นศ.วิศวกรรมฯ ม.แม่โจ้ “ประยุกต์อุปกรณ์ IOT ทางการเกษตร สร้างสูตรพยากรณ์วันเก็บเกี่ยวหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิ” ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ได้รับ 3 รางวัล การแข่งขันทักษะวิศวกรรมเกษตรระดับประเทศ ปี 2565

“หญ้าพลังงานสุวรรณภูมิ” เป็นหญ้าพันธุ์ใหม่ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มาจาก “หญ้าเนเปียร์” ซึ่งนอกจากจะเป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังจัดอยู่ในกลุ่มพืชให้พลังงานที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย และขณะนี้กำลังเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกร แต่ตัวแปรสำคัญในการนำพืชตัวนี้ให้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ประสิทธิภาพพลังงานสูงสุด นั่นคือ ต้องเก็บเกี่ยวในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วย นางสาววรัมพร ใจหมั้น, นางสาวศิริญญา บุญรอด, นางสาวจันทนิภา ชัยธีรเดช, นายทัตเทพ    ไพรพฤกษ์ และ นายภูทกฤต เชื้อประดิษฐ์ โดยมี ผศ.ดร. โชติพงศ์ กาญจนประโชติ, ผศ.ดร. ปารวี กาญจนประโชติ และ รศ.ดร. สุเนตร สืบค้า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้ทำโครงการศึกษาวิจัยโดยประยุกต์ใช้อุปกรณ์ IOT เซ็นเซอร์ทางการเกษตรสำหรับการเพาะปลูกหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิแบบแม่นยำ และการพัฒนาสมการพยากรณ์วันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ด้วยเทคนิคผลรวมอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ย (Heat Sum) ทำให้ได้สมการพยากรณ์วันเก็บเกี่ยวที่แม่นยำ ได้ผลผลิตเพิ่ม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น  

 

ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่

– รางวัลชนะเลิศ ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ 

– รางวัลชนะเลิศ ด้านการนำเสนอ

– รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านความคิดสร้างสรรค์ จากการแข่งขันทักษะวิศวกรรมเกษตร ระดับประเทศ ในงานประชุมวิชาการโครงงานวิศวกรรมเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย TSAE-Thai Society of Agricultural Engineering เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

นายภูทกฤต เชื้อประดิษฐ์ นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า “การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ IOT เซ็นเซอร์ทางการเกษตรสำหรับการเพาะปลูกหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิแบบแม่นยำ และการพัฒนาสมการพยากรณ์วันเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ด้วยเทคนิคผลรวมอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ย (Heat sum) คือการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ สำหรับการทำนายวันเก็บเกี่ยวหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิ โดยการนำระบบ IOT ติดตั้งค่าวัดความชื้นในแปลงปลูก ตรวจวัดอุณหภูมิอากาศในแปลงปลูก โดยระบบจะทำการบันทึกอุณหภูมิทุก 1 ชั่วโมง และทำการบันทึกค่าอุณหภูมิสะสม บนระบบฐานข้อมูล (Cloud server) และประมวลผล เพื่อนำค่าผลรวมอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ยสะสมไปพยากรณ์วันเกี่ยวหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิอย่างแม่นยำ

จากการทดลองนี้พบว่า อายุการเก็บเกี่ยวหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือค่าผลรวมอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ยสะสม 3,436 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นค่าผลรวมอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยวและได้สมการทำนายวันเก็บเกี่ยวหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิที่เหมาะสม คือ x = (∑TAV(@3,436)+ 223.01)/27.939”

 

ด้าน ผศ.ดร. โชติพงศ์ กาญจนประโชติ อาจารย์ที่ปรึกษา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนและพื้นที่ทำการวิจัย จาก บริษัท กรีน ลิฟวิ่ง เพาเวอร์ จำกัด และ คณะ  สัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำหรับหญ้าพลังงานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเป็นพืชทางเลือกพืชไร่ ที่ปลูกได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ จัดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการนำมาใช้ผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้เกษตรกรคำนวณวันเก็บเกี่ยวหญ้าในช่วงวัน เวลา ที่หญ้ามีการสะสมปริมาณคาร์โบไฮเดรต หรือธาตุอาหารที่เราต้องการมากที่สุด นั่นหมายถึงเมื่อนำไปแปรรูปก็จะได้ค่าพลังงานเยอะที่สุด คุ้มที่สุด และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น แนวความคิดในการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ IOT เซ็นเซอร์ทางการเกษตรสำหรับการเพาะปลูก ยังสามารถนำไปพัฒนาสมการพยากรณ์วันเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย

ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร และเตรียมขยายผลเผยแพร่องค์  ความรู้ให้กับเกษตรกรต่อไป”