“วิศาร บรมธนรัตน์” ชาวสมุย จะทำมะไฟกา ที่มีรสเปรี้ยวให้หวานด้วย

ช่วงนี้กระแสพืชใบด่างกำลังมาแรง แต่ไม่ได้มีอะไรมาเขียนให้อ่านหรอกครับ เพียงแค่จะชวนไปรู้จักกับผลไม้สีแดงชนิดหนึ่งที่มีทางภาคใต้ของไทย เป็นผลไม้ท้องถิ่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน ในชื่อ “มะไฟกา”

มะไฟกา หรือ มะไฟแดง ไม้ผลยืนต้นพื้นเมืองตามป่าธรรมชาติของภาคใต้ โดยเฉพาะในผืนป่าตอนล่าง มีผลกลมสีแดงแกมม่วง มีรสเปรี้ยว ชาวบ้านนิยมนำผลอ่อนใส่ในแกงคั่ว หรือบางพื้นที่นำเปลือกผลสุกที่เป็นสีแดงไปยำกับหนังหมูและกุ้งแห้ง ผลสดเมื่อสุกรับประทานได้ มีวิตามินซีสูง จึงมีสรรพคุณทางยามากมาย ผลมะไฟกามีลักษณะไม่ต่างจากมะไฟพันธุ์อื่น เพียงแต่เปลือกผลมีสีแดงเข้มเท่านั้น

มะไฟกาเมื่อปอกเปลือกออก เนื้อมีสีขาวขุ่นเหมือนมะไฟทั่วไป

หากมองมะไฟกาเป็นผลไม้ อาจมีความด้อยในเรื่องรสเปรี้ยว แต่มีเสน่ห์ตรงผลสีแดงเข้ม เมื่อถึงช่วงผลผลิตที่มะไฟกาออกดอกติดผลตั้งแต่โคนต้นจากพื้นดินไปจนถึงปลายกิ่ง ผลที่สุกนั้นมีสีแดงสด เด่นสะดุดตา ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกมะไฟกาเป็นไม้ประดับสวนจะเกิดความสวยงาม เพราะเป็นพืชที่ดูแลง่าย ปลูกได้ในดินทั่วไป แต่โดยส่วนใหญ่จะชอบดินร่วน ควรปลูกในสภาพมีพืชร่วมช่วยบังแสง เพราะไม่ชอบแสงแดดจัด จึงควรปลูกร่วมกับไม้ยืนต้น

โดยธรรมชาติผลไม้ชนิดนี้มีรสเปรี้ยว เจริญเติบโตมีความสมบูรณ์ตามทรัพยากรของแหล่งปลูกที่ต่างกัน อาจไม่ได้มีรสเปรี้ยวทุกผล บางต้นมีรสชาติหวาน และบางต้นมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว จึงทำให้ชาวบ้านนำมาวางขายตามแหล่งชุมชน นักท่องเที่ยวจึงมักพบเห็นผลมะไฟกาวางขายตามเพิงข้างถนนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุก ปี

แพ็กส่งตามออเดอร์

คุณวิศาร บรมธนรัตน์ เป็นชาวสมุย ต้องการยกระดับมะไฟกาไม้ผลดั้งเดิมของสมุยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเพราะมีรสเปรี้ยวอย่างเดียวให้มีความหวานเพิ่มเข้ามา โดยใช้แนวทางใส่ปุ๋ยหมักมูลม้าร่วมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์ตามการแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตร พร้อมการันตีผลผลิตด้วย GAP หวังเพิ่มมูลค่า แล้วยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม

ที่ดินของครอบครัวคุณวิศารมีต้นมะไฟกาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่จำนวน 40 กว่าต้น มีอายุต้นกว่า 50 ปี ต้นมะไฟกาเหล่านั้นตั้งอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ เจริญเติบโตร่วมกับพันธุ์ไม้ยืนต้นอื่น จึงไม่ได้เป็นแปลง

ออกผลดกเต็มต้น

ด้วยเหตุผลของรสชาติทำให้แต่ละปีผลผลิตมะไฟกาออกมาถูกทิ้งเสียเปล่า หรือคนพื้นที่อาจเก็บมาขายให้กับชาวบ้านหรือนักท่องเที่ยวในราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม มะไฟกามีจุดเด่นอยู่ที่ผลมีสีแดงสด มีความแปลกกว่ามะไฟพันธุ์อื่น ซึ่งคุณวิศารมองว่า หากทำให้ทุกผลมีรสหวานอมเปรี้ยว (แทนที่จะเปรี้ยวอย่างเดียว) จะยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นถึงขั้นอาจส่งขายเชิงพาณิชย์ได้ จึงนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่เกษตรเพื่อขอคำแนะนำการปลูกและใส่ปุ๋ยที่มีความเหมาะสมถูกวิธี

เก็บผลผลิตอย่างระมัดระวัง

คุณวิศารไม่รีรอ จึงทดลองใส่ปุ๋ยให้กับต้นมะไฟกาเป็นปีแรกเมื่อตอนเป็นผลขนาดเล็ก ใส่ปุ๋ยคอกต้นละ 5-6 กระสอบ จากนั้นเว้นระยะเวลาแล้วเติมด้วยปุ๋ยทำความหวาน 0-0-60 ต้นละ 3 กิโลกรัม พอมาถึงช่วงเก็บผลผลิต ลองสุ่มชิมผลแต่ละต้นพบว่า บางผลในต้นเดียวกันมีรสหวานเล็กน้อย และบางต้นยังเปรี้ยวอยู่ อาจมองได้ว่าเกิดจากการใส่ปุ๋ยที่ยังไม่สมบูรณ์ทั้งชนิดปุ๋ยและช่วงเวลาก็เป็นได้ แต่ถือเป็นช่วงทดลองผิด-ถูก จะได้หาข้อมูลเพื่อนำมาปรับให้เหมาะสมในรอบการผลิตครั้งต่อไป

คุณวิศารคิดว่าจุดแข็งทางการขายไม่เพียงทำให้มะไฟกามีรสหวานอมเปรี้ยวร่วมกับความแปลกของผลที่มีสีแดงเพียงเท่านั้น แต่ควรการันตีคุณภาพผลผลิตจากการปลูกควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า จึงติดต่อขอเข้าระบบการปลูกพืชแบบ GAP ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครติดต่อขอ GAP การปลูกมะไฟกาเลย

คุณวิศาร บรมธนรัตน์ โชว์ผลผลิตที่เก็บ

“การได้รับรอง GAP มีความสำคัญในเรื่องการตลาดอย่างมาก เพราะลูกค้าเห็นผลมะไฟกาที่มีสีสวยแปลก แล้วยังมีรสหวานอมเปรี้ยว อีกทั้งมีหนังสือรับรองด้วยก็จะช่วยยกระดับผลไม้ให้มีคุณค่าสร้างมูลค่าการขายเพิ่มขึ้น”

สำหรับการปลูกแบบ GAP คุณวิศารได้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดทุกขั้นตอนและกระบวนอย่างเคร่งครัดทั้งในเรื่องการใส่ปุ๋ย โรค/แมลง และการจัดการแปลงปลูก กระทั่งผ่านเกณฑ์จนได้รับรองในที่สุด หลังจากได้รับรอง GAP เรียบร้อยแล้ว ได้ชิมลางตลาดก่อนด้วยการส่งขายมะไฟกาตามออเดอร์ให้กับคนรู้จักใกล้ชิด เพื่อน ผ่านทางไลน์ และ FB อย่างไม่เป็นทางการ ในราคา 4 กิโลกรัม 350 บาท (รวมค่าขนส่งแล้ว)

ป้ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนชิมมะไฟกาสมุย

ภายหลังส่งสินค้าได้ติดตามผลปรากฏว่า สิ่งที่ลูกค้าพอใจแล้วเห็นตรงกันคือผลไม้ชนิดนี้มีความแปลกตรงสีแดงอย่างเดียว ส่วนเรื่องรสชาติมีบางรายเปรยขึ้นมาว่ามีรสเปรี้ยวจี๊ดได้ใจ แต่กระนั้นคุณวิศารมองว่า อย่างน้อยนับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่ความแปลกของสีเป็นจุดขายชักชวนคนมาซื้อ หากในอนาคตสามารถปรับปรุงรสชาติเติมให้มีความหวานเข้ามาได้อาจสร้างความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก

คุณวิศาร บอกว่า จะเริ่มทำความหวานอย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบในรอบการผลิตครั้งต่อไป ราวปลายปี 2565 โดยเริ่มเป็นขั้นตอน ทั้งใส่ปุ๋ยทางดินและพ่นทางใบ ภายใต้กรอบปฏิบัติตามแนวทาง GAP ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะสำเร็จตามเจตนารมณ์ได้บ้าง พร้อมกับให้รายละเอียดแนวทางการดูแลบำรุงต้นมะไฟกาว่า

คุณวิศาร และภรรยา

มะไฟกาเริ่มให้ผลผลิตราวเดือนสิงหาคม ต้องใส่ปุ๋ยทางดินในเดือนพฤษภาคม เป็นปุ๋ยคอกหมักจากมูลม้าที่เลี้ยงไว้ ใส่ต้นละ 5 กระสอบ ราวเดือนมิถุนายนจะเริ่มมีดอก หลังจาก 1 เดือน จึงใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ต้นละอย่างน้อย 3 กิโลกรัม โดยไม่ต้องรดน้ำ ส่วนปุ๋ยพ่นทางใบยังสรุปไม่ได้ว่าจะใช้อะไร ต้องปรึกษากับทางร้านขายปุ๋ยก่อน จากนั้นประมาณเดือนกรกฎาคมหรือก่อนเก็บผลผลิต 1 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเติมความหวาน สูตร 0-0-60 ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อต้น

ใบรับรอง GAP มะไฟกาของสวนคุณวิศาร

“ปุ๋ยหมักมูลม้า เป็นวิธีที่คิดนำมูลม้าที่เลี้ยงไว้จำนวนกว่า 10 ตัว โดยใช้ขี้เลื่อยรองพื้นคอกม้า เมื่อม้าขับถ่ายทั้งมูลและฉี่ลงพื้นจะเก็บออกมาทุก 15 วัน เพื่อทำความสะอาดคอก จากนั้นตักขี้เลื่อยที่มีส่วนผสมของมูลและฉี่ไปหมัก ราดด้วย EM ทิ้งไว้แล้วหมั่นกลับกองเป็นระยะจะทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใส่ต้นมะไฟกา เหตุผลการใช้ปุ๋ยหมักมูลม้าเนื่องจากต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงิน และเห็นว่าคุณสมบัติของมูลม้าไม่แตกต่างจากมูลสัตว์ชนิดอื่น”

มะไฟกาให้ผลผลิตพร้อมกันในเดือนสิงหาคม ปริมาณผลผลิตต่อต้นประมาณ 150 กิโลกรัม ใช้เวลาเก็บรวม 2 เดือน วิธีเก็บแต่เดิมใช้มือดึง แต่มองว่าไม่ถูกต้องเพราะทำความเสียหายต่อตาต้นมะไฟ แล้วอาจส่งผลต่อการให้ผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์ในรอบต่อไป ดังนั้น จึงต้องหาอุปกรณ์มาตัด แล้วควรตัดแบบพิถีพิถัน ประณีต เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของต้นด้วย

เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรมาเยี่ยมแปลงปลูก

คุณวิศารกล่าวในตอนท้ายว่า หากแนวทางนี้ทำสำเร็จได้จริง คงมีโอกาสถ่ายทอดให้กับชาวบ้านที่มีมะไฟกาปลูกอยู่ผ่านสำนักงานเกษตรในพื้นที่เพื่อให้พวกเขานำไปทำ แล้วจะเพิ่มคุณภาพช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่วางขายเพียงกิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท แล้วต่อไปในอนาคตอาจนำไปใช้เป็นผลไม้มงคล (มีสีแดง) หรือถ้ามองไปไกลในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบการแปรรูปก็อาจเป็นได้

สอบถามรายละเอียดติดต่อคุณวิศาร บรมธนรัตน์ เลขที่ 349 หมู่ที่ 3 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 089-871-3110

สีผลกำลังเปลี่ยนเป็นสีแดง

แม้ความคิดของคุณวิศารจะยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ชายผู้มีฐานะคนสมุยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่ต้องการปรับรสชาติของมะไฟกาให้มีความหวานเพิ่มเข้ามาร่วมกับรสเปรี้ยว ดังนั้น แนวทางนี้อาจอยู่ระหว่างการทดลองผิด-ถูก ซึ่งจะต้องปรับแก้ไขในเรื่องปุ๋ยให้เหมาะสมทั้งปริมาณและช่วงเวลาเพื่อให้สอดคล้องจนประสบความสำเร็จตามที่หวัง และเมื่อถึงวันนั้น นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน คงมีโอกาสนำเสนอความคืบหน้าให้ทราบกันอีกครั้ง

ขอบคุณ : สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุย