นักวิจัยพบบึ้งสกุลใหม่ของโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.ดร.ดรุณี โชดิษฐยางกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. พร้อมด้วย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มข. พร้อมด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ มก. และ นายทรงธรรม สิปปวัฒน์ หรือ โจโฉ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบบึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก “Taksinus bambus” หรือ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ซึ่งคณะนักวิจัยร่วม มข. และ มก. รวมทั้งนักวิชาการอิสระและคณะทำงานได้ทำการสำรวจและเป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของทวีปเอเชียในรอบ 104 ปี และยังเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบบึ้งสกุลใหม่จากประเทศไทยโดยถูกค้นพบที่จังหวัดตาก

ดร.นรินทร์ กล่าวว่า บึ้งชนิดนี้มีลักษณะนิเวศวิทยาด้วยการดำรงชีวิตอยู่ในเฉพาะต้นไผ่ มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและความชันของส่วนปลายน้อยกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบมาทั้งหมด รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น และเป็นบึ้งชนิดแรกของโลกที่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ภายในปล้องของต้นไผ่เท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย และการค้นพบนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. 2460 และนับได้ว่าเป็นบึ้งสกุลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกค้นพบและวิจัยโดยคนไทย อีกทั้งยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022 วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียง และล่าสุดเป็นเรื่องที่น่ายินดีได้มีโอกาสพบบึ้งภายในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้ตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “บึ้งดำ มข.” ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นบึ้งชนิดใหม่ของโลกเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยของคณะทำงานร่วมทุกฝ่าย