สศท.3 โชว์เกษตรกรต้นแบบ จังหวัดเลย เลี้ยงจิ้งหรีดประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ดี

คุณปวริศา ศิริกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ พร้อมยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้น และตลาดมีแนวโน้มความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกและอาหารแห่งอนาคต ด้วยคุณสมบัติการเป็น superfood ที่มีจุดเด่นในการเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากการลงพื้นที่ของ สศท.3 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดเลยพบว่า มีเกษตรกรผู้เลี้ยงรวม 56 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) พื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอปากชม ซึ่งจากการสัมภาษณ์เกษตรต้นแบบ คือ คุณพิมพ์พิศา มูลหล้า ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงจิ้งหรีดและได้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลจอมศรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ การผลิต รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงแบบลดต้นทุนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ปัจจุบันมีเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามาศึกษาดูงานประมาณปีละ 200 ราย ซึ่งคุณพิมพ์พิศา บอกว่า ตนเองได้เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาประมาณ 5 ปี เริ่มจากการทดลองเลี้ยงในกะละมังแล้วเห็นผลสำเร็จ ประกอบกับตลาดมีความต้องการสูง ขายได้ง่ายจึงได้ขยายพื้นที่ในการเลี้ยงโดยเปลี่ยนเป็นเลี้ยงในกล่องสมาร์ทบอร์ด (ขนาด 1.2 x 2.4 เมตร) จำนวน 10 กล่อง และเตรียมขยายเพิ่ม 120 กล่อง รวมถึงได้มีการก่อสร้างโรงเรือนแล้ว คาดว่าจะเสร็จและพร้อมเลี้ยงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปัจจุบัน ได้ทำการเลี้ยงจิ้งหรีด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดำ พันธุ์ทองแดง และพันธุ์ขาว (แมงสะดิ้ง) เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ได้ผลตอบแทนเร็ว ซึ่งพันธุ์ทองดำและพันธุ์ทองแดง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 32-40 วัน/รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ถึง 6 รุ่น ส่วนพันธุ์ขาว (แมงสะดิ้ง) เป็นพันธุ์ที่โตช้ากว่าและมีขนาดเล็กกว่าจิ้งหรีดทั่วไป แต่จะมีรสชาติดี มีความมัน และมีปริมาณไข่มากกว่า ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 60 วัน/รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 5 รุ่น

สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดในปัจจุบัน เกษตรกรจะใช้รำละเอียดผสมกับอาหารหมูรวมแบบฝุ่นเป็นอาหารเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,794 บาท/กล่อง หรือ 90 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจึงมีแนวคิดลดต้นทุนการผลิต โดยปรับเปลี่ยนอาหารหมูรวมแบบฝุ่นมาใช้หนอนแมลงวันลาย (หนอนโปรตีน) เป็นอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดแทน ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลงร้อยละ 21 ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,426 บาท/กล่อง หรือ 71 บาท/กิโลกรัม โดยเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการขายแบบปลีกอยู่ที่ 109 บาท/กิโลกรัม หรือมีกำไรปีละ 654 บาท/กิโลกรัม และขายแบบส่งอยู่ที่ 49 บาท/กิโลกรัม หรือมีกำไรปีละ 294 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจากการลดต้นทุนสามารถเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกรได้ร้อยละ 26

นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำมูลของหนอนโปรตีนมาบำรุงดินและสร้างรายได้เพิ่มโดยขายมูลของหนอนโปรตีนในราคา 30 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ด้านตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงในพื้นที่ และอีกร้อยละ 30 จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางโดยเข้ามารับซื้อถึงฟาร์ม สำหรับการจำหน่ายจิ้งหรีด ซึ่งเกษตรกรจะเน้นจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ แบบตัวสด ร้อยละ 65 และแบบแปรรูป (ทอด) ร้อยละ 35 ในส่วนของราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 ราคาขายปลีก 180 บาท/กิโลกรัม และราคาขายส่ง 120 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาวจิ้งหรีดออกสู่ตลาดลดลงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จิ้งหรีดนับเป็นแมลงเศรษฐกิจและแหล่งอาหารในอนาคตของโลก โดยการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรผู้สนใจที่ต้องการทำอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักเพื่อเพิ่มรายได้ อีกทั้งการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ใช้ระยะเวลาในการดูแลต่อวันน้อย ได้ผลตอบแทนเร็ว ไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมี เกษตรกรหรือท่านใดสนใจเข้าศึกษา ดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีดของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลจอมศรี สามารถติดต่อได้ที่ คุณพิมพ์พิศา มูลหล้า หมู่ที่ 2 ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โทร. 062-173-1811 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน

 

ตารางต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร

 

อาหาร
เลี้ยงจิ้งหรีด
ต้นทุน
(บาท/กก.)
ผลผลิต

(กก./กล่อง)

ราคา ณ เดือน พฤศจิกายน 2564
(บาท/กก.)
ผลตอบแทนสุทธิ
(บาท/กก.)
กำไรต่อปี
(บาท/กก./ปี)
ปลีก ส่ง ปลีก ส่ง ปลีก ส่ง
แบบเดิม (รำ+หมูฝุ่น) 90 20 180 120 90 30 540 180
เทคนิคใหม่ (รำ+หนอนโปรตีน) 71 20 180 120 109 49 654 294

     ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี

 

ภาพประกอบ ไม่มีบรรยาย                                 1-5