ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | กัลยดา ชุ่มอินทรจักร |
เผยแพร่ |
ที่ฟาร์มนก ทีอาร์ฟาร์ม (TR Farm) หรือสถานที่เพาะพันธุ์นกสวยงาม คุณออย หรือ คุณธีรพร ไพทยะทัต ผู้มีหน้าที่การงานประจำที่มั่นคง แต่ก็ทำอาชีพเสริมเพาะเลี้ยงนกสวยงามตระกูลนกพันธุ์เล็ก เช่น นกฟอพัส คุณออยผู้ที่ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ประสบการณ์ที่เลี้ยงสัตว์มาหลายชนิด จนมาถึงนกสวยงาม หนึ่งในนั้นคือนกฟอพัส เพราะโดยส่วนตัวแล้วชอบสัตว์เลี้ยงประเภทนกเล็กมาก
“ผมสนใจที่จะเลี้ยงนกตระกูลนกเล็กและมีความสุขหลังเลิกงานที่มาเจอนกลูกอ่อนในรัง ถือว่าเป็นความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ของฟาร์ม เป้าหมายผมนอกจากเลี้ยงสวยงามแล้วยังต้องการที่จะให้นกมีสีสันที่แปลกเพิ่มขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการเลี้ยงนกระดับหนึ่ง เพื่อที่จะนำไปต่อยอดเป็นนกสวยงามรุ่นต่อๆ ไป” คุณออย กล่าว
นกฟอพัสเป็นนกแก้วป่ามีขนาดเล็กจิ๋ว ใหญ่กว่านกกระจอกนิดหนึ่ง ด้วยสีสันและความเชื่อง เป็นนกแก้วอยู่ในตระกูลปากขอพันธุ์เล็กที่นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบันก็จะมีสีเขียว เหลือง ฟ้า ขาว ชมพู สีสันอาจจะเพิ่มได้หรือได้สีที่หลายสีในตัวเดียวจากการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ นกฟอพัสมีนิสัย ฉลาด ซน ขี้เล่น เชื่องกับผู้ที่เลี้ยงมาตั้งแต่เป็นลูกนก เขาจะไว้ใจและรักเจ้าของ อีกอย่างเสียงร้องก็ไม่ดังเป็นที่รบกวน
ความสุขใจจากงานอดิเรกของคนเรานั้นสร้างได้หลายแบบ บางคนปลูกต้นไม้ บางคนเลี้ยงสัตว์ ในที่นี้การเลี้ยงนกฟอพัสนั้นก็เป็นหนึ่งในอาหารใจ นกฟอพัสหรือนกแก้วจิ๋ว สีสันสวยงาม มีหลากสีในตัวเดียว สีอ่อนหวาน แถมยังฉลาด เชื่องง่าย สอนง่าย นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเลี้ยงนกสวยงาม นกฟอพัสเป็นนกที่ฝึกให้ปล่อยอิสระได้ ถึงเวลาก็เรียกกลับหาเจ้าของได้ง่ายเช่นกัน
การเลี้ยงนกฟอพัสที่ได้ทั้งความสุขใจและได้ทั้งรายได้นั้น ก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจในการเลี้ยง และยังได้สร้างเพื่อนเพิ่มขึ้น การแลกเปลี่ยนนก การสร้างรายได้ และยังเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ จนมีการสั่งซื้อเข้ามา และก็ยังนำเข้ามาจากต่างประเทศในคราวเดียวกัน ถือว่าเป็นการสร้างเพื่อนต่างประเทศและสร้างรายได้อีกด้วย
“ผมเลี้ยงนกฟอพัสทั้งส่งออกและนำเข้า การนำเข้าก็เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา ยิ่งสีแปลกก็ถือว่าคนเลี้ยงประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ และยังทำให้ราคากระโดดไปได้ไกลอีกด้วย” คุณออย กล่าว
การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงนกสวยงามก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ขอให้ใจรัก ผลงานก็จะตามมา สีสันของเขาทำให้เราผ่อนคลายและถือเป็นการพักสายตาไปในตัวด้วย เพราะสีของฟอพัสจะค่อนข้างเป็นสีโทนอ่อน จะมีสีเข้มสลับบ้าง ยิ่งได้สีสลับที่แปลกออกไปก็ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นในตัวนกมากขึ้น
การเลี้ยงนกตระกูลนกสายพันธุ์เล็กจิ๋วนั้น เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย บางท่านอาศัยอยู่คอนโดฯ แต่ก็อยากได้นกที่ฝึกให้เชื่องเป็นเพื่อนที่ไม่ต้องอยู่ในกรงตลอดเวลา ปล่อยให้บินอิสระภายในห้องใหญ่ได้ และเสียงร้องก็นุ่มนวล ไม่ดังเกินไปจนเป็นที่รำคาญของเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้มีการนำนกฟอพัสไปฝึกเพื่อนำไปปล่อยบินภายนอกอาคารแล้วกลับมาหาเจ้าของ ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงมีความเข้าใกล้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และนี่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นความภูมิใจและสุขใจของผู้ฝึกเลี้ยงที่เกิดขึ้นกับนกที่เราเลี้ยงเลยทีเดียว แต่ทุกขั้นตอนก่อนที่จะสามารถนำเขาออกมาเลี้ยงนอกกรง จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง อันประกอบด้วย วิธีการซื้อ วิธีการเลี้ยงดู ตลอดจนถึงวิธีการฝึกฝน
นกฟอพัสเป็นนกแก้วขนาดเล็กมาก แถมมีสีสันสวยงาม เสียงไม่ดังจนเป็นที่รำคาญ สามารถปล่อยให้บินในที่พักได้ ควรที่จะเลี้ยงตั้งแต่ขนาดลูกป้อน เพื่อให้นกมีความเชื่อง ทำให้นกมีความไว้ใจและเชื่อใจ เราสามารถฝึกให้เขาทำตามคำสั่งได้ เช่น ฝึกให้หมุน เก็บของ หรือแม้กระทั่งฝึกให้บินอิสระ คนเลี้ยงนกส่วนใหญ่มักชอบพานกไปเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติต่างๆ เพื่อพานกไปฝึกบินหรือถ่ายรูป ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนกแก้วฟอพัสเลยก็ว่าได้
ก่อนจะเลี้ยงนกฟอพัสต้องใช้อะไรบ้าง
กรง สำหรับไว้ให้นกอยู่ ตอนนกโตควรมีขนาดกว้างพอสมควรเพื่อให้เขาได้บินได้ออกกำลังกายและรวมถึงถาดรองขี้นกเพื่อง่ายแก่การทำความสะอาด
ที่ใส่น้ำ จะให้แบบเป็นถ้วยหรือแบบหลอดก็ได้ครับ ที่บ้านจะให้ทั้งสองแบบเพราะนกจะได้ดื่มน้ำสะอาดในหลอด แล้วก็ได้เล่นน้ำในถ้วยแก้เครียด
ที่ใส่อาหาร ควรมีน้ำหนัก กันนกเทอาหารทิ้งได้ครับ แล้วควรมีความกว้างพอให้นกสามารถเข้าไปกินอาหารสะดวก
คอนยืน คอนลับเล็บ เพื่อให้นกได้ออกกำลังบ้างเป็นการเล่นอย่างหนึ่งของนก บริเวณที่เลี้ยงก็ต้องเป็นที่โล่งโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ยิ่งดี การเลี้ยงควรเริ่มจากสองสามคู่ก่อน เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาตินิสัยของนกแล้วค่อยขยายก็จะดี
อาหารที่ใช้สำหรับให้นกฟอพัส จะให้เป็นเมล็ดธัญพืชหลากหลายชนิด อย่างน้อยๆ ต้องประกอบด้วย มิลเล็ตสีต่างๆ (เมล็ดพืชเม็ดเล็กๆ คล้ายข้าวฟ่าง ปลูกแถบแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย) ข้าวไรซ์ ข้าวโอ๊ต บัควีท เมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ เรายังสามารถให้ผักผลไม้เป็นอาหารเสริม เพื่อสร้างความแข็งแรง และอาหารที่หลากหลาย เช่น ผลไม้ กล้วยสุก แก้วมังกร ผักต่างๆ และควรเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน เพื่อให้เขาได้รับน้ำที่สะอาดอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของนก สูตรการให้อาหารนกนั้น แต่ละฟาร์มนกอาจจะมีการให้อาหารที่แตกต่างกันไป ส่วนทางคุณออยให้ข้าวโอ๊ตเป็นหลักใน 3 เดือนแรก ไม่ต้องกังวลเรื่องนกอ้วนเกินไป หลังจาก 3 เดือนหรือเริ่มลงรัง หรือเข้าฝูงเขาก็จะปรับตัว เสริมด้วยสาหร่ายสไปรูลิน่า
กระแสการเลี้ยงนกฟอพัสกลับมาเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะว่าการเลี้ยงที่ไม่ยากและปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยนไป คนอยู่บ้านมากขึ้น การดึงธรรมชาติเข้าหาตัว สัตว์เลี้ยงประเภทนี้ก็กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งหนึ่ง
การบำรุงลูกนก แต่ละฟาร์มก็จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างที่ประสบการณ์ตรงจากที่ฟาร์มผมก็จะมีการให้อาหาร 3 เดือนแรกผมก็จะให้ข้าวโอ๊ตเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องกังวลว่านกจะอ้วนเกินไป ช่วง 3 เดือนแรกนกจะอยู่ในกรงเล็ก หลังจากนั้น ก็จะนำนกแยกไปกรงรวม เขาก็จะปรับตัวในการที่จะรับอาหารอย่างอื่นได้ แต่ข้อสำคัญช่วง 3 เดือนแรก เขาจะได้ฝึกกินอาหารเต็มที่ และหลังจาก 3 เดือน นกจะถูกเปลี่ยนมาอยู่ในกรงรวมเพื่อการเข้าฝูงและฝึกบินในกรงที่ใหญ่ขึ้น อาหารก็จะมีการแย่งกันกินถ้านกที่ไม่ได้สมบูรณ์แข็งแรงพอก็จะทำให้นกไม่โตเท่าที่ควรหรือแคระแกร็นได้ ก็จะทำให้ติดโรคได้ง่ายขึ้น และอีกอย่างนกเขาจะจดจำอาหารที่เราเคยให้
แนะนำสายพันธุ์นกฟอพัส (Forpus)
1. เยลโล เฟส (Yellow-Face Parrotlet) (Forpus Xanthops) ลักษณะ จะมีสีเทาบนขากรรไกรล่างบน ตัวผู้สามารถสังเกตได้จากตาสีเทา/น้ำเงิน และจะมีสีม่วงเข้มบนสะโพก ส่วนขนปีกจะมีสีน้ำเงิน โคบอลต์ ซึ่งจะมีความแตกต่างจาก Forpus ตัวอื่นๆ ถิ่นกำเนิดในประเทศเปรู
2. เม็กซิกัน แพรอตเลต (Mexican Parrotlet) (Forpus Cyanopygius, Forpus C. Insularis) ลักษณะ เพศผู้จะสังเกตได้ง่ายจากส่วนสะโพกสีฟ้าและปีกจะมีโทนสีฟ้าแบบหลากหลาย ส่วนตัวเมียจะไม่มีสีลักษณะแบบตัวผู้ เม็กซิกัน แพรอตเลต Mexican Parrotlet มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเม็กซิโก
3. เทอคว้อย รัม แพรอตเลต (Turquoise-Rumped Parrotlet) (Forpus Spengeli) ลักษณะ สีลำตัวเป็นสีเขียวอ่อนทั้งหมด โดยจะมีเฉดสีเข้มกว่าเล็กน้อยบนลำตัวส่วนบน นกฟอพัสสายพันธุ์ Turquoise Rumped Parrotlet ได้ชื่อมาจากสีน้ำเงินอ่อนบนหลังส่วนล่างและสะโพกรวมถึงใต้หาง มีถิ่นกำเนิดในประเทศโคลัมเบีย
4. สเครเตอร์ (Sclater’s Parrotlet) (Forpus Sclateri) ลักษณะ จะมีสีเข้มกว่านกฟอพัสสายพันธุ์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดเจนคือ มีสีเขียวมรกตเหนือแก้มและหน้าผาก ตัวผู้มีสะโพกจะมีสีน้ำเงิน/ม่วง และหลังส่วนล่างจะมืดกว่าฟอพัสตัวอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีสีน้ำเงินและสีม่วงตรงปีก ตัวเมียจะไม่มีสีฟ้าและซึ่งจะแทนที่ด้วยสีเขียว มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล
5. แปซิฟิค แพรอตเลต (Pacific Parrotlet) (Forpus Coelestis) ลักษณะ เพศผู้จะมีดวงตา สะโพกและในปีกเป็นสีโคบอลต์ ส่วนเพศเมียจะไม่มีสีโคบอลต์ และมีดวงตาสีเข้มมรกต มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเปรูสเปคเทเชียส แพรอตเลต (Spectacied parrotlet) (Forpus conspidilatus, Forpus c. caucae) ลักษณะ เพศผู้จะมีวงแหวนสีม่วงรอบดวงตา ปีก และสะโพก นัยน์ตามีสีเขียวมรกต และสีเขียวสดใสเล็กๆ เหนือปาก นกฟอพัสสายพันธุ์สามารถที่จะเรียนรู้ ฝึกฝนการพูดได้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศปานามาบลูวิงแพรอตเลต (Blue-Winged Parrotlet) (Forpus Xanthopterygius, Forpus X. Flavissimus, Forpus X. Flavescens) ลักษณะ จะไม่มีสีฟ้าบนใบหน้า และยังมีดวงตาที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับรูปร่าง ลักษณะจะระบุได้ง่ายกว่านกฟอพัสสายพันธุ์อื่นๆ มีถิ่นกำเนิดในอาร์เจนตินาและบราซิล
8. กรีน รัม แพรอตเลต (Green Rumped Parrotlet) (Forpus Passerinus, Forpus P. Viridissimus, Forpus P. Deliciosus) ลักษณะ ตัวผู้จะมีลักษณะสีฟ้าอ่อนและสีม่วงต่างกันไป ปีกไม่มีสีฟ้า แต่จะเป็นโทนสีเขียว สีเทา มีรูปสามเหลี่ยมสีเหลืองอยู่เหนือปาก (สิ่งนี้จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ย่อย) มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส (ขอบคุณที่มา forpusthai.com)
นกฟอพัสยังสามารถพัฒนาสีสันได้เพิ่มเติมอีกมากมายจากสีหลักแต่ละกลุ่มสียังแบ่งออกเป็นสีย่อยอีกมากมาย เช่น สีพายกรีนก็จะมีลักษณะเล็บขาวมีขนสีเหลืองแซม สีพายบลูจะมีลักษณะเล็บขาวมีขนสีขาวแซม นอกจากนี้ ยังมีสีพาสเทล จะมีลักษณะเป็นสีออกโทนอ่อนไล่เฉดสีกัน แต่ข้างหลังปีกจะมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา สีอเมริกันไวท์ก็จะมีลักษณะขนสีขาวทั้งตัวหรือบางครั้งนกมีลักษณะพิเศษอาจมีตาแดงด้วย เป็นต้น
รายได้เฉลี่ยราคาอยู่ที่นกพื้นฐานก็จะมีราคาหลัก 1,500 บาทต่อ 1 ตัว แต่ถ้ามีสีสันที่แปลกออกไปราคาก็จะอยู่ตั้งแต่หลักหลายๆ พันบาทจนถึงหลักหลายๆ หมื่นบาทขึ้นไป การซื้อขาย ปัจจุบันช่องทางการตลาดมีหลายทาง เช่น ทางออนไลน์ การบอกต่อ ทางเฟซบุ๊ก จึงหาวิธีตลาดโดยการสร้างกลุ่มนกสวยงามขึ้นมาเพื่อช่วยในการขาย การรวมกลุ่มก็ช่วยการขายดีขึ้น เช่น ถ้าใครมีลูกค้าแต่ไม่มีนกที่เขาต้องการก็จะติดต่อทางกลุ่มเพาะเลี้ยง ก็ช่วยกันไปได้ทั้งเพื่อนและสายสัมพันธ์ พร้อมกับการแลกเปลี่ยนความรู้อีกด้วย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ทีอาร์ ฟาร์ม หรือ ฟอพัส สตูดิโอ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดย คุณธีรพร ไพทยะทัต เฟซบุ๊กและเพจ TR Aviary