เทคนิคสกลนคร เปิดตัววิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสาน

default

นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ร่วมกันเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นปีที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ ที่เปิดรับเงินบริจาคผ่านกองทุนฯ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ

วิทยาลัยเทคนิคสกลนครถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 3 ของประเทศ ที่เริ่มโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นนี้

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา กองทุนแสงอาทิตย์ได้ชะลอการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของวิทยาลัยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การบริจาคของประชาชนยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้กองทุนแสงอาทิตย์สามารถระดมเงินทุนเพื่อเดินหน้าพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของวิทยาลัยได้อย่างน้อย 5 แห่งจากเป้าหมายทั้งหมด 7 แห่งนำร่องทั่วประเทศ ยอดบริจาคในปัจจุบันอยู่ที่ 706,582.19 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2565) จากเป้าหมายรวม 1,600,000 บาท เพื่อดำเนินการติดตั้ง โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (Solar Generation) ระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีกาลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท และในปีนี้เรายังคงเดินหน้าโครงการเฟสที่ 2 คือ “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์” (Solar Generation) ในวันนี้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยเทคนิคสกลนครได้สาเร็จแล้ว

วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักเรียน นักศึกษาสายอาชีพราว 5,600 คน ในด้านวิชาชีพตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. คือ กลุ่มวิชาอุตสาหกรรม กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม และระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยเทคนิคสกลนครมีการพัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับนักเรียนเช่นกัน การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

นายประดิษฐ์ ญาณประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคสกลนครมีนักเรียนจำนวนกว่า 5,000 คน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2562-2564 ส่งผลให้วิทยาลัยต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าราวปีละ 4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละราว 3 แสนกว่าบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้าของกลุ่มวิชาอุตสาหกรรมที่มีการทดลอง คิดค้นและประดิษฐ์งานจริงตลอดหลักสูตร ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัย และสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในวิทยาลัย และสิ่งสาคัญคือ การเริ่มต้นติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ เป็นการติดตั้งที่สถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดสกลนคร ซึ่งสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียนและจะจบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสในการสร้างอาชีพจากการลงทุนหรือทำงานติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย

นายธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการจ้างงานโซลาร์เซลล์ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถือเป็นการมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และหยุดยั้งหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้ว พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นรากฐานของความยั่งยืนสำหรับอนาคตของพวกเราทุกคน