มฟล. แนะเทคนิคปลูกขมิ้นชันปลอดโรค ให้ได้สารสำคัญสูง ป้อนอุตสาหกรรมยา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป

การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติครั้งล่าสุด มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จากผลงาน “การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกขมิ้นชันปลอดโรค และสารสำคัญสูงด้วยระบบ Substrate Culture” เจ้าของผลงานคือ ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

เทคโนโลยีการปลูกขมิ้นชันปลอดโรค

เนื่องจากขมิ้นชันเป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยที่มีการใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน หลากหลายรูปแบบทั้งเป็นส่วนประกอบในอาหาร ยารักษาโรค และความงาม ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการสนับสนุนโครงการบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SME ให้สามารถผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมาตรฐานระดับสากล และสร้างรายได้เพิ่มจากการผลิตวัตถุดิบสมุนไพร

ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดเชียงราย ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการปลูกขมิ้นชันปลอดโรคและให้สารสำคัญสูงในระบบ substrate culture ภายใต้โรงเรือน ต่อการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิต และปริมาณสารสำคัญของขมิ้นชัน

ผลการศึกษาพบว่า ขมิ้นชันสายพันธุ์ตรัง 84-2 ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและนำมาปลูกในวัสดุทดแทนดินคือ กาบมะพร้าวสับและจัดการธาตุอาหารให้เหมาะสม ทำให้ได้ต้นกล้าพันธุ์ที่ปลอดโรคปราศจากโรคพืช (โรครากเน่า) และให้ปริมาณสารสำคัญที่สูง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกดังกล่าว รวมถึงการประยุกต์ใช้ AI Platform ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อปลูกและควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกขมิ้นชันคุณภาพสูง ตามความต้องการของตลาดได้

ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร

การบ่มเพาะหัวพันธุ์       

นักวิจัยได้นำเหง้าของหัวพันธุ์ต้นแบบมาบ่มกับขุยมะพร้าวที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ได้หน่ออ่อนที่มีการแตกยอดใหม่จากต้นแม่พันธุ์โดยตรง สำหรับการนำไปขยายพันธุ์แบบปลอดโรคในห้องทดลองด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

 ขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

การขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue Culture) เป็นการขยายพันธุ์พืชปลอดโรคที่สามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่จำกัด โดยพืชที่ได้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนเดิมกับต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ซึ่งเทคนิคนี้สามารถขยายพันธุ์พืชได้ตลอดทั้งปี ช่วยลดการกลายพันธุ์และรักษาคุณภาพที่ดีของพันธุ์พืชไว้ได้อีกด้วย

บู๊ธนิทรรศการผลงานวิจัยของ มฟล. ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

การนำต้นกล้าหัวพันธุ์ลงปลูกในแปลงซับสเตรต

การนำต้นกล้าหัวพันธุ์ลงปลูกในโรงเรือนระบบซับสเตรต เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการปลูกลงดินเพื่อให้ได้หัวพันธุ์ที่แข็งแรงและปลอดโรค ซึ่งการปลูกด้วยระบบซับสเตรตคือ การปลูกพืชกับวัสดุที่ไม่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพืชที่มาจากดินได้ โดยหลังจากการอนุบาลต้นเนื้อเยื่อในถาดหลุมเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว จากนั้นจึงทำการย้ายลงปลูกในแปลงซับสเตรตโดยใช้เวลาอีกประมาณ 8 เดือน ก่อนจะสามารถนำหัวพันธุ์ย้ายลงปลูกในดินได้ หรือสามารถปลูกในระบบซับสเตรตต่อไปอีก 8 เดือนจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อป้องกันการเกิดโรคตลอดการปลูก ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มที่

ผศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ กับการอนุบาลต้นขมิ้นชัน

การปลูกขมิ้นชันในดิน

การปลูกขมิ้นชันในประเทศไทย เริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกๆ ปี และเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท ต้นขมิ้นชันสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมควรเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดีและน้ำไม่ท่วมขัง

การเตรียมหัวพันธุ์ขมิ้นชันที่ใช้ปลูกมี 2 ลักษณะ คือ หัวแม่หรือหัวมีลักษณะกลมหนา และแง่งนิ้วที่มีลักษณะเรียวยาว การปลูกโดยใช้หัวแม่ น้ำหนักประมาณ 15-50 กรัม ใช้ 1 หัวต่อหลุม หากหัวพันธุ์มีขนาดใหญ่มาก ควรตัดเป็นท่อนๆ มีตาติดอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ตา การปลูกโดยใช้แง่ง น้ำหนักประมาณ 10 กรัม และมีตา 2-3 ตาต่อแง่ง ใช้ 2-3 แง่งต่อหลุม

วิธีการปลูกขมิ้นชันควรปลูกต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อให้ระยะการรับน้ำฝนอย่างน้อย 4-5 เดือน ขมิ้นชันจะได้มีช่วงระยะการเจริญเติบโตและพัฒนาได้เต็มที่ตลอดฤดูฝน โดยวางหัวพันธุ์ในหลุมปลูก กลบดินหนา 5-10 เซนติเมตร หลังจากนั้น ขมิ้นชันจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30-70 วันหลังปลูก หรือนำหัวพันธุ์ไปเพาะก่อนนำไปปลูก โดยไปผึ่งในที่ร่ม คลุมด้วยปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วนานประมาณ 30 วัน หัวพันธุ์จะแตกหน่อขึ้นมา จึงนำไปปลูกในแปลง

การขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การเตรียมพื้นที่ปลูกขมิ้นชัน

1. ขุดหรือไถพรวนอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุยขึ้น หากเป็นพื้นที่ที่หน้าดินแข็งหรือเป็นดินเก่า ควรไถพรวนไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง

2. ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ เพื่อทำลายเชื้อโรคและไล่แมลงในดินและเก็บเศษไม้ ซากวัชพืช กรวด หิน ออกจากแปลงให้หมด

3. เพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดี อัตรา 4 ตันต่อไร่ และหากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน

4. ไม่ต้องยกร่องในกรณีที่พื้นที่ปลูกมีการระบายน้ำดี การยกร่องเหมาะกับพื้นที่ปลูกที่มีสภาพเป็นที่ลุ่มหรือที่ราบต่ำ มีการระบายน้ำไม่ดี โดยยกร่องแปลงกว้าง 1-2 เมตร สูง 15-25 เซนติเมตร ความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ระยะระหว่างร่อง 50-80 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา

ต้นพันธุ์ขมิ้นชันปลอดโรค

การกำหนดระยะปลูก

ควรปลูกในระยะ 35×50 เซนติเมตร ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ หากปลูกขมิ้นชันเป็นพืชแชม ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกลึก 10-15 เซนติเมตร หากไม่ได้ใส่ปุ๋ยคอกในขั้นตอนการเตรียมดิน ควรรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก หลุมละ 300 กรัม

 การพรางแสง

ควรคลุมแปลงในกรณีน้ำน้อยหรือฝนทิ้งช่วง โดยใช้ฟางข้าวหรือใบหญ้าคา หากปลูกต้นฤดูฝนและฝนไม่ทิ้งช่วงก็ไม่มีความจำเป็นต้องคลุมแปลง

 การให้น้ำ

หากปลูกในฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงขณะที่ขมิ้นชันมีขนาดเล็ก ควรให้น้ำเพื่อไม่ให้เกิดอาการเหี่ยวเฉา ในระยะแรกของการเจริญเติบโต ควรให้น้ำสม่ำเสมอ และให้น้ำน้อยลงในระยะหัวเริ่มแก่ และงดให้น้ำในฤดูระยะเก็บเกี่ยว หากมีน้ำท่วมขังในแปลงเป็นเวลานานๆ ขมิ้นชันจะเน่าตาย ควรรีบระบายน้ำออกทันทีที่พบว่าน้ำท่วมขัง

ขมิ้นชันคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมยา

การเก็บเกี่ยวขมิ้นชัน

หลังจากปลูกขมิ้นชันเมื่อช่วงต้นฤดูฝนจนย่างเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณปลายเดือนธันวาคม ลำต้นเหนือดินจะเริ่มมีอาการเหี่ยวแห้ง จนกระทั่งแห้งสนิทจึงเริ่มทำการเก็บเกี่ยว โดยอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ ต้นขมิ้นชันมีอายุ 9-11 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ได้สารสำคัญสูง ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ แต่ในบางพื้นที่ เกษตรกรจะปลูกขมิ้น 2 ปี และจะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งของปีถัดไป เนื่องจากน้ำหนักที่ได้จะเพิ่มขึ้นจากขมิ้น 1 ปี ไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันขมิ้นชัน

วิธีการเก็บเกี่ยว ใช้จอบขุดหรือถอนขึ้นมาทั้งกอ ตัดแยกส่วนเหนือดินและเหง้าออก โดยปกติการใช้แรงงานคนขุด จะขุดได้เฉลี่ย 120 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เนื่องจากเป็นการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ดินจะมีสภาพแข็ง ควรรดน้ำพอให้ดินชื้น โดยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงทำการเก็บเกี่ยว

ข้อควรระวังในการเก็บเกี่ยวคือ ต้องเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ผลผลิตเป็นแผลหรือฉีกขาด เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรค ไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝน เพื่อป้องกันโรคเชื้อรา การทำความสะอาดหลังการเก็บเกี่ยว โดยล้างขมิ้นชันเพื่อเอาดินออก โดยเปิดน้ำให้ไหลผ่าน ใช้มือหรือแปรงขัดผิวขมิ้นชันให้สะอาด ตัดแต่งเอารากหรือส่วนของหัวที่เสียทิ้ง ไม่ควรให้มีส่วนของต้นหรือดินติดปนไปกับหัว ผึ่งขมิ้นชันในตะกร้าหรือเข่งให้สะเด็ดน้ำ ผึ่งให้แห้งและนำบรรจุในถุงกระสอบ

มฟล. นำขมิ้นชันไปแปรรูปเป็นยาแคปซูลขมิ้นชัน ตราเจ้าคุณวัน

ทั้งนี้ ควรคัดแยกผลผลิตแยกตามวัตถุประสงค์ดังนี้ หัวขมิ้นที่จะเก็บไว้ใช้ทำพันธุ์ในฤดูต่อไป ควรผึ่งไว้ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ส่วนหัวขมิ้นที่จะขายเป็นขมิ้นสด บรรจุในกระสอบป่านหรือถุงตาข่ายแล้วนำไปส่งขายที่ตลาด ส่วนหัวขมิ้นที่แปรรูปเบื้องต้นคือ ขมิ้นชันแห้ง ขมิ้นชันบดผง และน้ำมันขมิ้นชัน