนี้เราเข้าไปช่วยประสานอยู่ระหว่างการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ให้ทางสถานประกอบการส่งคนมาเทรนด์ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ นำไปประกอบอาชีพได้จริง”

ด้านนโยบายที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน เป็นนโยบายการจัดการศึกษาให้แก่หน่วยงานสังกัดสำนักงาน กศน. ซึ่งเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายนักศึกษา ประชาชน เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาอาชีพแก่คนในชุมชน ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ตามความต้องการและความพร้อมของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังได้นำร่องการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมนำร่องไปแล้ว คือ รูปแบบ Ranong Model เพื่อให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดระนองสามารถเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมและมีคุณภาพด้วยการจัดการศึกษาที่พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษตามบริบท สภาพปัญหา ความต้องการของแต่ละบุคคล หน้าที่สำคัญของ กศน. คือออกแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสม เพื่อเติมเต็มให้ประชาชน คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้รับความรู้และสามารถพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายได้ในทุกมิติ

“เราเชื่อว่าการปักหมุด จะทำให้เราได้เห็นความด้อยโอกาสหลากหลายมาก และตัวเลขกลุ่มคนด้อยโอกาสมากกว่าที่เรามี เพราะบางคนมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ ทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อน ซึ่งเมื่อเราปักหมุด เดินเข้าหาแต่ละบ้าน เราจะรู้ว่าเขามีความถนัดอะไร เพื่อส่งเสริมต่อยอดให้เขาได้เรียนรู้เพิ่มเติม ส่งผลไปถึงการมีงานทำ ซึ่งเรานำร่องไปแล้ว และมีเป้าหมาย 19 จังหวัด เราจะทำกว้างขึ้น จะหาเด็กที่หลุดจากการศึกษา จัดให้ครบ ไม่ต้องกำหนดว่ามีประกาศนียบัตรเสมอไป แต่ก็มีการรับรองจากเราในสิ่งที่อยากเป็นให้”

ดร.กนกวรรณ ระบุว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญ เราเน้นให้มีการส่งเสริมการอ่าน ต้องการให้คนไทยอ่านมากขึ้น จึงเน้นการพัฒนาห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรม การสอน การเรียน และทำงานได้

“เรายังคิดเรื่อง อาสา กศน. ตามแต่ละหมู่บ้านเชิญชวนมาขึ้นทะเบียน เพื่อให้นำทักษะพิเศษที่มีอยู่มาสอน เติมเต็มให้กับนักเรียน วิชาอะไรก็ได้ สอนอาชีพก็ได้ หรือแลกเปลี่ยนก็ได้ เป็นการแชร์ประสบการณ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น”

แม้ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เรียน กศน.จะไม่มี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องมี ดร.กนกวรรณเล็งเห็นความสำคัญของภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ด้อยโอกาสจะขาดคุณสมบัติของการกู้ยืมเงิน ต่างกับผู้เรียนในระบบการศึกษาที่สามารถหาผู้ค้ำประกันได้

“กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. มีส่วนช่วยให้ผู้ที่อยู่ในระบบได้เรียน แต่สำหรับนักเรียนที่อยู่นอกระบบ เช่น โรงเรียนฝึกทักษะอาชีพ กศน. อีกจำนวนมากที่ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเช่นกัน แต่ทำไม่ได้ ตรงนี้ ทาง กศน.เห็นใจและเข้าใจ จึงประสานกับทางเจ้าของสถานประกอบการ หรือผู้อำนวยการศึกษา ยอมเป็นผู้ค้ำประกันการศึกษาให้กับนักเรียนหรือลูกศิษย์ของตนเอง ซึ่งรูปแบบของการฝึกทักษะอาชีพจะใช้เวลาเรียนไม่มาก 6 เดือน-1 ปี เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ทำงานหาเงินคืนให้กับภาครัฐ แบบนี้ใช้เวลาไม่นาน ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการหลายแห่งแสดงความพร้อมในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ข้อคิดว่า ปัจจุบันเรามีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ที่ปฏิรูปด้านการศึกษาที่ให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา โดยการสร้างโอกาสให้ผู้อยู่ในวัยเรียนให้เข้าถึงการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้อย่างทั่วถึง

ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ดร.กนกวรรณได้เสนอคณะรัฐมนตรี ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ใหม่

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว มีทั้งสิ้น 31 มาตรา และมีรายละเอียด อาทิ ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้, เปลี่ยน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ทุกจังหวัดนอกจาก กทม. จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด เพื่อกำกับ ดูแล และสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ และภาคีเครือข่าย ในการส่งเสริมและส่วนร่วมการเรียนรู้ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ โอนย้ายเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และให้เลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้

ในท้ายที่สุด ดร.กนกวรรณฝากขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในสถานการณ์โควิด-19 แพร่กระจาย ทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งหากประชาชนต้องการแสดงความคิดเห็น ต้องการสื่อสารถึง ดร.กนกวรรณยินดี

โดยสามารถเข้าไปแสดงความเห็นในเพจ พี่โอ๊ะ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์-เพจ ได้อย่างไม่มีข้อกังขา ยินดีรับทุกความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอนในทุกมิติ