ถอดความสำเร็จ “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” สร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” สู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) นับเป็นนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อาศัยหลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน ด้วยการขุดบ่อในบริเวณพื้นที่ที่มีจุดรวมของน้ำ น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก เป็นการกักเก็บน้ำให้ซึมลงไปในชั้นหิน ช่วยพักน้ำรวมไว้เหมือนกับธนาคาร เหมือนการเก็บออมและกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และอุ้มน้ำที่มีมากในยามน้ำหลากน้ำท่วม ถือเป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า “ธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นอีกหนึ่งโมเดลความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำ ที่เกิดจากแนวความคิดของกลุ่มเกษตรกรและซีพีเอฟ ที่ต้องการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม จากโจทย์สำคัญที่ต้องซื้อน้ำมาใช้ในกระบวนการเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในหมู่บ้าน และยังจำเป็นต่อการปลูกพืชที่เป็นอาชีพเสริม รวมถึงใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาหมู่บ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทุกคนจึงได้ระดมความคิด เสาะหาวิธีที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเลี้ยงสุกร ปลูกพืช ให้ได้ตลอดทั้งปี จึงเกิดเป็นแนวคิดการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ นำโดย หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา

ด้าน นายภักดี ไทยสยาม หรือ หมอตั้ม ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด เล่าว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน จากบ่อที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ทำเป็นรูปแบบนวัตกรรมทางธรรมชาติ จากหลักการการนำน้ำฝนลงไปเก็บไว้ที่ใต้ดิน จัดการน้ำที่ไหลอยู่บนผิวดินให้ลงไปเก็บไว้ใต้ดิน การเชื่อมโยงเป็นระบบเครือข่ายธนาคารน้ำ ร่วมกับแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ เป็นวิธีทำที่ง่าย ไม่ชับซ้อน ตามแบบฉบับ “การพึ่งตนเอง” นำความรู้พื้นฐานการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา สังคม ชุมชน ธรรมชาติ ทิศทางการไหลของน้ำ การหมุนของโลก ถอดเป็นบทเรียนและประยุกต์เป็น “ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ทั้งระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดและแบบปิด

“หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ได้ศึกษาดูงาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเชิญวิทยาการ จากสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ มาให้ความรู้กับเกษตรกร พร้อมวางแผนสำรวจตำแหน่งที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดินในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เก็บน้ำฝนไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ระบบธนาคารน้ำใต้ดินทั้งแบบเปิดและแบบปิด ทำให้เรามีน้ำใช้เพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 50,000 คิว มีน้ำใช้ในการเลี้ยงหมู โดยไม่ต้องซื้อน้ำใช้อีกเลย มีผลประหยัดค่าน้ำนี้ถึงปีละ 1,000,000 บาท ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ลดปัญหามลภาวะน้ำเน่าเสียในครัวเรือน เพิ่มสุขลักษณะของคนในชุมชน และพื้นดินมีความชุ่มชื้น ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมกันคิด ลงมือทำ และพัฒนาต่อเนื่องของเกษตรกรและทีมงานซีพีเอฟทุกคน” หมอตั้ม กล่าว

สำหรับระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด ด้วยระบบปิดคลองระบายน้ำไร้ท่อ ใช้แก้ไขปัญหาการระบายน้ำ น้ำเน่าเสียทั้งในครัวเรือนและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณไหล่ถนน ถนนไม่ทรุด ทำให้ถนนกว้างขึ้นประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น ลดการไหลบ่าของน้ำ โดยจัดทำในจุดพื้นที่น้ำขังและริมถนนในโครงการ วิธีนี้จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่เป็นวิธีการเก็บน้ำลงสู่ใต้ดิน ชาวชุมชนได้ร่วมด้วยช่วยกันขุดบ่อและรางระบายน้ำในชั้นดินอ่อน ระดับ 1.5-3 เมตร แต่ไม่ถึงชั้นดินเหนียว จากนั้นนำยางรถยนต์ ขวดน้ำ วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เติมลงไปในพื้นที่บ่อและรางระบายน้ำ เพื่อป้องกันขอบบ่อพังทลาย พร้อมติดตั้งท่อ PVC เพื่อเป็นท่อระบายอากาศ เติมหินลงไปจนกว่าจะเต็มบ่อ เหลือไว้ 30 เซนติเมตร ปูด้วยผ้าไนลอน นำหินกรวดขนาดเล็กมาเทปิดทับด้านบนให้เต็ม

ส่วนธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภค วิธีนี้จะเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก โดยสำรวจบ่อน้ำในพื้นที่น้ำมีปริมาณน้อยหรือแห้งขอด ที่นี่เลือกขุดบ่อลึกในพื้นที่ข้างบ่อเก็บน้ำเดิม ด้วยการขุดบ่อขนาดใหญ่ เริ่มจากขุดดินในชั้นดินอ่อน สู่ชั้นดินเหนียว จนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ (ติดกับชั้นกรวดทรายที่มีน้ำใต้ดิน) โดยเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุม เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี และมีช่องสำหรับถ่ายเทอากาศจากโพรงใต้ดินเมื่อถูกน้ำเข้าไปแทนที่ ระบบนี้จะนำน้ำมาจากหลายแหล่งเพื่อมากักเก็บ เช่น น้ำฝนที่ตกลงมา หรือน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด เมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ

ธนาคารน้ำใต้ดิน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับ “รางวัลดีเด่น” ประเภทผลงานสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการประกวด รางวัลสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประจำปี 2564 เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action โครงการ “น้ำเพื่อชีวิต” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคืนน้ำกลับสู่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และแก้ไขบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำให้กับคนในชุมชน สังคม และโลก อย่างเป็นรูปธรรม