“ไอ.ซี.ซี.” จับมือ “มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ” พัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดเพชรบุรี 3 พลังประสาน สู่ความสำเร็จยั่งยืน

“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น

ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้…ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้

ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้…แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

ข้างต้นคือพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 2539 สะท้อนถึงคุณค่าของน้ำต่อชีวิต ทั้งในแง่บริโภคและอุปโภค

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ จึงสนับสนุนงบประมาณรวม 3.14 ล้านบาท โดยร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) รวมถึงชาวบ้าน ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างแปลงเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ และสร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต

สระน้ำที่ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

พลิกฟื้นที่ดินแห้งแล้งหลายพันไร่ ขาดแคลนน้ำ ให้กลายเป็นที่ดินปลูกพืชผลนานาพันธุ์ มีแหล่งกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี มีผลผลิตคุณภาพส่งจำหน่าย สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จ อันแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

โอกาสที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ครบรอบ 10 ปี จึงจัดงาน “เทิด ด้วย ทำ ปี พ.ศ. 2565” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร่วมสรุปแนวทาง “โครงสร้างพื้นฐานสังคม และเศรษฐกิจใหม่บนหลักของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่” เยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และ ไอ.ซี.ซี. รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงพื้นที่

หอถังที่ช่วยกระจายน้ำสำหรับทำการเกษตร

ทั้ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ สสน. และกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ คุณอาสา สารสิน อดีตราชเลขาธิการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ ไอ.ซี.ซี. คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด คุณดำรัสสิริ ถิรังกูร ประธานบริหารไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี ฯลฯ

เรียนรู้ความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมเดินหน้าส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมยกเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบ ที่สามารถขยายผลความสำเร็จไปยังเกือบ 2,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และ คุณอาสา สารสิน ขณะลงพื้นที่

พลิกที่ร้าง สู่ที่รุ่ง

“เดิมพื้นที่นี้เป็นสนามกอล์ฟร้าง มีเนื้อที่ราว 3,565 ไร่ ซึ่งรัฐซื้อจากเอกชนมาจัดสรรที่ดิน โดยในปี 2552 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร 1,889 ราย และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้มีหนี้สินและไร้ที่ดินทำกินในพื้นที่เพชรน้ำหนึ่ง จำนวน 238 ครัวเรือน

“แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ค่อนข้างลาดเอียงและเป็นดินลูกรัง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ เกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถขายผลผลิตในราคาหรือปริมาณที่คาดไว้ได้ ต้องอยู่ในวังวนของภาระหนี้สิน” คุณกิตติกากนก คนซื่อ ชาวบ้านชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง กล่าวถึงสภาพพื้นที่ที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ

ดร.รอยล จิตรดอน และ คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา

กระทั่งปี 2557 ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ที่ลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งแนวทางการพัฒนาของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ คือ จัดการที่ดินและพื้นที่เกษตร จัดการน้ำ และจัดการกระบวนการผลิต โดยเป็นการจัดการทุกด้านที่จำเป็น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

ส่วนไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี ก็เข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งแปลงครัวเรือนและกลุ่ม เมื่อได้ผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็นำออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการเครือมติชน ขณะฟังผู้แทนชุมชนบรรยาย

จากผืนดินโรยรา เมื่อมีการปรับปรุงพัฒนา ก็ค่อยๆ ฟื้นคืนชีวิต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกฝ่ายที่ร่วมกันดูแล

“ตลอดระยะเวลาการพัฒนา พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์แล้วประมาณ 1,300 ไร่ หรือร้อยละ 36.4 ของพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด เกิดประโยชน์กับสมาชิก 238 ครัวเรือนอย่างมาก ส่วนปีนี้ เรามีเป้าหมายในการพัฒนาระบบกระจายน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม ประมาณ 130 ไร่ เพื่อขยายความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ต่อไป” คุณกิตติกากนก เผย

ผลิตภัณฑ์การเกษตรของชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง

หนุนพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งชุมชน

ภาพสระน้ำขนาดใหญ่หลายสระ พร้อมลำรางเชื่อมต่อถึงสระอื่นในพื้นที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง และหอเก็บน้ำต่างระดับ คือตัวอย่างบางส่วนของความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่างชาวบ้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และการสนับสนุนอย่างแข็งขันของภาคเอกชนอย่าง ไอ.ซี.ซี.

“การได้มาร่วมงานวันนี้ ทำให้ทราบว่างานนี้มีเอกชนหรือองค์กรเข้ามาช่วยมากพอสมควร สำหรับผม การมาช่วยที่นี่เกิดจากท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ได้เอ่ยถึงโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำขึ้นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สามารถดูแลน้ำ ดูแลพืช ดูแลการเกษตร ให้เกษตรกรสามารถพยุงตัวและมีรายได้ที่เหมาะสม จึงมอบหมายให้ คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ (กรรมการของ ไอ.ซี.ซี.) ช่วยประสานงานกับ ดร.สุเมธ เพื่อดำเนินการ” คุณบุญเกียรติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

ความร่วมมือระหว่างเครือสหพัฒน์กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ย้อนไปได้ในปี 2560 ที่บริษัทในเครือสหพัฒน์ ร่วมจัดแฟชั่นกาล่าดินเนอร์การกุศล ร่วมกับมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา และนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจากงานนี้ จำนวน 3,325,999 บาท สนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ และยังคงสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน

ส่วนการช่วยเหลือชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง เกิดขึ้นในปี 2561 เมื่อ ไอ.ซี.ซี. ออกคอลเล็กชั่นพิเศษ WBG (White Black Gold) และร่วมกับ มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา และบริษัทในเครือสหพัฒน์ นำรายได้ส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นนี้ จำนวน 2,000,000 บาท สนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่ อาทิ งานขุดลอกคลองส่งน้ำระยะทาง 1.720 กิโลเมตร พร้อมท่อลอด อาคารบังคับน้ำ รางรับน้ำและผนังยกระดับน้ำ รวมถึงงานแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ พื้นที่ 34 ไร่

“สระ 10 มีพื้นที่ราว 17 ไร่ รับน้ำในหน้าฝนจากเทือกเขาที่ตั้งโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ในอำเภอท่ายาง มีลำรางเชื่อมไปสระ 9 และเชื่อมต่อไปสระอื่นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีฝน น้ำก็จะไหลเต็มทุกสระ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี ต้นไม้รอบๆ ก็เขียวชอุ่ม” คุณอภิชัย ชาติเอกชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนสหพันธ์เกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น

จากนั้นปี 2562 ไอ.ซี.ซี. ได้สนับสนุนงบประมาณ 700,000 บาท ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และชุมชน สร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต ส่งตรงผลิตภัณฑ์การเกษตรสดใหม่จากไร่ ทั้ง ผักชี คะน้าฮ่องกง มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปราะ ตะไคร้ ผักบุ้งจีน พริกขี้หนู ฯลฯ ในชื่อ “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” ที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพแล้วอย่างดี จำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่ร้านค้ามูลนิธิชัยพัฒนา 1 สาขา และร้านโกลเด้น เพลซ 15 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 12 สาขา หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 สาขา และ จังหวัดเพชรบุรี 1 สาขา

ปีที่ผ่านมา ไอ.ซี.ซี. ยังช่วยเหลือชุมชน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 440,000 บาท ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สร้างหอเก็บน้ำต่างระดับกว่า 10 หอ เพื่อนำน้ำจากสระขนาด 23 ไร่ กระจายแจกจ่ายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกกว่า 500 ไร่

“พอมาถึงจุดนี้ได้ จะเป็นประโยชน์ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มาก หวังว่าจะได้มีโอกาสสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะครอบคลุมเกือบทั้งประเทศได้ บริษัทในเครือสหพัฒน์มีสาขาอยู่มากมายในประเทศไทย หวังว่าจะได้เป็นพี่เลี้ยงให้โครงการต่างๆ อีกได้มากพอสมควร ต้องขอขอบคุณ ดร.สุเมธ ที่จุดประกายให้ผมและทีมงานได้มีโอกาสเข้ามาทำโครงการนี้ รู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นการพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับชุมชน” ประธานกรรมการ ไอ.ซี.ซี. กล่าวอย่างภูมิใจ

“ชุมชน” คือหัวใจการพัฒนาประเทศ

หลังจากเยี่ยมชมจุดต่างๆ แล้ว ดร.สุเมธก็กล่าวว่า วันนี้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ภาคเอกชน และชุมชน ได้ร่วมกันดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จนปรากฏเป็นความสำเร็จ เป็น 3 ประสานที่ทรงพลังยิ่ง

“ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกัน “เทิด ด้วย ทำ” คือทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สานต่อพระราชปณิธานที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์ จึงจะเป็นการเดินตามรอยพระองค์อย่างแท้จริง”

ด้าน ดร.รอยล เผยว่า อยากขับเคลื่อนความสำเร็จของชุมชนเพชรน้ำหนึ่งให้เป็นโมเดลรูปแบบใหม่ ที่สามารถนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กว่า 1,800 หมู่บ้าน ที่ สสน. ดูแลอยู่ ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

“อย่าคิดว่า กทม. เป็นหัวใจของการผลักดันให้ประเทศพัฒนา เพราะที่จริงแล้วเป็นชุมชนต่างๆ ทั่วไทย ที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า” ดร.รอยล กล่าวหนักแน่น

ส่วนคุณอาสา ก็กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้มาชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง มีผลผลิตจำหน่าย ช่วยลดภาระหนี้สินและเพิ่มรายได้ในระยะยาว อยากชวนให้เอกชนอื่นๆ มาร่วมกันพัฒนา เพื่อสร้างชุมชนเช่นนี้ให้เกิดขึ้นทั่วไทย

เมื่อชุมชนแข็งแกร่ง ก็ช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน