หลากปัจจัย รุมถล่มราคายาง จับตา 3 ชาติลดส่งออกแก้ลำ

ราคายางเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ยางแผ่นดิบที่ซื้อขายกันในตลาดท้องถิ่นอยู่ที่ กก.ละ 64.40 บาท น้ำยางสดหน้าโรงงาน กก.ละ 65 บาท ขณะที่ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยางแผนดิบอยู่ที่ กก.ละ 66.35 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ กก.ละ 67.27 บาท แต่วันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยางแผ่นดิบที่ซื้อขายกันในตลาดท้องถิ่นเหลือ กก.ละ 51.60 บาท น้ำยางสดเหลือ กก.ละ 53.50 บาท ราคาประมูลที่ตลาดกลาง อ.หาดใหญ่ ยางแผ่นดิบเหลือ กก.ละ 53.35 บาท และยางแผ่นรมควันเหลือ กก.ละ 57.07 บาท รวมระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดลดลงค่อนข้างมากกว่า 10 บาท/กก. ในขณะที่ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่าลดลงประมาณ กก.ละ 10 บาท

ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายางลดลงอย่างรวดเร็วมาจากค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 23 เดือนที่ 33.95 บาทต่อเหรียญสหรัฐในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แทนที่จะอ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่าเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ ส่วนประเทศต่าง ๆ ในเอเชียล้วนแข็งค่าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินวอนของเกาหลีใต้แข็งค่า 7.9% นับจากต้นปีที่ผ่านมา เงินเหรียญไต้หวัน 7.2% และรูเปียห์อินโดนีเซียแข็งค่า 5.3% และไทย 5% เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียที่พึ่งพิงการส่งออก

ปัจจัยหนุนเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าลดลง เพราะนักการเงินกลับมาวิตกกังวลว่าเงินเหรียญจะอ่อนค่า จากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ตลอดจนความเสี่ยงจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ปัจจัยต่อมาคือ ราคาน้ำมันที่มีทิศทางอ่อนตัวลง แม้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกจะตกลงยืดระยะเวลาการจำกัดการผลิตน้ำมันไปจนถึงต้นปีหน้า แต่การเพิ่มการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในสหรัฐก็ทำให้ตลาดวิตกเพิ่มขึ้น ซึ่งหากราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ย่อมทำให้ราคายางพาราคู่แข่งต้องลดลง เพราะยางสังเคราะห์ ถุงมือยางสังเคราะห์ที่ทำมาจากน้ำมันราคาจะลดลงไปด้วย

ประเด็นต่อมาคือ ฝนที่กลับมาตกต่อเนื่องในไทยเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ฝนมาเร็วและฝนตกในทุกภาค เดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นถึง 36% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมา รวมทั้งในเดือน มิ.ย.ด้วย ทำให้ชาวสวนยางกลับมาเปิดกรีดยางย่อมออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งในฤดูการกรีดยางปกติของไทยจะมีการส่งออกยางไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3-3.5 แสนตัน

อีกประเด็นคือ หากราคายางพาราตกต่ำลง ทางรัฐบาลไทยยากที่จะนำมาตรการแทรกแซงประกันราคารับซื้อกลับมาใช้อีก เพราะการแทรกแซงในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กว่า 3 แสนตัน ราคายางกลับถดถอยลงตลอดตั้งแต่เริ่มรับซื้อราคา กก.ละ 110 บาทจนลงมาถึง กก.ละ 60 บาท แต่เมื่อรัฐบาลจะขายยางในสต๊อก กลับมีเสียงคัดค้านตลอด นักเก็งกำไรทั่วโลกก็มองเห็น จึงกดราคาลดลงมาอย่างรวดเร็ว

ทางออกในการแก้ปัญหายางราคาตกต่ำ เหลือเพียงไม่กี่ทางออก นั่นคือ การจัดประชุมร่วม 3 ชาติผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จำกัดการส่งออกในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนตันเหมือนปีที่ผ่านมา หรืออาจจะมากกว่านี้ หากไม่ทำให้ตลาดค้ายางโลกเสียหายมากจนเกินไป รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องงัดมาตรการทำถนนลาดยางแอสฟัลต์ ต้องผสมเนื้อยางพาราไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอนว่าราคายางต้องขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์