เครือซีพี ผนึกกำลังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท

โครงการ อมก๋อยโมเดล แปลงฟักทอง

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน “อมก๋อยโมเดล” ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ หวัง “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี สนับสนุนเงินทุน และการตลาด มุ่งส่งเสริมการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โครงการ อมก๋อยโมเดล สวนกาแฟสหายมิตร

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าต้นนำที่เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำลำธารตามธรรมชาติ จึงผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาทิ โลตัส แม็คโคร ทรู ซีพีเอฟ ฯลฯ และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 2564-2568 “อมก๋อยโมเดล” เพื่อมุ่ง “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ด้วยการปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่เป้าหมาย 10,000 ไร่  ด้วยเกษตรกร 710 ครัวเรือน เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise (SE) ใน 6 วิสาหกิจชุมชน พร้อมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนใน 20 โรงเรียน ด้วยโมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน ผ่านการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานชุมชนเข้มแข็ง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

“โครงการอมก๋อยโมเดล เกิดจากดำริของ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือซีพี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าอมก๋อย ซึ่งพื้นที่ 99% เป็นป่าต้นน้ำ ดังที่มาของชื่อ อมก๋อย ที่มาจากคำว่า อำกอย เป็นภาษาเลอเวือะ หรือภาษาละว้า แปลว่า ขุนน้ำหรือต้นน้ำ โดยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ทั้งลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น ที่เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลับมีสภาพที่เสื่อมโทรม และยังนับเป็นการสนองแนวพระราชดำริ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พื้นที่อมก๋อยมีวิถีแห่งชาติพันธุ์ เพราะถือเป็นอำเภอที่มีชุมชนกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี เงินทุน และการตลาด จึงเกิดแนวคิดในการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนที่สูง โดยให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง พื้นที่เป็นตัวตาม แล้วซีพีเป็นตัวเติม ให้ชาวบ้านเข้าใจ เข้าถึง สู่การพัฒนา” นายจอมกิตติ กล่าว

ภาพโครงการ อมก๋อยโมเดล แปลงกาแฟ สร้างป่า

นายจอมกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันดำเนินตาม 3 แผนยุทธศาสตร์ ทั้ง ยุทธศาสตร์ 1 ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกป่าต้นต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ ด้วยการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) มีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟรวม 1,000 ไร่ สำหรับในปี 2564 มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกจำนวน 130 ไร่ โดยดำเนินการในบ้านเกียนใหม่ ตำบลนาเกียน บ้านปิตุคี ตำบลยางเปียง และบ้านยางเปียงใต้ ตำบลยางเปียง โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการ 72 ราย พร้อมมีแผนสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชน จำนวน 1 โรง ในนามโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชน กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade-grown Coffee) อมก๋อยโมเดล สนับสนุนโดยเครือซีพี ซึ่งถือเป็นกิจการเพื่อสังคม (SE) โดยมีเป้าหมายสร้างกำไรสุทธิ 10,000 บาท/ไร่ ส่วน ยุทธศาสตร์ 2 สร้างอาชีพรายได้ที่ยั่งยืน เกษตรมูลค่าสูง และกิจการเพื่อสังคม โดยในปี 2564 ดำเนินการส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมด้วยพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ได้แก่ ฟักทอง เพื่อจำหน่ายแก่โลตัส (LOTUS’s) และตลาดเครือข่าย โดยดำเนินการในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ตำบลนาเกียน มีเกษตรกรร่วมโครงการ จำนวน 15 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ปริมาณผลผลิตฟักทอง ประมาณ 64 ตัน ใน 32 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร 960,000 บาท หรือประมาณ 64,000 บาท ต่อราย และ ยุทธศาสตร์ 3 สร้างชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยโครงการข้าวไร่ 1-2-3 ในแปลงไร่หมุนเวียน เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย ดำเนินการในบ้านปิตุคี ตำบลยางเปียง จำนวน 2 ราย ควบคู่กับโครงการการศึกษา (ทรูปลูกปัญญา) โดยดำเนินการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในพื้นที่อำเภออมก๋อย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 20 โรงเรียน