เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน ส่งเสริมอาชีพแปรรูปปลากาฬสินธุ์

“จังหวัดกาพสินธุ์” มีแหล่งน้ำชลประทานสำคัญคือ เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์จำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพทำประมงเป็นรายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งในพื้นที่ตำบลลำคลอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ นำปลาที่จับได้ เช่น ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว และปลากระมัง นำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เชิงการค้า เช่น ปลาตากแห้ง ปลาส้ม และหม่ำไข่ปลา สินค้ามีคุณภาพดีมีชื่อเสียง ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป 

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โชว์ผลงานเครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน

 

ม.กาฬสินธุ์ นำนวัตกรรมสู่ชุมชน

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า ชาวบ้านในพื้นที่นิยมแปรรูปปลาตากแห้งและปลาส้ม เป็นสินค้าขายดี ผลิตภัณฑ์จากปลาได้รับความนิยม มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยมียอดขายเฉลี่ย 8,000-12,000 บาท ต่อวัน และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

ว่าที่ร้อยตรี อนุชา ศรีบุรัมย์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย

แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้แปรรูปปลาในท้องถิ่นประสบปัญหาความล่าช้าในกระบวนการแปรรูปปลา โดยเฉพาะกระบวนการขอดเกล็ดปลาซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการแปรรูปปลาส้มและปลาตากแห้ง จึงไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาด ดังนั้น ทางกลุ่มจึงต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการแปรรูปปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียนขาว และปลากระมัง เพื่อผลิตเป็นปลาตากแห้งและปลาส้ม เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  

ปลาน้ำจืดที่จับได้ท้องถิ่น

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ศึกษากระบวนการแปรูปผลิตภัณฑ์ปลาพบว่า การขอดเกล็ดปลาเป็นจุดคอขวดของกระบวนการผลิต ใช้เวลาในการผลิตมากสุด ซึ่งการขอดเกล็ดปลาด้วยมือ จำนวน 120 กิโลกรัม ใช้แรงงานจำนวน 3 คน ใช้เวลาทำงานถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มมีกำลังการผลิตปลาแปรรูป โดยเฉลี่ยประมาณ 80-150 กิโลกรัม ต่อวัน

 

เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน

ลดเวลาทำงานลงกว่า 10 เท่า

เครื่องสามารถขอดเกล็ดปลาได้สูงสุด 15 กิโลกรัมต่อครั้ง

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสิทธุ์ ได้ร่วมกันคิดค้นผลงานประดิษฐ์ คือเครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน ที่สามารถใช้งานได้จริง ลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณการผลิต ช่วยสร้างรายได้แก่กลุ่มแปรรูปปลา (ชมการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ได้ทางคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/wVkGoXq9Qs4)

เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน เป็นผลงานของ นายภัคพงศ์ อายุวงษ์ นายศตวรรษ สุริยสิทธิ์ นายนครินทร์ สุดสนธิ์ และ นางสาวบุปผา พลอาจทัน นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์อนุชา ศรีบุรัมย์ โทร. 083-419-4954 ผศ.วรรณรพ ขันธิรัตน์ และ ผศ.นรงค์ วิชาผา

วิถีชีวิตชาวประมงจังหวัดกาฬสินธุ์

เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน เป็นผลงานนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขอดเกล็ดปลามากกว่าในอดีตถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมเท่ากับ 92 เปอร์เซ็นต์ (ปริมาณ 120 กิโลกรัม จากเดิมใช้เวลา 480 นาที ใช้เวลาเหลือเพียง 40 นาที) และลดจำนวนแรงงานจาก 3 คน เหลือเพียง 1 คน คิดเป็นต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ลดลงจำนวน 18,000 บาท ต่อเดือน อีกทั้งผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นสามารถปรับปรุงและพัฒนากลไกเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงเครื่องที่สร้างขึ้นสามารถนำไปช่วยในกระบวนการการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาของกลุ่มอื่นๆ ได้อีก

“เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก ตัวเครื่องมีขนาดถังรองรับการขอดเกล็ด ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อครั้ง และมีความเร็วรอบแกนหมุนประมาณ 60 รอบ ต่อนาที ใช้เวลาเดินเครื่อง 5 นาที ต่อครั้ง โดยก่อนจะนำปลาเข้าถังหมุนเพื่อขอดเกล็ด โดยจะต้องเอาปลาไปแช่ในน้ำแข็งก่อนจึงสามารถขอดเกล็ดได้อย่างง่าย ในเวลาอันรวดเร็ว ในอนาคต คณะวิจัยฯ จะพัฒนาขนาดของเครื่องให้สามารถใช้งานได้กับปลาชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน” นายนครินทร์ หนึ่งในคณะวิจัยฯ กล่าว

เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน ผลิตจากวัสดุที่แข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน

 

คว้ารางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เข้าตาคณะกรรมการจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม (I-New Gen Award 2021) จึงได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา ประเภทกลุ่มอาหาร ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ว่าที่ร้อยตรี อนุชา ศรีบุรัมย์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบอาชีพแปรรูปปลาตะเพียน ปลาสร้อยขาว และปลากระมัง ในรูปแบบปลาตากแห้ง ปลาส้ม ฯ ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากทำหน้าที่ขอดเกล็ดปลา โดยปลาสดน้ำหนัก 120 กิโลกรัม ต้องใช้แรงงานคนทำหน้าที่ขอดเกล็ดนานถึง 8 ชั่วโมง

คณะนักวิจัยโชว์การทำงานของอุปกรณ์ให้ชาวบ้านได้ชม

คณะนักวิจัยจึงเกิดไอเดียพัฒนาเครื่องขอดเกล็ดปลาขึ้นมาช่วยขอดเกล็ดปลาโดยใช้เวลาเพียงแค่ 40 นาที เร็วกว่า 10 เท่า โดยเครื่องสามารถขอดเกล็ดปลาได้สูงสุด 15 กิโลกรัม ต่อครั้ง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตของชุมชนได้ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และใช้จำนวนแรงงานน้อยลง ใช้แรงงาน 1 คนก็ทำงานได้อย่างสบาย ผลงานสิ่งประดิษฐ์นี้ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา รวมทั้งส่งเสริมอาชีพแปรรูปปลา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์    โอท็อปของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

เพิ่มมูลค่าปลาแห้ง ปลาส้ม

สินค้าโอท็อปอำเภอสามชัย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ยังได้ทำหน้าที่รับใช้สังคม โดยดำเนินงานวิจัยตอบโจทย์ชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนบ้านหนองแสง และบ้านคำเขื่อนแก้วเหนือ ตำบลสำราญใต้ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่แปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นอาชีพเสริม แต่ยังขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการด้านการผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่า ขาดความรู้ด้านการตลาดและการจัดการทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลายชนิดยังไม่สามารถส่งจำหน่ายในท้องตลาดอย่างกว้างขวางได้

คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสิทธุ์ลงพื้นที่ ช่วยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ปลาร้าให้มีคุณภาพและจำหน่ายได้อย่างกว้างขวาง แล้วยังช่วยปรับปรุงสูตรน้ำพริกปลาส้ม บรรจุภัณฑ์ของปลาส้ม และเปิดช่องทางการตลาดให้หลากหลาย รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตและปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ปลาแห้ง (ปลาวงและปลาซิวแก้ว) และปรับปรุงสูตรน้ำพริกนรกปลาแห้งให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และเปิดช่องทางการตลาดให้หลากหลายและกว้างขวาง นำปลาสดมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบปลา และนำเศษเหลือทิ้งมาทำน้ำหมักชีวภาพ พร้อมกับพัฒนาตราสินค้าและช่องทางการตลาดสินค้าสัตว์น้ำ

เครื่องขอดเกล็ดปลาตะเพียน โชว์ในงานวันนักประดิษฐ์

นักวิจัยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์คาดหวังว่า การนำนวัตกรรมสู่ชุมชนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต การจัดจำหน่าย ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งต่างๆ ให้เกิดรายได้สูงสุด และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน รายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้น อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากดีขึ้นและเข้มแข็งอย่างยั่งยืน