เกษตรกรภูเรือ เปิดเพจขายไม้ดอก ดึงยอดขายพุ่ง สู้วิกฤตโควิด

อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นแหล่งผลิตคริสต์มาสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีศักยภาพเหมาะสมต่อการผลิตไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเล เฉลี่ย 600-900 เมตร จึงมีสภาพภูมิประเทศ อุณหภูมิ และช่วงแสงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นคริสต์มาส

คุณณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ ประธานเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอก ไลฟ์สดขายไม้ประดับหน้าเพจเฟซบุ๊ก

ต้นคริสต์มาส อำเภอภูเรือ เป็นไม้ประดับที่ใบมีสีสันสวยงามสะดุดตา มีทั้งสีแดง สีเหลือง สีชมพู และสีขาว ตามลักษณะของพันธุ์ และให้สีสันในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เนื่องจากสภาพอุณหภูมิต่ำ ช่วงแสงสั้นกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตไม้ดอกที่มีคุณภาพดี

ปัจจุบัน แหล่งผลิตคริสต์มาสที่สำคัญของอำเภอภูเรือมีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ปลูกกันแพร่หลายในพื้นที่ตำบลหนองบัวและตำบลสานตม สำนักงานเกษตรจังหวัดเลยเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกรวมตัวกันในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการผลิตและการตลาดเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนผู้ผลิตไม้ดอกภูเรือ

ต้นคริสต์มาส อำเภอภูเรือ เป็นที่ต้องการสูงในช่วงฤดูหนาว

เกษตรกรในพื้นที่อำเภอภูเรือ 250 ครอบครัว ประมาณ 2,000 ราย ปลูกไม้ดอกไม้ประดับกระถางกว่า 100 ชนิด เช่น ดาวเรือง ผีเสื้อ สร้อยไก่ หน้าวัว แค็กตัส และกุหลาบ ฯลฯ ไม้ดอกเมืองหนาวภูเรือเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ในช่วงฤดูหนาวตรงกับเทศกาลปีใหม่ เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูง มีรถบรรทุกขนส่งไม้ดอกเมืองหนาวออกจากอำเภอภูเรือกว่า 10 คันต่อวัน สร้างรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่าปีละ 50,000-300,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมหลายร้อยล้านบาทต่อปีทีเดียว

การผลิตพันธุ์ต้นคริสต์มาสปลอดโรค

เจอโควิด ตลาดชะงัก

เปิดเพจ รุกตลาดออนไลน์

คุณณัฐริกา ศรีสวัสดิ์ ประธานเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอก เลขที่ 47 หมู่ที่ 3 บ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โทร. 084-709-2889 กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบทำให้ยอดขายไม้ดอกภูเรือหยุดชะงัก เกษตรกรขายผลผลิตไม่ได้ จึงปรับแผนการผลิตและการตลาดใหม่ โดยรุกขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อทดแทนลูกค้ากลุ่มเดิมที่เน้นตลาดขายส่งในปริมาณมากๆ เพื่อนำไม้ดอกไปใช้จัดสวน

กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ดอกตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย หันมาผลิตไม้ใบและไม้มงคลเป็นอาชีพเสริม โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอภูเรือ เข้ามาสนับสนุนพันธุ์ไม้ใบ ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษา การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ (กระถาง) เพื่อเพิ่มมูลค่าของไม้ใบ นอกจากนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย ก็เข้ามาสนับสนุนการขายสินค้าทางเพจออนไลน์ และพัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์ในการส่งสินค้าให้ลูกค้า เนื่องจากไม้ดอกของอำเภอภูเรือมีความสวยงาม คงทน มีคุณภาพดี จึงเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวงกว้าง การรุกตลาดออนไลน์ของทางกลุ่มจึงประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะผู้บริโภคนิยมไม้ดอกไม้ประดับพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีสีสันโดดเด่นสวยงาม หลากหลาย ไม้ใบที่ทรงสวย ลำต้นที่แข็งแรง และต้านทานโรคได้ดี ทำให้ทุกวันนี้ ทางกลุ่มมีรายได้ก้อนโตจากขายสินค้าผ่านหน้าเพจ

สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย เยี่ยมชมแปลงปลูกไม้ดอกของคุณณัฐริกา

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ฯ ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้บางส่วนจากสำนักงานเกษตรอำเภอภูเรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำมาผลิตและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทางหน้าเพจ โดยกลุ่มสินค้าขายดี ได้แก่ นางพญาคล้าทอง คล้านกยูงแดง คล้านกยูงเขียว คล้าแตงโม มอนสเตอร่าไจแอนท์ เฟิร์นราชินีเงิน คาเมรอน หน้าวัว ว่านนกคุ้ม เสน่ห์ขุนแผน ใบละพัน คล้าเสือโคร่ง เอื้องหมายนาด่าง ว่านพญามือเหล็ก และม่วงนารี ฯลฯ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไม้มงคลประเภทไม้ใบที่นิยมใช้ตกแต่งอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ

กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ฯ ได้สร้างเพจขายสินค้าทางเฟซบุ๊ก จำนวน 3 เพจ ได้แก่ 1. เพจ “สวนต้นไม้มงคล ต้นไม้ดอกไม้ประดับ ต้นไม้จิ๋ว ต้นไม้ฟอกอากาศ BY nmco” 2. เพจ “ไร่ภูซำเตย สวนปูไม้ดอกไม้ประดับ” และ 3. เพจ “จำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับไม้มงคล ไร่ภูซำเตย” โดยใช้ลูกหลานสมาชิกแปลงใหญ่ทำหน้าที่เป็น Admin เพจดูแลการรับออร์เดอร์ สั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ดาวเรือง ไม้ดอกขายดีของอำเภอภูเรือ

โดยปกติ ทางกลุ่มขายสินค้าไม้ใบไม้มงคล ไม้ฟอกอากาศ คริสต์มาส หน้าวัว ละอองดาว ช้อนเงินช้อนทอง แค็กตัส ฯลฯ มีราคาขายส่งหน้าสวน เฉลี่ยต้นละ 10 บาท เมื่อปรับตัวขายสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก สามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น เฉลี่ยต้นละ 50 บาท โดยลูกค้าซื้อไม้ดอกต้นแรกคิดราคาขนส่งต้นละ 60 บาท เมื่อสั่งซื้อไม้ดอกต้นต่อไป คิดค่าขนส่งแค่ต้นละ 10 บาท โดยเลือกใช้บริษัทขนส่งภาคเอกชน คือ บริษัท J&T และ บริษัท Flash Express ที่มีความเชี่ยวชาญในการบรรจุไม้ดอกไม้ประดับลงกล่อง (Packing) ทำให้สินค้าส่งถึงมือลูกค้ารวดเร็วและไม่ให้เกิดความเสียหาย

ต้นลิเซียนทัส ไม้ดอกตัวใหม่ที่ วว.เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกขาย

วว.- วช. ช่วยแก้ปัญหาโรคพืช

แม้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกอำเภอภูเรือ สะสมประสบการณ์และทักษะในการผลิตไม้ดอกเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเครือข่ายทางการตลาด มีการซื้อขายผลผลิตไม้ดอกไม้ประดับตลอดปี แต่ข้อจำกัดที่ต้องเร่งพัฒนาคือ การเพิ่มพูนข้อมูลวิชาการ ในการผลิตและการป้องกันกำจัดโรคพืช เนื่องจากมีการสะสมของเชื้อโรคและเกิดการระบาดของเชื้อเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรภูเรือปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ชนิดเดิมๆ ทำให้ผลผลิตราคาจำหน่ายคงที่และมีราคาตกต่ำลง

“ปัจจุบัน วช. และ วว. ได้ร่วมกันเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโรคในดิน เรื่องแมลงศัตรูพืช ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเรื่องการอบดิน เพื่อไม่ให้ต้นคริสต์มาสเกิดโรคและเสียหาย จะได้อัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการวิจัยอยู่ คาดว่าผลที่จะได้รับคือ ไม้ดอกจะไม่เสียหาย และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมถึงการมีดอกใบที่สวยพร้อมส่งออกไปทั่วประเทศ เป็นที่ภูมิใจของกลุ่มเกษตรกร ที่ วว. และ วช. เข้ามาสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ” คุณณัฐริกา กล่าว

ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนโครงการมาลัยวิทยสถาน ให้แก่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำให้สามารถยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง

ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า วว. ได้นำงานวิจัยไปถ่ายทอดเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม้ดอกภูเรือ จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก สามารถลดต้นทุนในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้ 2. การจัดดอกไม้เป็นของขวัญ เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับที่มีการปลูกเลี้ยงและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม 3. การแปรรูปและพัฒนาชาดอกไม้จากพันธุ์ไม้ที่มีการปลูกเลี้ยง เช่น กาแฟ ดาวเรือง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ 4. การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก พัฒนาเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 5. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อปุ๋ยเคมี ประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำปุ๋ยหมัก และ 6. การป้องกันโรคและแมลง เพื่อหาวิธีป้องกันจากศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ

ทีมนักวิจัย วว. และผู้บริหาร วช. เยี่ยมชมกิจการของคุณณัฐริกา

“ที่ผ่านมา วว. ได้ร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ ปลูกเลี้ยงเยอร์บีร่าสายพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการส่งออก พัฒนาและส่งเสริมการปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส และต้นเบญจมาศ เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร ส่วนเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ วว. ส่งเสริมการปลูกเลี้ยงไม้ใบ เช่น หน้าวัวใบ บิโกเนีย และพืชสกุลอะโกลนีมา รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปดอกไม้เพื่อเป็นสบู่ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชุมชนต้นแบบ

ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ของ วว. หรือการส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตรสาขาอื่นๆ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ โทร. 02-577-9000 โทรสาร 02-577-9009 E-mail : [email protected]  www.tistr.or.th  Line@tistr>