เตือน ปชช. หลีกเลี่ยงลุยที่น้ำท่วมขังช่วงหน้าฝน เสี่ยงป่วยไข้ฉี่หนู พบปีนี้ตายแล้ว 20 ราย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝนตกเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่ผ่านมา ในช่วงนี้บางพื้นที่น้ำเริ่มลดลงแล้ว โรคที่ประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือโรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เนื่องจากเชื้อชนิดนี้จะถูกขับออกมากับฉี่หนู และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในน้ำหรือที่ชื้นแฉะ ทำให้เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่อยู่ในน้ำนานจนอ่อนนุ่ม และสามารถติดเชื้อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนู
“จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู ในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 พฤษภาคม 2560 พบผู้ป่วย 760 ราย เสียชีวิต 20 ราย ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตอยู่ในภาคใต้ถึง 13 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นครศรีธรรมราช กระบี่ ศรีสะเกษ ตรัง และพัทลุง  ปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 2,295 ราย และเสียชีวิต 36 ราย ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) เป็นอาชีพเกษตรกร รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง” นพ.เจษฏา กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า อาการของโรคไข้ฉี่หนู คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณน่อง โคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตัวเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้การรักษาให้หายเป็นปกติได้ง่าย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งเชื้อเข้าไปสู่อวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ตับ ไต อาจมีอาการตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิต การป้องกันโรคถ้ามีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วนให้ปิดแผล และหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือพื้นที่ชื้นแฉะ หรือแช่ลงในห้วย หนอง คลอง บึง รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยทันที หากแช่น้ำหรือลงไปย่ำในน้ำ เก็บหรือปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงใหม่ๆ ด้วยความร้อน รีบล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังการจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะในช่วงน้ำลด ดังนี้ 1.ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะนานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องเดินลุยควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง 2.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง 3.หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล 4.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน และ 5.การเข้าบ้านหลังน้ำลด ต้องกำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด ปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิดโดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา มติชนออนไลน์