กรมชลฯ เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน พร้อมจ้างงานเกษตรกร 7.5 หมื่นคน สร้างรายได้สูงสุดรายละ 8.7 หมื่นบาท

กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามงบประมาณ ปี 65 มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน พร้อมจ้างงานเกษตรกร 7.5 หมื่นคน สร้างรายได้สูงสุด 8.7 หมื่นบาท/ราย

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2565 กรมชลประทานได้รับจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 70,135.62 ล้านบาท เพื่อดําเนินงานก่อสร้าง งานปรับปรุง/ซ่อมแซม โครงการศึกษาสํารวจออกแบบ และอื่นๆ เช่น งานขุดลอก งานเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น จํานวน 9,554 รายการ ในจำนวนนี้มีโครงการดําเนินงานก่อสร้างด้านพัฒนาแหล่งน้ำ จํานวน 502 รายการ ภายใต้งบประมาณ 28,419.97 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสิ้น 1,506,548 ไร่ ปริมาตรเก็บกักน้ำจํานวน 1,092.19 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ทั้งนี้ ปี 2565 โครงการในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จมีจำนวน 234 รายการภายใต้งบประมาณ 8,470.54 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานจํานวน 162,400 ไร่  เพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำจํานวน 140.86 ล้านลูกบาศก์เมตร มีครัวเรือนรับประโยชน์จํานวน 57,986 ครัวเรือน ด้านงานก่อสร้างมุ่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีจํานวน 141 รายการภายใต้งบประมาณ 5,269.58 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จ เพิ่มพื้นที่ชลประทานจํานวน 162,400 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 32,755 ครัวเรือน และงานก่อสร้างที่สามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกัก 93 รายการภายใต้งบประมาณ 3,200.96 ล้านบาท เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มปริมาตรเก็บกักน้ำ จํานวน 140.86 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ จํานวน 25,231 ครัวเรือน

นายประพิศ กล่าวต่อว่า กรมชลประทาน ได้ขานรับนโยบาย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ในช่วงฤดูแล้ง จึงดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานภายใต้งบประมาณ 4,465 ล้านบาท เป้าหมายการจ้างแรงงานเกษตรกรจำนวน 75,000 คน ระยะเวลาการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-10 เดือน วงเงินจ้างแรงงานเฉลี่ย 8,700-87,000 บาท/คน โดยรายละเอียดการจ้างงาน เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ

เขื่อนแควน้อยฯ จ.พิษณุโลก

ปัจจุบันจ้างแรงงานเกษตรกรแล้ว 22,120 คน หรือประมาณ 30% ของเป้าหมายการจ้างแรงงานเกษตรกร โครงการจ้างแรงงานชลประทานจังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ คือ 1. จังหวัดเชียงใหม่ 2,303 คน 2. จังหวัดกาฬสินธุ์ 1,872 คน และ 3. จังหวัดเพชรบุรี 1,730 คน

สำหรับเกณฑ์การจ้างแรงงานพิจารณาจาก 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1. เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่ 2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ 3. ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไป 4. หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2565 กรมชลประทาน มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 606,416 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 377,615 ครัวเรือน รวมถึงการร่วมบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบูรณาการเชิงพื้นที่กับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาด้านทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ การบูรณาการงานโครงการที่ต้องทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีการกำหนดโครงการได้อย่างชัดเจน ตลอดจนการบูรณาการเชิงนโยบาย เพื่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย คุณภาพน้ำ พื้นที่เศรษฐกิจ และเศรษฐกิจแปลงใหญ่ เป็นต้น