กะทือ ชื่อเข้มขลัง ยังน่ารัก เป็นผักเป็นยาเยี่ยมยอด

ในคอลัมน์ “แปลกที่ชื่อ แต่ฉันคือต้นไม้” ของ เมย์วิสาข์ หน้าต้นๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มักเอ่ยถึงต้นไม้ที่มีชื่อแปลกๆ บางชื่อก็เข้าใจได้ง่าย ชื่อบางอย่างก็ยากที่จะเข้าใจ

จริงที่ต้นไม้มักจะมีการตั้งชื่อ หรือเรียกขานกันตามอัตลักษณ์ของต้นไม้นั้น เช่น ต้นดอกบานไม่รู้โรย ดอกทานตะวัน คุณนายตื่นสาย บอนสี บอนจืด บอนคัน หน่อไม้คาย ไผ่ตงดำ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดเขียว ผักกาดจ้อน ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ผักหนาม ชื่อที่เสริมพลังก็มีมากมาย ยิ่งชื่อที่เรียกใหม่ให้เป็นที่สะดุดใจ เช่น มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงหาวมะนาวโห่ เล็บครุฑ พญาไร้ใบ เพชรสังฆาต กำลังช้างสาร เสลดพังพอน มันปู ข้าวลืมผัว พ่อค้าตีเมีย ฟ้าทะลายโจร (น่าจะเขียน “ฟ้าทลายโจร” ถึงจะถูกนะ)

หรือแม้แต่ที่เปลี่ยนชื่อแล้วเชื่อว่าจะเป็นมงคล เช่น เสลดพังพอนตัวเมีย เรียก พญายอ ตดหมูตดหมา ชื่อ กระพังโหม และพืชเก่าชื่อใหม่ อีกหลากหลายชื่อเรียก อย่างพืชผักสมุนไพรต่างๆ อย่างตระกูล หรือวงศ์ขิง มีหลายสกุล และแตกย่อยหลากหลายชนิด ได้แก่ ขิง ขิงใหญ่ ขิงเล็ก ขิงแกลง ขิงแมงดา ข่า ข่าลิง ข่าหยวก ข่าเหลือง ขมิ้น ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย กระชาย กระชายขาว กระชายดำ ไพร หรือ ปูเลย ดาหลา กระเจียว เยอะแยะมากมาย

เช่นเดียวกันกับพืชนี้ เขามีชื่อ “กะทือ” ฟังดูคล้ายเสียงครางของนกถึดทือ นกเรียกทรัพย์ ที่มักช่วยทำให้นักเล่นพนันรวย บ่อนเจ๊ง เพราะความเข้มขลังของถึดทือ นกตระกูลนกฮูก นกเค้าแมว กะทือ คือสมุนไพรที่ทรงพลัง เข้มขลัง เป็นยาดีที่หมอยาไทยใช้มาเนิ่นนาน ตำราบอกว่ามีถิ่นกำเนิดทางเอเชียใต้ คืออินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ไทย มาเลเซีย ลาว ถึงอินโดนีเซีย กะทือ หรือ Shampoo Ginger หรือ Wild Ginger เป็นพืชในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L)

ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน เรียก กะแวน กะแอน กะทือป่า เฮียวดำ แฮวดำ เฮียวแดง ภาคใต้ เรียก ทือ ทื่อ ภาคกลาง เรียก กระทือ หรือ แสมดำ เนื่องด้วยคุณลักษณะของพืชตระกูลขิง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก ทั้งลักษณะต้น ใบ ดอก แถมยังมีเหง้าแง่ง ที่คล้ายกัน เช่น กะทือ ขิง ขมิ้นขาว ไพร คนที่เคยใช้เคยกิน เคยลิ้มรสชาติ เคยสูดดมกลิ่น หรือเคยปลูก จะรู้จัก มือใหม่แยกไม่ค่อยออก ว่าอะไรเป็นอะไร

กะทือ เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี มีลำต้นคือเหง้าใต้ดิน เหง้าใหญ่แตกแขนงเป็นกอใหญ่มาก เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม เมื่อโดนคมมีดตัด มักจะมีน้ำเมือกยางซึมออกมา ทำให้รอยตัดมีสีคล้ำดำ คล้ายเนื้อเน่าเสีย หรือเป็นพิษ นั่นคือฤทธิ์ของยาดีที่แฝงอยู่ ต้นกะทือ หรือต้นเทียม คือก้านใบที่เกิดจากกาบใบเรียงซ้อนหุ้มตัว อัดแน่น ต้นใหม่จะแทงหน่อจากเหง้าใต้ดิน

เมื่อได้รับน้ำ หรือในฤดูฝน สูงประมาณ 1 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม หลังใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวนวล ดอก เป็นช่อเชิงซ้อน ก้านดอกแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดินเช่นเดียวกัน ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบประดับสีเขียว แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ซ้อนเรียงกลีบกันเป็นตุ้มกลม ขอบใบพับเข้าข้างใน ดอกสีขาวอมเหลืองโผล่ออกตามซอกใบประดับ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เมื่อแก่จะเกิดผล และเมล็ดสีดำมัน ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ แยกเหง้า จากกอที่ขยายใหญ่ ชอบดินร่วน สภาพป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบพื้นที่สูงภาคเหนือ และพื้นที่ข้างห้วย หนอง คลอง บึง ริมธารน้ำแถบภาคกลาง ภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันตก

ชาวบ้านนิยมนำหน่อกะทือมารับประทานสด แกล้มกับแกงเผ็ด ลาบ ยำ หน่อและดอกต้มจิ้ม น้ำพริก หัวเหง้าและหน่อ ใส่แกงเผ็ดเนื้อ แกงปลา ต้มยำปลาทู ผัดฉ่ากบ ผัดเผ็ดปลาไหล หลนปลาดุกร้า แกงคั่วอึ่งอ่าง แกงแคตะกวดแลน แกงใส่ปลาย่าง แกงไตปลา อ่อมเขียด คั่วกลิ้ง แกงป่านกกะทือ แกงหอยขม พล่าหอยโข่ง ตำน้ำพริกกะทือ พริกกะปิหวานจิ้มมะม่วงเบา และอีกหลายอย่าง ที่คิดสรรหามาทำเป็นกับข้าวชาวบ้านชนบท กะทือ ให้รสชาติขื่นปร่า ขม เผ็ดเล็กน้อย การนำมาทำอาหาร ต้องหั่นซอยเป็นเส้นเล็กๆ คั้นน้ำเกลือ ล้างน้ำ 2-3 เที่ยว

กะทือมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ของปลาได้ดีมาก ส่วนอื่นๆ ของต้นกะทือที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ใบ ใช้ห่อของ ห่อผักสด ห่อข้าว ห่อของปิ้งย่าง ลำต้นเทียมผ่าเป็นเส้น ใช้เป็นเชือกมัดของ มัดผัก ดอกสวยงามเป็นดอกประดับแจกัน ในงานมงคล หรืออวมงคลต่างๆ จะปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเพิ่มความสวยงาม เติมความเข้มขลัง ให้อาคารสถานที่ เพิ่มเสน่ห์ดุจมีมนต์ขลัง

สรรพคุณเป็นสมุนไพรชั้นยอด ระดับแถวหน้าทีเดียว สรรพคุณทางยา กว่า 200 อย่าง เป็นพิกัดยาตรีผลาธาตุ กำกับบำรุงรักษาธาตุในร่างกาย ทั้งธาตุไฟ หรือ ปิตตะธาตุ ธาตุน้ำ หรือ เสมหะธาตุ ธาตุลม หรือ วาตะธาตุ ซึ่งธาตุเจ้าเรือน ทั้ง 3 ธาตุ มีผลกระทบโดยตรงกับธาตุดิน หรือ ปฐวีธาตุ ซึ่งเป็นธาตุโครงสร้างหลักที่ตั้งของธาตุทั้งหลาย เป็นยาบำรุงน้ำนมสตรี เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมจุกเสียด ขับลม จุกเสียดแน่นท้อง แน่นหน้าอก แก้ปวดท้องมวน บิด บ่วง อุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดประจำเดือน บำรุงกำลัง ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ แก้โรคผอมแห้งแรงน้อย ขับเลือดเน่าเลือดเสียในเรือนกาย ขับน้ำย่อยลงลำไส้ แก้ไข้ แก้พิษเสมหะ สารสกัดใช้กำจัดเหาได้ดีมาก นอกจากเป็นยารักษาโรคต่างๆ ของคนแล้ว ยังใช้รักษาโรคของสัตว์เลี้ยงได้ด้วย

“กะทือ” คือสมุนไพรรักษาโรคได้ดีสุดยอด ที่ชาวบ้านและหมอยาไทยรู้จักมาเนิ่นนาน ได้มีการนำเอาวิทยาการต่างๆ มาปรับปรุงเกิดวิธีการใช้ และพัฒนาหารูปแบบแปรรูปเป็นยาตามแบบยาแผนปัจจุบัน และยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณที่ได้มาตรฐาน ซึ่งอีกไม่นาน การบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จะพลิกหันกลับคืนสู่สามัญ เรามีธาตุดินเป็นฐานตั้งต้น ต้นกำเนิดชีวิตเรามาจากดิน มีธาตุอื่นเป็นองค์ประกอบ ทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบทั้งทางดี คือการเจริญเติบโต สมบูรณ์ แข็งแรง ทางเสีย คือโรคภัย เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหลาย สมุนไพรคือสามัญ ที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถกำกับ ควบคุม ดูแล ปกป้อง รักษา คุ้มครอง องคาพยพของร่างกายคนเราได้ดี เป็น  อินทรียสาร ที่ดียิ่งกว่าอนินทรียสาร หรือสารเคมีใดๆ ถึงรักษาโรคได้หายช้า แต่รักษาได้หายขาด

วันนี้เราคงคิดที่จะปลูก “กะทือ” สมุนไพรโบราณไว้สักกอ หวังว่าสักวันมันจักสำแดงความขลัง และคุณค่ามาให้เห็นเป็นแน่แท้