ที่มา | เทคโนฯ เกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | มนัส ช่วยบำรุง |
เผยแพร่ |
“เห็ด” แหล่งโปรตีนจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมบริโภคแต่ครั้งอดีตตราบถึงปัจจุบัน สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ด้วยรสชาติเฉพาะตัวที่อร่อยถูกปาก อีกทั้งยังมีโปรตีนสูงจึงตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปและผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจ
อาชีพเกษตรนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากการทำงานประจำ ด้วยสามารถสร้างสุขให้แก่ทั้งตัวเกษตรกรเองและคนรอบข้าง อีกทั้งยังได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในบ้านเกิดของตนเอง ชัญญาณ์ภัช ภักดี (คุณเก๋) เจ้าของ “สวนเห็ดบ้านภักดี” นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มุ่งมั่นสร้างชีวิตบทบาทวิถีแห่งความสำเร็จผ่านการสานต่อธุรกิจฟาร์มเห็ดอินทรีย์ของครอบครัวที่ตำบล ท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
คุณเก๋ เล่าว่า ตนเองจบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยวการโรงแรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัท แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบต่องานประจำ จึงตัดสินใจกลับมาประกอบธุรกิจส่วนตัวทำฟาร์มเห็ดที่บ้านเกิดในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมทีเป็นสวนลำไยอินทรีย์ โดยมีพ่อและแม่ดูแล ภายหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยก็มีเห็ดเป็นรายได้เสริม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพ่อค้า แม่ค้า รวมไปถึงผู้รับเหมาจัดทำอาหารในงานเลี้ยงพิธีต่างๆ มารับซื้อเห็ดถึงสวนแต่ก็ยังคงประสบปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังคงจำกัดอยู่ จึงมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดฟาร์มเห็ดของครอบครัวให้มีแหล่งกระจายสินค้าที่เพิ่มขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ภายใต้แบรนด์ “สวนเห็ดบ้านภักดี” ที่นอกจากจะจำหน่ายเห็ดสดคัดสรรคุณภาพจากฟาร์มแล้ว ยังมุ่งเน้นแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปในประเภทต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์อีกทั้งยังถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าได้บริโภคเห็ดในเมนูที่หลากหลายมากขึ้น
“ปัจจุบันภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 ส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (อาหารคลีน) มากขึ้น เห็ดจึงถูกจัดให้เป็นโปรตีนทางเลือกในลำดับต้นๆ ของเมนูอาหารประเภทนี้ สวนทางกับแหล่งผลิตเห็ดที่ยังคงมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโดยเฉพาะเห็ดนางรมดำ เห็ดโคนน้อย และเห็ดหอม เพราะฉะนั้นตนเองจึงเล็งเห็นว่าด้วยสภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปีจึงเหมาะแก่การทำฟาร์มเห็ด ผสานกับการควบคุมคุณภาพที่ไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาฉีดพ่นแต่อย่างใด เห็ดของฟาร์มแห่งนี้จึงขึ้นชื่อด้านความสด กรอบ สะอาด และมีรสชาติดีเป็นที่ถูกปากผู้บริโภคจึงนับเป็นการสร้างความมั่นใจให้ว่าเราสามารถต่อยอดธุรกิจฟาร์มเห็ดของครอบครัวได้”
ฟาร์มเห็ดอินทรีย์ ทำยากหรือไม่
การเริ่มต้นทำธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่หากขาดความเชี่ยวชาญก็ไม่สามารถที่จะนำพาตนเองไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จได้ ฟาร์มเห็ดอินทรีย์ก็เช่นเดียวกัน เกษตรกรต้องเข้าใจในการจัดการโรงเพาะเห็ดรวมไปถึงสภาพอากาศที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด
คุณเก๋ กล่าวว่า การทำฟาร์มเห็ดนั้นสามารถเริ่มต้นทำได้อย่างไม่ยากนัก เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมต่อการเพาะเห็ดหรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดให้เห็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่มีปัญหาเชื้อราเข้ามารบกวน สำหรับเห็ดสายพันธุ์หลักๆ ที่สวนเห็ดบ้านภักดี ผลิตออกจำหน่ายมีทั้งเห็ดนางฟ้า (เห็ดนางรมดำ), เห็ดโคนน้อย, เห็ดหอม และเห็ดลม เรียกได้ว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอให้เห็ดเจริญเติบโตออกมานั้นเกษตรกรจะต้องคำนึงถึงการรักษาความสะอาดภายในโรงเพาะเห็ด ซึ่งจะต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก หากในโรงเพาะเห็ดมีความสกปรกจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อโรค ทั้งหนู แมลงสาบ ไร เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบถึงเห็ดที่เพาะเลี้ยงเอาไว้แทบทั้งสิ้น
ฉะนั้นภายหลังจากการเก็บเห็ดทุกครั้งต้องทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อเห็ดด้วยการเขี่ยเศษที่เหลือออกให้หมด ไม่ให้มีการตกค้างเพื่อป้องกันการหมักหมมหรือเน่าเสีย จนก่อให้เกิดการวางไข่ของแมลงต่างๆ พร้อมทั้งทำความสะอาดโรงเพาะเห็ดในช่วงที่ก้อนเห็ดหมดรอบจะถูกนำออกไปทั้งหมดเพื่อล้างทำความสะอาดและฉีดพ่นฆ่าเชื้อด้วยน้ำส้มควันไม้ ก่อนพักโรงเพาะเห็ดเอาไว้ประมาณ 1 เดือน จึงสามารถนำก้อนเห็ดเข้าสู่โรงเพาะได้อีกครั้ง ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่สามารถควบคุมการถ่ายเทอากาศภายในโรงเพาะเห็ด ความชื้น และความสะอาดได้ย่อมส่งผลให้เกิดเชื้อราและทำให้เห็ดหยุดการเจริญเติบโตไปนั่นเอง
โรงเพาะเห็ดในสวนลำไย
สวนเห็ดบ้านภักดี ตั้งอยู่ภายในสวนลำไย บรรยากาศร่มรื่นแล้วก่อสร้างโรงเรือนสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดเอาไว้ระหว่างแถวของต้นลำไย ภายใต้หลักการใช้สอยพื้นที่ว่างรอบบ้านให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
คุณเก๋ กล่าวว่า โรงเพาะเห็ดมีการปลูกสร้างในลักษณะโรงเรือนหลังคากอไก่ คล้ายคลึงกับโรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปิดคลุมด้วยพลาสติกกันรังสียูวี และคลุมทับอีกหนึ่งชั้นด้วยซาแรนเพื่อป้องกันละอองฝน ถือเป็นการปรับอุณหภูมิภายในโรงเพาะเห็ดไปในตัว โดยมีขนาดความกว้าง 2.3 เมตร ยาว 4.5 เมตร เน้นก่อสร้างในขนาดไม่ใหญ่มากนักเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ภายใน 1 โรงเรือน สามารถบรรจุก้อนเห็ดได้ประมาณ 1,000 ก้อน หรือแล้วแต่ความเหมาะสม สำหรับการก่อสร้างโรงเพาะเห็ดในลักษณะนี้ก็เพื่อให้สามารถถ่ายเทอากาศได้อย่างสะดวก เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเห็ดในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งมีความต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกัน อาทิ เห็ดหอม เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศหนาวเย็น, เห็ดนางฟ้า ชอบบรรยากาศอบอุ่นไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป จึงต้องอาศัยร่มเงาจากต้นลำไยมาเป็นตัวช่วยในการกำบังแสงอีกต่อหนึ่งเพื่อไม่ให้ตัวโรงเพาะเห็ดร้อนจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวโรงเพาะเห็ดจะอยู่ภายในสวนลำไยแต่ก็ไม่ได้มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด เนื่องจากทำสวนลำไยอินทรีย์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักประกันได้ว่าเห็ดจากสวนแห่งนี้มีความสด สะอาด และปลอดภัยอย่างแน่นอน
ทำก้อนเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา
สวนเห็ดบ้านภักดี ไม่ได้มีการทำเชื้อเห็ดเพื่อใช้แต่อย่างใด แต่จะอาศัยการสั่งซื้อเชื้อเห็ดจากแหล่งจำหน่ายประจำ เนื่องจากการทำเชื้อเห็ดมีวิธีการและขั้นตอนที่ปลีกย่อยออกไปจึงต้องประหยัดเวลาด้วยการซื้อเชื้อเห็ดเพื่อมาทำก้อนเห็ดที่บ้าน โดยใช้วิธีเพาะเชื้อเห็ดในขวดแก้วซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวฟ่างบรรจุอยู่ภายใน รอให้เชื้อเดินเต็มขวดจากนั้นจึงนำเชื้อเห็ดมาหยอดภายในก้อนเห็ดที่เตรียมเอาไว้
คุณเก๋ กล่าวว่า การทำก้อนเห็ดมีความแตกต่างไปตามชนิดของเห็ด โดยเฉพาะเห็ดนางรมดำ, เห็ดหอม, เห็ดกระด้าง (เห็ดลม) จะเน้นใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นหลัก โดยสั่งซื้อมาจากภาคใต้ในคราวละ 1 คันรถ 10 ล้อ ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพื่อทำก้อนเห็ดนั้น ก็เพราะสามารถควบคุมปริมาณความชื้นได้ดี ง่ายต่อการจัดการ อีกทั้งต้นยางพาราเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสารอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด คือ คาร์บอน, เซลลูโลส, ไนโตรเจน สารอาหารเหล่านี้เมื่อหยอดเชื้อเห็ดลงไปแล้วเห็ดก็สามารถที่จะดูดซับธาตุอาหารได้ทันที นอกจากนี้ แล้วยังมีส่วนผสมอื่นอีก เช่น รำละเอียด, ดีเกลือ, น้ำตาลทราย, ปูนขาว เสริมเข้าไป แต่โดยทั่วไปแล้วการเพาะเห็ดนางรมดำจะไม่นิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา แต่จะเลือกใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาแทน เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า
ส่วนขั้นตอนการผสมนั้นจะต้องนำขี้เลื่อยไม้ยางพารามาผึ่งตากแดดเอาไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อไล่ความชื้น เมื่อครบกำหนดจึงนำขี้เลื่อยไม้ยางพารามาคลุกเคล้ากับส่วนผสมอื่นๆ ให้เข้ากันในสัดส่วนที่พอเหมาะ จากนั้นให้นำเข้าเครื่องผสมเชื้อเห็ด ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้มือในขั้นตอนนี้เพราะไม่สามารถคลุกเคล้าเชื้อเห็ดได้อย่างทั่วถึง ภายหลังจากผสมเชื้อเห็ดเสร็จแล้วจะต้องนำมาบรรจุลงในถุงสำหรับทำก้อนเห็ดให้ได้น้ำหนัก ประมาณ 800-900 กรัมต่อ 1 ก้อน แล้วนำเข้าเครื่องอัดก้อน เมื่อได้ก้อนเห็ดออกมาแล้วจะต้องนำมาใส่คอขวดอุดด้วยก้อนสำลีและปิดฝาขวดเอาไว้เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการนึ่งฆ่าเชื้อต่อไป
โดยฟาร์มเห็ดแห่งนี้จะใช้วิธีการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยเตานึ่งลูกทุ่ง ที่มีลักษณะเป็นถังขนาด 200 ลิตร นำก้อนเห็ดมาวางเรียงซ้อนกันภายในถัง จากนั้นจึงทำการนึ่งด้วยไอความร้อนโดยใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อนึ่งฆ่าเชื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้วต้องนำก้อนเห็ดมาพักให้เย็นตัวลง ประมาณ 1 วัน หากหยอดเชื้อลงไปภายในทันทีความร้อนจากภายในก้อนเห็ดอาจทำให้เชื้อเห็ดตายได้
ภายหลังจากก้อนเห็ดเย็นตัวดีแล้วจึงทำการหยอดเชื้อเห็ดลงไป ซึ่งกระบวนการนี้จะทำในสถานที่ปลอดเชื้อ เน้นไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปผสมอยู่ภายในก้อนเห็ดเพราะเสี่ยงต่อการเป็นเชื้อรา ก่อนหยอดเชื้อเห็ดจะต้องใช้สเปรย์แอลกอฮอล์พ่นบริเวณปากถุงก้อนเห็ดเพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นจึงหยอดเชื้อเห็ดลงไปเขย่าเล็กน้อยเพื่อให้เชื้อเห็ดกระจาย แล้วนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาปิดปากถุงก้อนเชื้อเห็ดรัดยางเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้วจะต้องตั้งพักเอาไว้อีกประมาณ 45 วัน เพื่อให้เชื้อเห็ดเดินเต็มก้อน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้วจึงนำก้อนเชื้อเห็ดเข้าไปไว้ในโรงเพาะเห็ดต่อไป
แนะนำวิธีเพาะเห็ดโคนน้อย “แบบกองฟาง”
นอกจากการเพาะเชื้อเห็ดจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราแล้วนั้น ยังมีการเพาะเชื้อเห็ดด้วยฟางข้าวที่หาได้จากภายในท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักใช้กับการเพาะเห็ดโคนน้อยด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่า “กองฟาง”
คุณเก๋ กล่าวว่า การเพาะเห็ดโคนน้อยโดยใช้กรรมวิธีแบบกองฟาง จะเน้นใช้ฟางข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก มีขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อนนัก เริ่มต้นด้วยการต้มน้ำเดือดภายในถัง 200 ลิตร จากนั้นจึงนำฟางข้าวมาจุ่มลงไปใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 นาที แล้วยกขึ้นมาพักทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เพื่อรอทำก้อนเห็ด ส่วนการเตรียมเชื้อเห็ดโคนน้อยจะต้องใช้วิธีการขยี้เชื้อเห็ดให้กระจายออกจากกันแล้วคลุกเคล้ากับรำข้าวให้เข้ากัน เมื่อได้เชื้อเห็ดที่ผสมเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำมาเข้าสู่ขั้นตอนทำก้อนเห็ดโดยใช้วิธีการนำฟางที่ผ่านการหมักบ่มครบ 1 คืน แล้วมาใส่ลงในแม่พิมพ์แล้วโรยเชื้อเห็ดสลับกับอัดฟางและมัดฟางให้เป็นก้อน เมื่อได้ก้อนฟางที่มีเชื้อเห็ดโคนน้อยอยู่ภายในออกมาแล้ว ก็ให้นำไปวางเรียงกันเป็นแถวทิ้งระยะเวลาเอาไว้ประมาณ 7 วัน เห็ดจะค่อยๆ งอกออกมาให้เห็น
เคล็ดลับ ดูแลเห็ด
สภาพอากาศที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดในแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน จึงต้องนำข้อจำกัดเหล่านี้มาเป็นตัวกำหนดรูปแบบของการจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน
คุณเก๋ กล่าวว่า เห็ดนางรมดำและเห็ดลม จะใช้วิธีการจัดวางก้อนเห็ดในลักษณะวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ บนพื้นดินแล้วเว้นระยะห่างระหว่างแถว โดยเห็ดนางรมดำสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นแต่ไม่มาก เพราะฉะนั้นจึงสามารถตั้งเรียงบนพื้นดินภายในโรงเรือนได้โดยตรงแล้วคลุมปิดด้านบนด้วยผ้ายาง ส่วนเห็ดลมจะชอบอากาศร้อนแต่ด้วยสภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่มีความหนาวเย็นจึงต้องรักษาอุณหภูมิให้ร้อนจากเดิมที่จะคลุมผ้ายางแค่เฉพาะด้านบนก็จะเปลี่ยนมาคลุมปิดด้วยผ้ายางทั้งหมด
นอกจากนี้แล้วยังมีเห็ดหอมที่ต้องการสภาพอากาศเย็นกว่าเห็ดชนิดอื่น เพราะฉะนั้นในโรงเพาะเห็ดหอมบริเวณพื้นดินด้านล่างที่ใช้สำหรับจัดวางก้อนเห็ดต้องมีการโรยทรายเอาไว้เพื่อช่วยรักษาความชื้นและกักเก็บความเย็นได้ดี จากนั้นจึงปิดคลุมด้านบนด้วยผ้ายาง ภายหลังจากนำก้อนเห็ดมาเข้าโรงเพาะเห็ดแล้วจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีดอกเห็ดออกมาให้เห็นก็สามารถที่จะทำการเก็บเพื่อจำหน่ายได้
ไม้เคาะหน้าเห็ด กระตุ้นสปอร์
คุณเก๋ กล่าวว่า สวนเห็ดบ้านภักดีจะเก็บเห็ดเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในทุกๆ วัน ผ่านวิธีการสังเกตดอกเห็ดที่พร้อมสำหรับจำหน่ายจะต้องมีลักษณะดอกไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป อาจใช้วิธีตรวจสอบที่ขอบดอก หากยังงุ้มอยู่แสดงว่าเหมาะแก่การเก็บ แต่ในกรณีที่ขอบดอกยกขึ้นแสดงว่าแก่จัด เห็ดทุกชนิดจะเก็บในช่วงบ่ายซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนรับซื้อจะเข้ามา ยกเว้นเห็ดหอมที่จะเก็บ 2 ช่วง คือ เช้า-บ่าย เนื่องจากเห็ดหอมจะบานไม่พร้อมกัน หากมีขนาดดอกเล็กอยู่ก็เก็บไม่ได้ หรือบานมากเกินไปก็จะไม่สวย ให้สังเกตบริเวณช่องใต้ดอกจะต้องเต็มจึงจัดว่ามีขนาดที่เหมาะแก่การเก็บจำหน่าย โดยการเก็บในแต่ละครั้งจะเว้นส่วนรากของเห็ดหอมเอาไว้เพื่อนำไปใช้แปรรูปทำข้าวเกรียบเห็ดต่อไป เมื่อเก็บเห็ดแล้วเสร็จจึงทำการรดน้ำเพื่อรักษาความชื้นให้กับเห็ดวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเย็นของทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เห็ดชนิดต่างๆ เหล่านี้จะงอกออกมาให้เก็บในปริมาณที่มากอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งภายหลังก็จะหยุดไป เพราะฉะนั้นจึงต้องทำการกระตุ้นเพื่อให้เห็ดงอกออกมาใหม่โดยใช้ไม้เคาะไปที่หน้าเห็ดเบาๆ ในเฉพาะบางถุงเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้เห็ดสร้างสปอร์
ช่องทางการจัดจำหน่าย
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายจะอาศัยการบอกกันแบบปากต่อปาก โดยมีแม่ค้ามารับซื้อเห็ดถึงสวนก่อนนำไปจำหน่ายต่ออีกทีหนึ่ง รวมถึงลูกค้าภายในชุมชนที่รู้จักกันก็จะมาซื้อไปบริโภค และยังมีลูกค้าจากช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่มีการสั่งซื้อเข้ามา เพราะเมื่อนำเห็ดจากฟาร์มแห่งนี้ไปประกอบอาหารจะมีความหวาน กรอบ อร่อย โดยเฉพาะเมนูอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือที่นิยมนำเห็ดนางรมดำไปนึ่งรับประทานคู่กับน้ำพริกข่า แล้วยังรวมถึงเมนูอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งแกงส้มเห็ด, ต้มยำกุ้ง, แกงเลียงเห็ด, เห็ดผัดน้ำมันหอย ก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เห็ดเข้าไปเป็นส่วนประกอบหลักแทบทั้งสิ้น ส่งผลให้ตลาดเห็ดยังคงขับเคลื่อนและสร้างรายได้หมุนเวียนให้อยู่โดยตลอด
ปัจจุบัน สวนเห็ดบ้านภักดียังได้มีการยื่นขอมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าเห็ดจากฟาร์มแห่งนี้สด สะอาด และยังปลอดจากสารเคมี พร้อมขยายตลาดไปสู่กลุ่มผู้บริโภควัยทำงานที่ต้องการความสะดวกในการรับประทานอาหาร จึงเพิ่มทางเลือกด้วยเมนูแหนมเห็ดที่ผลิตขึ้นมาจากเห็ดนางรมดำออกวางจำหน่าย พร้อมทั้งเมนูข้าวเกรียบเห็ดที่เลือกใช้เฉพาะส่วนรากของเห็ดหอมที่ต้องตัดออกในขณะเก็บก็นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้แล้วสวนเห็ดบ้านภักดียังมีสินค้าเกษตรทั้งผักอินทรีย์, ผักสลัด, บ๊วยสด และลำไยอินทรีย์ ให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อ
คุณเก๋ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหาร คลีน ได้ลิ้มลองเห็ดอินทรีย์จากสวนเห็ดบ้านภักดี เพราะผ่านการดูแลอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอน พร้อมส่งต่อความสุขไปสู่ผู้บริโภค ติดต่อเกษตรกร คุณชัญญาณ์ภัช ภักดี (คุณเก๋) บ้านเลขที่ 65/1 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 090-325-6453, เฟซบุ๊ก Baan Pakdee
……………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2565