“ผักไหม” คว้ารางวัลต้นแบบปลูกข้าวแปลงใหญ่ระดับประเทศ

จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 3.5 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15) 3.2 ล้านไร่ และข้าวเหนียว (พันธุ์ กข 6) 3 แสนไร่ มีผลผลิตเฉพาะข้าวหอมมะลิประมาณ 1.8 ล้านตัน (ผลผลิตเฉลี่ยของจังหวัด 585 กิโลกรัม ต่อไร่) มีมูลค่าการผลิตประมาณ 28,080 ล้านบาท

แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เพราะเป็นพื้นที่นาน้ำฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,553 มิลลิเมตร ต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ย 27.86 องศาเซลเซียส ปัญหาในการผลิตข้าวของเกษตรกรคือ มีผลผลิตและคุณภาพต่ำ เนื่องจากขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และที่สำคัญขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี เกษตรกรส่วนใหญ่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายปี

 

รวมพลังชาวนาตำบลผักไหม

กลุ่มชาวนาในตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน ได้รวมตัวกันพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่า “ต้นทุนการผลิตสูง” คืออุปสรรคสำคัญของอาชีพการทำนา เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี ขาดองค์ความรู้การผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ส่งผลให้มีผลผลิตต่ำกว่าเกณฑ์ และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นของเรา เราต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเราเอง” เป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาไปสู่ “ตำบลแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเชิงบูรณาการ เพื่อการจัดการตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้สมาชิกในชุมชน “อยู่ดี กินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น”

คุณไพฑูรย์พร้อมทีมงาน และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร

กลุ่มชาวนาจึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกร และยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนในเวลาต่อมา โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม” ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คือ คุณไพฑูรย์ ฝางคำ โทร. (081) 579-3108 พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ข้าว การปรับปรุงบำรุงดิน จนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มาตรฐานสากล

กลุ่มนี้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างลุล่วง เพราะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายตาม “ทฤษฎี 3 ขา” ประกอบด้วย

  1. ภาคเกษตรกรที่รวมตัวแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบชัดเจนตามแผนยุทธศาสตร์ที่พวกเขาวางแนวทางไว้ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เองในชุมชนกว่า 80,442 กิโลกรัม จำหน่ายแก่สมาชิกในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในชื่อ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตำบลผักไหมเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง ลดต้นทุนการผลิต
  2. ได้รับการสนับสนุนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม
  3. หน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษและสำนักงานเกษตรอำเภอ ที่ให้การสนับสนุนให้เกิดกระบวนการกลุ่ม การยกระดับกลุ่มและเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการ พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา

 

ขานรับนโยบายรัฐ “เกษตรแปลงใหญ่”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้คณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และ คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

หน่วยงานภาครัฐช่วยอบรมความรู้ด้านการผลิตกับเกษตรกรผ่าน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิต เช่น ให้บริการเพื่อบริหารจัดการน้ำ ตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อการเพาะปลูกที่เหมาะสม เป็นต้น รวมถึงระบบมาตรฐานการตรวจรับรองแปลงด้วย ส่วนภาคเอกชนเข้ามาให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร และเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรด เพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรจากสมาชิกโครงการ

สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มแห่งนี้ รวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่แล้ว ได้ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์ของเกษตรกรต้นแบบที่สามารถให้ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการที่ดี ทีมผู้จัดการแปลง ประกอบด้วย คุณประธาน พลโลหะ เกษตรอำเภอห้วยทับทัน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลง คุณสมาน โพธิ์งาม เกษตรตำบล ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการแปลง มีตัวแทนจากบริษัท สยามคูโบต้า และตัวแทนเกษตรกรเป็นประธานแปลงย่อยจำนวน 6 คน ทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจแปลงภายใน ส่วนคุณไพฑูรย์ ทำหน้าที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ

ปัจจุบันแปลงใหญ่ประชารัฐ เกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน มีสมาชิก จำนวน 248 ราย พื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 3,780 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ จำนวน 440 ไร่ ได้ผลผลิต 220 ตัน พื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์ 696 ไร่ ผลผลิต 348 ตัน และพื้นที่ผลิตข้าว GAP จำนวน 2,644 ไร่ ผลผลิต 1,322 ตัน

ทางกลุ่มได้สร้างระบบการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมคิดกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ร่วมวางแผนการผลิตแผนการตลาด ร่วมลงมือทำโดยเน้นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ร่วมแก้ไขปัญหาโดยเริ่มแก้จากรากแก้วของปัญหา และร่วมกันรับประโยชน์ในรูปแบบองค์กรเกษตรกร ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ยึดถือหลักคุณธรรม โดยมีกระบวนการในการควบคุมการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานการผลิต มีการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรสมาชิก โดยมี ศพก. เป็นแหล่งเรียนรู้

ถั่วพร้า ปุ๋ยพืชสด

คุณไพฑูรย์ บอกว่า หลังพวกเขาปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากเดิมทำนาหว่าน เป็นการทำนาดำและนาหยอด ช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ลง การทำนาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึงไร่ละ 25-35 กิโลกรัม แต่นาดำใช้เมล็ดพันธุ์เพียงแค่ 5-7 กิโลกรัม ต่อไร่ นาหยอดใช้ 8-12 กิโลกรัม ต่อไร่ นอกจากนี้ ยังใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดค่าปุ๋ยเคมีลง หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคน สามารถประหยัดต้นทุนการทำนาลดลง ทั้งนี้ การทำนาหว่านมีต้นทุนผลิตสูงถึงไร่ละ 4,620 บาท เมื่อเปลี่ยนมาทำนาดำมีต้นทุนผลิตเพียงไร่ละ 4,050 บาท ประหยัดเงินได้ไร่ละ 570 บาท ส่วนต้นทุนนาหยอดเฉลี่ยไร่ละ 3,285 บาท ลดลงได้ไร่ละ 1,335 บาท

“หลังหมดฤดูทำนา พวกเราจะใช้วิธีไถกลบตอซังเพื่อช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและปริมาณธาตุอาหารพืชในดิน ปลูกพืชปุ๋ยสด และไถกลบ ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และเปลี่ยนมาทำนาดำและนาหยอด ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น นาดำ 550 กิโลกรัม ต่อไร่ นาหยอด 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อเทียบกับการทำนารูปแบบเดิม นาหว่านได้ข้าวแค่กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น” คุณไพฑูรย์ กล่าว

 

ปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ

ความร่วมมือร่วมใจของชาวนาในชุมชนแห่งนี้ ในการพัฒนาผืนนาของพวกเขาเข้าสู่ระบบนาแปลงใหญ่ตามนโบยายรัฐบาลประสบความสำเร็จทั้งด้านการผลิต การตลาด และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ต้นแบบปลูกข้าวแปลงใหญ่ระดับประเทศ”

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ คุณไพฑูรย์ บอกว่า เกิดจากการบริหารแบบมีส่วนร่วม สมาชิกทุกคนร่วมกันคิด วางแผน ร่วมกันทำ ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมรับผลประโยชน์ ส่งผลให้สมาชิกทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มและมีข้อขัดแย้งน้อยมากภายในกลุ่ม มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกย่องผู้อาวุโสที่มีองค์ความรู้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน”

ขณะเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มตลอดเวลา ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยมีวิทยากรเกษตรด้านต่างๆ ที่เป็นต้นแบบความสำเร็จ เป็นผู้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ ได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องจักรกลการเกษตรตำบลผักไหมเพื่อให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจรแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป เช่น รถแทรกเตอร์ เครื่องดำนา เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ โดยใช้ระบบการขึ้นทะเบียนการขอรับบริการ จัดตั้งศูนย์บริการเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักรกลตลอด 24 ชั่วโมง บริการอะไหล่และค่าซ่อมบำรุงในราคาถูกกว่าศูนย์บริการเอกชน จัดส่งสมาชิกไปเรียนรู้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจากบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์

เพื่อให้การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด คุณไพฑูรย์ บอกว่า ทางกลุ่มได้จัดตั้งโรงเรียนชาวนา พร้อมจัดทำแปลงนาสาธิตให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาร่วมกัน ทั้งนี้ สมาชิกจะเริ่มเตรียมแปลงนา ตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม พอถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะเป็นระยะเตรียมปุ๋ย

แปลงปลูกมันเทศญี่ปุ่น และถั่วเหลือง พืชหลังฤดูทำนา

ในอดีต ชาวบ้านปลูกพืชซ้ำๆ โดยไม่มีการพักหน้าดิน และใช้สารเคมีติดต่อเป็นเวลานาน ทำให้ดินเสื่อมโทรมลง โครงสร้างดินเสีย ปริมาณอินทรียวัตถุในดินน้อยลง ทางกลุ่มจึงได้ส่งเสริมให้สมาชิกพลิกฟื้นดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยการปลูกปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว ที่มีคุณสมบัติลักษณะพิเศษในการช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศแล้วปลดปล่อยไนโตรเจนลงสู่ดิน ยกตัวอย่างเช่น “ปอเทือง” ที่ทนต่อความแห้งแล้ง อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่ำและให้ไนโตรเจนสูง “ถั่วพร้า” การปลูกถั่วพร้า เป็นพืชปุ๋ยสด จะใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าประมาณไร่ละ 10 กิโลกรัม ได้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2-3 ตัน ต่อไร่ (น้ำหนักสด) ได้ปุ๋ยไนโตรเจนคิดเป็นยูเรีย (46-0-0) ประมาณ 30-39 กิโลกรัม ต่อไร่

ถั่วเหลืองอินทรีย์ สินค้าขายดีอีกชนิดของกลุ่มฯ ผักไหม

ถั่วเหลือง นอกจากบำรุงดินแล้วยังช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าปีละกว่า 50,000 ล้านบาท ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ที่สำคัญใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวนาปรังถึง 4 เท่า และช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน ช่วยปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น เพิ่มการอุ้มน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยในการเจริญเติบโตของรากพืช ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะเริ่มเก็บผลผลิตถั่วเหลืองที่ปลูกในช่วงเตรียมแปลงออกขาย

แผนการผลิตและการตลาดของกลุ่มฯ ผักไหม

ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเริ่มปรับแปลงทำนา ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ชาวนาจะเตรียมกล้า และเริ่มปักดำประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน เป็นระยะบำรุงดูแลต้นข้าวให้เจริญเติบโต ระหว่างการปลูก ทางกลุ่มจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานที่กำหนดไว้ พอถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ชาวนาจะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายให้กับโรงสีข้าวชุมชนของกลุ่ม เพื่อรวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาแปรรูปและจำหน่ายในลักษณะเมล็ดพันธุ์ ข้าวสาร ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ผักไหม”

“เนื่องจากที่นี่ปลูกข้าวนาน้ำฝน จึงปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง ทางกลุ่มจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา เช่น พืชผักอายุสั้น เพาะเห็ด ปลูกถั่วเหลือง มันเทศญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงดูแลครอบครัวอีกทางหนึ่ง” คุณไพฑูรย์ กล่าว

อนึ่ง การทำข่าวรายงานพิเศษจังหวัดศรีสะเกษในครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ได้ เพราะได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล จากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คุณประเสริฐ รังสี” รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ “คุณนพดล วงษ์ขันธ์” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรวิชาการ ชำนาญการ “คุณถิรพุทธ คานทอง” เกษตรอำเภอขุนหาญ “คุณฉัตรยา ชาวดง” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร “คุณสุรชัย เตินสูงเนิน” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ “คุณสุพัตรา สายหล้า” ผู้ช่วยแปลงใหญ่ ที่ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จึงขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้