ม.มหิดล มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพิ่มความเชื่อมั่นไทยสู่ประเทศอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์บริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Center for Occupational Safety Health and Workplace Environment Management; COSHEM) ภายใต้การกำกับดูแลโดย รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลัง ความสำเร็จในการจัดทำ “Peer Evaluation” หรือ มาตรฐานระบบตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัยในรูปแบบการยอมรับร่วม โดยมุ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับประเทศ และนับเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรอง Peer Evaluation มากที่สุดของประเทศ

การประเมินมาตรฐาน Peer Evaluation มีทั้งหมด 137 ข้อใน 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 1. การบริหารระบบการจัดการด้านความปลอดภัย 2. ระบบการจัดการสารเคมี 3. ระบบการจัดการของเสียสารเคมี 4. ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ และเครื่องมือ 5. ระบบการป้องกันและแก้ไขภัยอันตราย 6. การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และ 7. การจัดการข้อมูลและเอกสาร

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถครองแชมป์ Peer Evaluation ของประเทศไทย จากการมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และได้มีการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง โดย วช. กำหนดเกณฑ์รับรองห้องปฏิบัติการปลอดภัย โดยมีคะแนนองค์ประกอบรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 คิดแยกตามองค์ประกอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละองค์ประกอบและจะต้องมีอย่างน้อย 1 องค์ประกอบที่ได้คะแนนเต็ม 100% อายุการรับรอง 3 ปี

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th