เห็ดเป๋าฮื้อ 4 สายพันธุ์ ของ กรมวิชาการเกษตร

เห็ดเป๋าฮื้อ หรือเรียกกันทั่วไปว่า เห็ดหอยโข่งทะเล ในประเทศไทยมีรายงานการพบในธรรมชาติน้อยมาก ที่เห็นกันอยู่ในตลาดล้วนเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น

การเก็บผลผลิตด้วยมือ จับบริเวณคอขวดให้แน่น อีกมือดึงดอกเห็ดออกจากก้อน ควรเก็บเมื่อดอกบานเต็มที่

คุณอนุสรณ์ วัฒนกุล นักวิชาการโรคพืชชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร บอกว่า การเพาะเห็ดเป๋าฮื้อในประเทศไทยมีมานานกว่า 40 ปี โดยการนำเข้าสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อมาจากประเทศไต้หวัน เพื่อผลิตบริโภคสดและบรรจุกระป๋องส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ

ปัจจุบัน เห็ดเป๋าฮื้อในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ดอกสีเทาดำและสายพันธุ์ดอกสีครีม บางสายพันธุ์ก้านดอกสั้น บางสายพันธุ์ก้านดอกยาว คุณอนุสรณ์ บอกว่า เกิดจากการนำสายพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศ จึงอาจมีบ้างจากสายพันธุ์ที่นำเข้ามาเพาะนั้น เมื่อเพาะไปนานๆ หลายรุ่น ก็เริ่มมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น

นอกจากนั้น สายพันธุ์ในท้องตลาดยังมีข้อด้อย เช่น เห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์ดอกสีดำ เนื้อดอกกรอบ/แตกหักง่าย อายุการเก็บรักษาสั้น จึงไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค บางสายพันธุ์มีก้านดอกสั้น แต่เนื้อดอกไม่แน่นและให้ผลผลิตน้อย

เห็ดเป๋าฮื้อ 2

 

เริ่มพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อ

คุณอนุสรณ์ เล่าว่า เนื่องจากกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ มีภารกิจในการรวบรวมและให้บริการเชื้อพันธุ์เห็ดบริสุทธิ์แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการ จึงได้เริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อให้มีคุณภาพดีกว่าสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด

ในช่วงปี 2541-2542 คุณพรรณี บุตรธนู และคณะผู้ร่วมวิจัยได้คัดเลือกสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อ จากศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย 8 สายพันธุ์ โดยทดสอบ 2 สถานที่ คือ จังหวัดเชียงรายและกรุงเทพมหานคร ในช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งพบว่ามี 3 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จึงใช้เป็นสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรที่แนะนำให้เกษตรกรนำไปเพาะ โดยให้ชื่อว่าเห็ดเป๋าฮื้อ 1 เห็ดเป๋าฮื้อ 2 และเห็ดเป๋าฮื้อ 3

 

พบดอกเห็ดบนซากต้นมะม่วง ต้นทองหลาง

คุณอนุสรณ์ เล่าต่อไปว่า ประมาณปี 2554 ได้ไปพบเห็ดลักษณะรูปร่างคล้ายเห็ดเป๋าฮื้อที่กรุงเทพฯ นี่เอง จึงได้เก็บรวบรวมสายพันธุ์ไว้ เพื่อหวังจะใช้ประโยชน์ในอนาคต

ต่อมาในปี 2558 ได้ไปพบเห็ดเป๋าฮื้ออีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่เกิดขึ้นบนซากต้นทองหลางบ้าน ที่จังหวัดราชบุรี

“ได้ทดลองเอาสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ที่พบในธรรมชาตินี้มาเพาะทดสอบเบื้องต้น เพื่อสังเกตลักษณะดอกและการให้ผลผลิต พบว่ามีการให้ผลผลิตและมีลักษณะดอกค่อนข้างดี”

เห็ดเป๋าฮื้อ 4

 

ได้เห็ดสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ เห็ดเป๋าฮื้อ 4

กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดได้ทำการทดลองเพาะเห็ดเป๋าฮื้อที่พบในธรรมชาติทั้ง 2 สายพันธุ์ โดยเพาะทดสอบเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อที่เก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย 15 สายพันธุ์ รวมเป็น 17 สายพันธุ์

คุณอนุสรณ์ บอกว่า เมื่อปี 2560-2561 ได้เพาะทดสอบในโรงเรือนของกรมวิชาการเกษตร เมื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและมีลักษณะดอกค่อนข้างดีในเบื้องต้นแล้ว จำนวน 5 สายพันธุ์ ต่อมาในปี 2562-2563 จึงได้เพาะทดสอบในโรงเรือนของกรมวิชาการเกษตรอีกครั้ง และนำไปเพาะทดสอบในฟาร์มเกษตรกรอีก 2 ฟาร์ม พบว่ามีสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อที่ให้ผลผลิตดี มีลักษณะดอกตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งก็คือสายพันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อที่พบขึ้นบนซากต้นมะม่วง ที่กรุงเทพฯ นั่นเอง และได้นำมาเป็นสายพันธุ์ที่แนะนำให้เกษตรกรนำไปเพาะเพื่อสร้างอาชีพ โดยให้ชื่อว่า เห็ดเป๋าฮื้อ 4

สรุปแล้วกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดได้ค้นพบเห็ดเป๋าฮื้อและพัฒนาจนเป็นเห็ดเป๋าฮื้อ 4 สายพันธุ์กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2558-2563 ใช้เวลารวม 6 ปี

เห็ดเป๋าฮื้อ 4

ลักษณะของเห็ดเป๋าฮื้อ 4

ดอกเห็ดเป็นสีครีมหรือน้ำตาลเทา มีทรงดอกรูปพัด ดอกหนา ก้านอวบ ความยาวก้านปานกลาง ลักษณะการเกิดดอกเป็นดอกเดี่ยว หรือกลุ่ม จำนวน 12 ดอก ต่อช่อ ดอกเห็ดมีขนาด 10.91×7.93 เซนติเมตร ขอบดอกค่อนข้างเรียบ สามารถให้ผลผลิตสูงถึง 120-220 กรัม/ถุง/รอบการผลิต ดอกเห็ดสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 3 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส

 

เป๋าฮื้อ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

คุณอนุสรณ์ กล่าวว่า เห็ดเป๋าฮื้อมีรสชาติอร่อย เนื้อดอกแน่นและกรอบ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะต้ม ผัด ปิ้ง ย่าง ชุบแป้งทอด หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับทอดมันปลา จะได้รสสัมผัสคล้ายทอดมันปลาหมึก นอกจากความอร่อยแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

คุณค่าทางอาหารที่สำคัญ (มิลลิกรัม/100 กรัม)

โปรตีน               15.68

ไขมัน                2.05

ใยอาหาร (Fibre) 20.05

คาร์โบไฮเดรต      55.92

เถ้า (Ash)           6.30

พลังงาน (Kcal)   304.85

แคลเซียม           332.52

ทองแดง             2.86

เหล็ก                 16.14

โพแทสเซียม       1,986.57

แมกนีเซียม        213.71

แมงกานีส          3.90

ฟอสฟอรัส          606.32

สังกะสี               09.82

ที่มา : Hoa et al. (2015)

เห็ดเป๋าฮื้อ 3

 

การเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ

การเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ มีขั้นตอนเหมือนกับการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกชนิดอื่นๆ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ การผลิตเชื้อบริสุทธิ์ การผลิตเชื้อขยายหรือเชื้อเพาะ การผลิตถุง/ก้อนเชื้อเห็ด และการเปิดดอก โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะขั้นตอนการผลิตถุง/ก้อนเชื้อเห็ด และการเปิดดอก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถทำได้เอง

 

การผลิตถุงเชื้อเห็ด

สูตรอาหารเพาะ

ขี้เลื่อยไม้ยางพารา                       100                   กิโลกรัม

 รำละเอียด                                 5                      กิโลกรัม

 ดีเกลือ (MgSO4)                          0.2                   กิโลกรัม

ปูนขาว (CaCO3)                         1                      กิโลกรัม

 

การเตรียมถุงอาหารเพาะ

1.ผสมวัสดุทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน พรมด้วยน้ำสะอาดให้มีความชื้น ประมาณ 60-70% โดยใช้มือกำวัสดุเพาะที่ผสมกันแล้ว บีบให้แน่น สังเกตไม่มีน้ำไหลออกมา เมื่อปล่อยมือวัสดุยังจับตัวเป็นก้อน

  1. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน กดให้แน่นตึง ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม/ถุง
  2. รวบปากถุงบีบไล่อากาศออก สวมคอพลาสติก พับปากถุงพาดลงมารัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้มด้วยกระดาษ หรือปิดด้วยฝาจุกพลาสติก
  3. นำถุงอาหารเพาะไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งไม่อัดความดัน อุณหภูมิ 90-100 องศาเซลเซียส เวลาไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง นำถุงอาหารเพาะที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วออกจากถังนึ่งทิ้งไว้ให้เย็น

 

การใส่เชื้อเห็ด

เห็ดเป๋าฮื้อ 4

เชื้อขยาย หรือเชื้อเพาะ ต้องไม่มีการปนเปื้อนจากเชื้อเห็ดชนิดอื่น และศัตรูเห็ด (ไวรัส จุลินทรีย์ ไร แมลงและสัตว์อื่นๆ) โดยใส่เชื้อขยายในเมล็ดข้าวฟ่างลงในถุงอาหารเพาะ ถุงละประมาณ 10-15 เมล็ด เขย่าเมล็ดข้าวฟ่างให้กระจายออก การใส่เชื้อให้เปิดและปิดจุกสำลีถุงอาหารเพาะโดยเร็ว และปฏิบัติในพื้นที่ที่สะอาด มิดชิด ไม่มีลมโกรก

 

การบ่มเส้นใย

บ่มถุงเชื้อเห็ดในที่ร่ม สะอาด ไม่โดนฝนหรือละอองน้ำ อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิ 25-32 องศาเซลเซียส เส้นใยใช้เวลาเดินเต็มถุงขนาด 1 กิโลกรัม ประมาณ 60 วัน หลังเส้นใยเจริญเต็มถุง จึงนำเข้าโรงเปิดดอก

 

การเปิดดอกและการดูแล

โรงเรือนเปิดดอกต้องมีขนาดสัมพันธ์กับจำนวนถุงเชื้อเห็ด สามารถรักษาอุณหภูมิ ความชื้น ให้เหมาะสมต่อการเกิดดอกเห็ด โดยผนังทำด้วยวัสดุที่เก็บรักษาความชื้นภายในโรงเรือนได้ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี โดยให้มีช่องเปิด-ปิด สำหรับถ่ายเทอากาศ มีแสงผ่านเข้าในโรงเรือนได้ (แสงที่สามารถอ่านหนังสือได้ หรือใช้ตาข่ายพรางแสง ขนาด 80 เปอร์เซ็นต์) มีความสะอาด หลังคาควรทำด้วยวัสดุกันน้ำ การวางถุงเชื้อเห็ดนิยมวางเรียงแนวนอน ความสูงไม่เกิน 1.5 เมตร บนชั้นวางหรือแขวน

เห็ดเป๋าฮื้อ 1

 

การเปิดดอก และกระตุ้นการสร้างดอก

  1. 1. เปิดดอกโดยถอดจุกสำลี และแคะข้าวฟ่างบริเวณหน้าก้อนด้วยอุปกรณ์ที่สะอาด
  2. ให้น้ำในโรงเรือนและบริเวณถุงเชื้อเห็ด เพื่อปรับความชื้นภายในโรงเรือนให้ได้ 70-90 เปอร์เซ็นต์
  3. ปรับโรงเรือนให้มีอุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียส ประมาณ 5-7 วัน จนเริ่มมีตุ่มดอก
  4. รักษาอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ที่ 28-32 องศาเซลเซียส และให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี เมื่อดอกเห็ดมีขนาดโตขึ้นรักษาความชื้นภายในโรงเรือนที่ 70-90 เปอร์เซ็นต์
  5. ให้มีแสงสว่างปานกลางเพื่อให้มีการพัฒนาของดอกเห็ด

 

การเก็บผลผลิต

เห็ดเป๋าฮื้อ 1

เก็บผลผลิตด้วยมือ โดยจับบริเวณคอขวดให้แน่นแล้วใช้มืออีกข้างดึงดอกเห็ดออกจากก้อน ควรเก็บดอกขณะที่ดอกบานเต็มที่ แต่ขอบหมวกยังไม่บานย้วย เก็บดอกเห็ดในช่อเดียวกันให้หมด และเก็บส่วนต่างๆ ของดอกเห็ดให้หลุดออกจากหน้าถุงเห็ดจนหมด เพื่อป้องกันการเน่าเสียจากเศษ หรือส่วนของดอกเห็ดที่เหลือติดอยู่ พร้อมทำความสะอาดพื้นโรงเรือนเปิดดอก เมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้วไม่ควรล้างเห็ดหรือทำให้ดอกเห็ดเปียก ใช้มีดหรือกรรไกรตัดส่วนโคนที่มีเศษ    ขี้เลื่อยติดออกทิ้ง ก่อนบรรจุลงภาชนะ ดอกเห็ดเป๋าฮื้อมีราคาจำหน่าย 80-100 บาท ต่อกิโลกรัม ก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อ ขนาด 1 กิโลกรัม ให้ผลผลิตประมาณ 109.32-222.81 กรัม/ถุง ในระยะเวลาเก็บผลผลิต 4 เดือน

เห็ดเป๋าฮื้อ 2
เห็ดเป๋าฮื้อ 3

คุณอนุสรณ์ กล่าวว่า ผู้ผลิตเชื้อขยายหรือเชื้อเพาะ หากสนใจเชื้อพันธุ์เห็ดบริสุทธิ์บนอาหารวุ้น พีดีเอ สามารถติดต่อขอซื้อเชื้อบริสุทธิ์ หรือขอคำแนะนำในการเพาะเห็ดได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร. 02-579-0147, 02-561-4673