การใช้สมุนไพรลดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

ในปี 2564 จากรายงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 ล้านราย โดยคิดเป็น 11.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด นับว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งในผู้หญิงเป็นลำดับต้นๆ

การรักษาในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ การผ่าตัดเต้านม และการใช้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งยาฮอร์โมนที่จะช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งยาเคมีบำบัดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยาด็อกโซรูบิซีน (doxorubicin) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม แต่อีกด้านหนึ่งก็พบผลข้างเคียงหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อเม็ดเลือด คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ มวลกระดูกลดลง

อาการข้างเคียงกลุ่มแรกจากยาเคมีบำบัดที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน (chemotherapy-induced nausea and vomiting) สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของอาการกลุ่มนี้คือ ขิง จากงานวิจัยจะให้รับประทานแคปซูลขิง 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัด

ไทสง

อาการข้างเคียงหลังจากการให้ยาเคมีบำบัดอีกอาการที่พบบ่อยเช่นกันคือ อาการท้องเสีย โดยพบได้ถึงร้อยละ 60 สมุนไพรช่วยลดอาการได้คือ ไทสงขาว (Marsdeniaetenacissimae) งานวิจัยพบว่า ในผู้ป่วย 46 ราย ที่รับประทานผงยาครั้งละ 2,400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัด สามารถลดอาการท้องเสียที่เป็นผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผู้ป่วยที่รับประทานยาสมุนไพรส่วนใหญ่ มีอาการท้องเสียน้อยกว่า 2 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาจะมีอาการท้องเสียมากกว่า นอกจากนั้นยังพบว่า ช่วยลดอาการผมร่วงที่เกิดจากการให้ยาเคมีบำบัดได้เช่นกัน

หญ้าปักกิ่ง

สมุนไพร หญ้าปักกิ่ง ก็เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีการวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฉายแสงและการให้ยาเคมีบำบัดได้ มีงานวิจัยที่พบว่าสารกลัยโคสฟิงโกไลปิด (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง โดยให้รับประทานครั้งละ 3-4 แคปซูล วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร หากต้องปลูกใช้เอง ควรใช้หญ้าปักกิ่งที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยให้ทำน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง แนะนำรับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น รับประทานติดต่อกัน 4 วัน หยุดยา 3 วัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมุนไพรจะมีงานวิจัยที่ยังน้อยเกี่ยวกับการนำมาใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด แต่เราก็พอจะเห็นประโยชน์ในการนำมาใช้ร่วมกัน ในอนาคตก็น่าจะมีงานวิจัยที่มีการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น และจะช่วยยืนยันประสิทธิภาพของสมุนไพรเหล่านี้ได้

ขิง

ขอบคุณข้อมูลจาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 19 ฉบับประจำเดือนมกราคม-มีนาคม 2565