ข้าวโพดหวาน ให้ระวังเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาด

ปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพแวดล้อม

ในช่วงที่มีอากาศร้อน และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานให้ติดตามเฝ้าระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนข้าวโพด สามารถพบได้ในระยะที่ต้นข้าวโพดหวานออกดอกไปจนถึงระยะติดฝัก เริ่มแรกจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของใบและช่อดอกตัวผู้ หากที่ช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก จะส่งผลทำให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อย และส่งผลให้เมล็ดแก่เร็วทั้งที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก

กรณีที่มีการระบาดมาก จะพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดชนิดมีปีกบินมาจากแปลงปลูกใกล้เคียง ตั้งแต่ต้นข้าวโพดอายุประมาณ 15 วัน จากนั้นภายในแปลงปลูกอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดออกลูกเป็นตัวอ่อนรวมกันเป็นกลุ่ม และกระจายดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ ลำต้น และกาบหุ้มฝัก โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบล่าง ต่อมาจะแพร่ขยายจากใบล่างขึ้นมาบนใบ และขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดปริมาณสูงสุดในระยะที่ต้นข้าวโพดกำลังผสมเกสร ซึ่งจะพบมากที่บริเวณช่อดอก ทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง

สำหรับแนวทางในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนข้าวโพด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีการระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบตา-ไซฟลูทริน 2.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นเฉพาะจุดที่มีเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาดเท่านั้น

ส่วนในแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดเป็นประจำช่วงฤดูแล้ง หากเกษตรกรสำรวจพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาดแพร่กระจายจากใบล่างขึ้นมา และเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งแปลง เกษตรกรควรป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนข้าวโพดก่อนที่ต้นข้าวโพดหวานจะแทงช่อดอกตัวผู้ หรือก่อนดอกบาน เพราะจะให้ผลในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยอ่อนข้าวโพดได้ดี