เกษตรที่สูง ณ พบพระ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะโอมิครอนหรือสายพันธุ์ไหน ขอให้เราช่วยกันดูแลตัวเอง งดเดินทางไปในที่ที่มีความเสี่ยง สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หมั่นล้างมือ เพียงเท่านี้เราก็จะป้องกันได้ส่วนหนึ่งแล้ว ไม่นับว่าเราได้รับวัคซีนกันมาหลายเข็มกันแล้ว เชื่อว่าเราจะผ่านเรื่องร้ายๆ นี้ไปด้วยกันครับ

ผอ.โหน่ง เกษตรที่สูง
แนะนำพร้อมให้สัมภาษณ์

สงครามที่รัสเซียและยูเครน กำลังต่อสู้กันอยู่ตั้งห่าง แต่ไฉนเรื่องราวบนโลกทุกวันนี้จึงดูใกล้ชิดกับเราเหลือเกิน เราได้ทราบข่าวจากสื่อในช่องทางต่างๆ แต่ส่วนมากก็สื่อโซเชียล ผลของการสู้รบกันนั้นแพ้ชนะยังไม่รู้ แต่ส่งผลให้ทั่วโลกประสบปัญหาน้ำมันแพง เกษตรกรยังมาเจอปุ๋ยขึ้นราคาอีก งานนี้ต้องร้องเพลงพี่เบิร์ดครับ “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้”

ป้ายบอกกล่าวการให้ผลผลิต

มีเรื่องหนึ่งที่คาใจผมเป็นนักหนา เคยซื้ออะโวกาโดในงานเกษตรมาปลูก เพราะชอบสายพันธุ์แฮสจึงเลือกเอาแฮสลงปลูกในสวน ผ่านวันเวลาไปตามปกติ ต้นโตขึ้น ใบเงางาม แต่ไม่เคยติดผลสักนิด รดน้ำ ใส่ปุ๋ยตามปกติ ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นหนอ พอดีมีจังหวะดีที่ได้เดินทางไปเรียนรู้กับผู้รู้จริง แห่งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) โดยนัดกับ ท่าน ผอ.โหน่ง คุณธนากร โปทิกำชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

อร่อยมากครับ
เสียบยอดขยายราก

เมื่อตั้งคำถามก็ได้รับคำตอบ อะโวกาโดไม่ใช่มะม่วงที่จะปลูกตรงไหนก็ได้ผลผลิต เพราะเขามีแยกแยะแต่ละสายพันธุ์ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากำกับ สวนผมอยู่จังหวัดสระแก้ว เป็นที่ราบ สายพันธุ์ที่ควรปลูกจะต้องเป็น ปีเตอร์สัน รูเฮิล บัคคาเนียร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นพันธุ์เบา ให้ผลผลิตที่แก่และสุกไวกว่าสายพันธุ์อื่น (เพราะออกดอกก่อนพันธุ์อื่นนั่นเอง) ท่าน ผอ. เล่าว่า ปัจจุบันไทยเรายังนำเข้าผลอะโวกาโด ปีละ 350 ล้านบาท อำเภอพบพระมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอะโวกาโดทุกสายพันธุ์ ตั้งเป้าจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกให้ได้ 30,000 ไร่ ปัจจุบัน ปลูกได้เพียง 7,000 ไร่เท่านั้น เรียกว่ายังอีกไกลเลย

ผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม
ผลดกและมีหลายรุ่น

ที่พบพระ อะโวกาโดหลากหลายสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการค้า ตั้งแต่สายพันธุ์พื้นเมืองที่คัดแล้ว จนถึงระดับพื้นราบ เช่น ปีเตอร์สัน บัคคาเนียร์ จนถึง บูท 7 แฮส ฯลฯ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีเกือบทั้งปี โดยแยกแยะแต่ละสายพันธุ์ เช่น

พฤศจิกายน-มกราคม พันธุ์ปากช่อง 2-8
กุมภาพันธ์-สิงหาคม พันธุ์พื้นเมืองพบพระ
เมษายน-กรกฎาคม พันธุ์ปีเตอร์สัน/รูเฮิ่ล
มิถุนายน-กันยายน พันธุ์บัคคาเนียร์
กรกฎาคม-ตุลาคม พันธุ์บูท 7/บูท 8
สิงหาคม-พฤศจิกายน พันธุ์พิงเคอร์ตัน
กันยายน-ธันวาคม พันธุ์แฮส/แลมป์แฮส

กูรูอะโวกาโดทั้งคู่

จะเห็นได้ว่าเมื่อบริหารจัดการให้ดี จะมีผลอะโวกาโดออกมาจำหน่ายทั้งปีได้แน่นอน ที่สำคัญราคาไม่ใช่เบาๆ นะครับ ข้อมูลของปีที่ผ่านมารับซื้อหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท เรียกว่าเพียงปลูกอะโวกาโดให้มีอายุต้นได้ประมาณ 4 ปีขึ้นไป เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนจากการขายผลผลิตแน่ๆ เพราะไม่ใช่เพียงตลาดกินผลเพื่อสุขภาพเท่านั้น ในด้านความงามก็มาแรง มีการจองผลผลิตกันแบบยกสวนข้ามปีกันเลยทีเดียว

ต้นบุกเมื่อโตเต็มที่
หัวบุกในปีแรก

การขยายพันธุ์อะโวกาโด จะใช้ต้นตอจากพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแรง แล้วนำมาเปลี่ยนยอดเป็นสายพันธุ์เพื่อการค้า ปลูกในระยะ 6×6 หรือ 8×8 ในปีแรกปีสอง แม้จะเริ่มติดผลก็ห้ามเก็บไว้ ให้เด็ดทิ้งไปก่อน รอให้ต้นแข็งแรงแล้วจึงปล่อยให้ติดผลในปีที่ 4 จากนั้นก็ปล่อยตามปกติได้เลย

“ในระยะเวลาตั้ง 4 ปี เกษตรกรจะรอไหวหรือครับท่าน ผอ.”

“เรามีการวางแผนการปลูกพืชแซมเพื่อเสริมรายได้ในช่วงที่รอครับ รับรองว่าไม่เสียเวลาเปล่าแน่นอน”

“ทำอย่างไรบ้างครับ”

“เดี๋ยวจะพาไปชมสวนของท่านผู้ใหญ่ไพเราะ แกปลูกอะโวกาโด 5 ไร่ ทุเรียน 5 ไร่ มะละกอ 5 ไร่ กล้วย 5 ไร่ พริก 5 ไร่ แล้วยังมีรายได้จากหัวบุกอีกนะ”

ไข่บุกเกิดบนใบ

ที่สวน ผู้ใหญ่ไพเราะ ปานทิม โทร. 089-009-9393 มีพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ ปลูกอะโวกาโดสายพันธุ์พื้นเมืองไว้และเปลี่ยนยอดเป็นสายพันธุ์เพื่อการค้าในตอนหลัง เบื้องต้นก็ปลูกกล้วยเป็นพี่เลี้ยง แซมด้วยทุเรียน มะละกอ พริก และบุก ข่า ตะไคร้ ผักสวนครัวอื่นปลูกแซมกันไปได้ทั้งหมด เมื่อให้น้ำให้ปุ๋ย พืชทุกต้นในพื้นที่ก็ได้รับเหมือนๆ กัน เก็บพริกขาย เก็บมะละกอขาย ตัดกล้วยขาย กว่าจะถึงอายุ 4 ปีก็มีรายได้ในแต่ละวันเสมอ แต่มีอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าเป็นเงินแสนนอนอุ่นๆ ในสวน ไม่ต้องทำอะไร แค่หย่อนไข่ลงปลูกในระยะ 50×50 เซนติเมตร พอถึงปลายๆ เดือนเมษายนเขาก็จะงอก ไปจนถึงเดือนตุลาคมก็ทิ้งต้นทิ้งใบ เหลือแต่หัวอยู่ในดิน พอเดือนเมษายนวนรอบมาก็จะงอกใหม่ วนเวียนเช่นนี้ พอครบ 3 ปีก็ขุดหัวขึ้นมา

“ผู้ใหญ่หมายถึงหัวอะไรครับ”

“บุกครับ บุกไข่เนื้อทราย ปลูกทิ้งไว้เลย เขาเป็นพวกหากินเอง เติบโตเองได้ ไม่ขี้อ้อน”

“3 ปีนี่หัวใหญ่ไหมครับ”

“ตามแต่ความสมบูรณ์นะ ก็มีตั้งแต่หัวละ 3-15 กิโลนั่นแหละ”

“ขายโลเท่าไหร่ครับ”

“เคยได้สูงสุดโลละ 27 บาท”

“แล้วที่ว่ารอมา 3 ปีได้กี่โลครับ”

“ในแปลง 5 ไร่นี่ก็ต้องมีเกิน 5 ตันครับ”

“5,000 โล โลละ 27 บาทก็แสนกว่าแล้วนะครับ”

“นี่แหละ ไม่ต้องดูแลอะไร มีรายได้จากการเก็บไข่ขายอีกนะ”

“ไข่คืออะไรครับ”

“ไข่ก็คือส่วนที่อยู่บนใบบุก เอาไปปลูกขยายพันธุ์ต่อ”

“ราคา”

“โลละ 2-300 บาทเชียวนะ ตามขนาดใหญ่เล็ก”

ไข่พร้อมปลูก

เชื่อแล้วครับ ได้เห็นกับตา เกษตรผสมผสานบนที่สูงที่มีอะโวกาโดเป็นพระเอก สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้แน่ๆ งานนี้หากท่านใดสนใจก็โทร.สอบถามกับผู้ใหญ่ไพเราะได้เลยนะครับ ผมนัดกันแล้ว กรกฎาคมศกนี้ จะไปอีกสักรอบ ก็…อะโวกาโดกำลังสุกนะสิ