อกม. ต้นแบบ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สู่การพึ่งพาตนเอง ยุค New Normal

อกม. เป็นคำย่อ มาจาก “อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน” ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อให้อาสาสมัครเกษตรที่มีอยู่หลากหลายสาขาได้ผนึกกำลังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร แต่ยังขาดผู้ประสานงานระหว่างอาสาสมัครเกษตรกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงกำหนดให้มีผู้แทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านละ 1 คน เรียกว่า อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของอาสาสมัครเกษตรสาขาต่างๆ เกษตรกรในหมู่บ้าน และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการงานพัฒนาการเกษตรตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในหมู่บ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ

.เกษตรตำบลเยี่ยมแปลงข้าวไร่แซมยางพารา ของคุณกนกวรรณ สารวัตร

ความมั่นคงด้านอาหารเป็นวิธีการหนึ่งในการส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค ซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร หมายถึง สภาพการณ์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียงทั้งปริมาณและคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม ตามความต้องการเพื่อการสุขภาวะที่ดี รวมทั้งมีการผลิตที่เกื้อหนุน มีการสำรองอาหารทั้งในภาวะปกติหรือภาวะเกิดภัยพิบัติ เช่น สาธารณภัยหรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 มิติ ได้แก่ 1. การมีอาหารเพียงพอ 2. การเข้าถึงอาหาร 3. การใช้ประโยชน์จากอาหาร 4. เสถียรภาพด้านอาหาร

คุณกนกวรรณ กับผลผลิตข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า

คุณกนกวรรณ สารวัตร อกม. คนเก่ง วัย 48 ปี แห่งบ้านทุ่งนานายดำ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน อกม. ที่เป็นแบบอย่างในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน และการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณกนกวรรณเป็นคนขยันและรักในอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน พื้นที่รวมกว่า 30 ไร่ มีการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันหลายช่วงอายุเพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้หลากหลายและมีรายได้สม่ำเสมอ

คุณกนกวรรณ เกษตรตำบล และผลผลิตจากแปลง

ในพื้นที่สวนยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี จะปลูกพืชแซมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชแซมที่ให้ความสำคัญมาเป็นลำดับแรก คือ การปลูกข้าวไร่ เพราะข้าวถือเป็นอาหารหลักของครัวเรือน การปลูกข้าวไว้บริโภคเองทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้ทานข้าวที่มีคุณภาพและปลอดภัย พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก ได้แก่ ข้าวไร่พันธุ์ดอกข่า และข้าวเหนียวช่อไม้ไผ่ โดยจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี นอกจากนี้ ยังปลูกพืชแซมอีกหลายชนิด เช่น สับปะรด ข้าวโพดหวาน กล้วย พริก มะเขือ

แปลงสับปะรดปัตตาเวีย

ในพื้นที่อีกประมาณ 2 งาน รอบๆ บริเวณบ้าน มีการทำกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย เน้นการปลูกพืชทุกอย่างที่ชอบทาน ทานทุกอย่างที่ปลูก หากมีเหลือก็แบ่งปันและจำหน่ายในชุมชน ทั้งไม้ผล พืชผัก และสมุนไพร ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ส้มโอ ขนุน จำปาดะ มะนาว สะตอ มะพร้าว มะละกอ เสาวรส กระท้อน มะม่วง ลำไย ไผ่ ถั่วฝักยาว มะระ ฟักทอง ผักกาด ผักบุ้ง ผักชี ผักเหมียง กุยช่าย พริก มะเขือ มะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า ขมิ้น มันแกว ชะอม กะเพรา โหระพา ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กระชายดำ พริกไทย ฯลฯ ซึ่งปลูกหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ทุเรียนหมอนทอง

ด้วยความที่เป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตอาสาในงานส่วนรวม ชอบทำบุญแบ่งปันสุข และมักบริจาค อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ให้แก่โรงพยาบาล วัด และโรงเรียน มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลผลิตกับเพื่อนบ้านและชุมชนเป็นประจำ ทำให้มีผลผลิตที่หลากหลายให้สามารถบริโภคได้อย่างเพียงพอสม่ำเสมอ

คุณกนกวรรณ อัพเดทกิจกรรมเกษตรผ่านเฟซบุ๊ก

คุณกนกวรรณเป็นคนใฝ่รู้ เมื่อมีกิจกรรมการฝึกอบรมต่างๆ ที่หลายหน่วยจัดขึ้น ก็ไม่พลาดที่จะต้องเข้าร่วมอยู่เป็นประจำเพื่อพัฒนาตนเอง จึงทำให้มีความรู้และเครือข่ายมากขึ้น เมื่อเรียนรู้มาแล้วก็จะนำกลับมาปฏิบัติ เช่น การทำปุ๋ยหมักใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต การขยายพันธุ์พืช การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย การแปรรูปผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในด้านเคหกิจเกษตร สามารถปรุงประกอบอาหารและถนอมอาหาร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและโภชนาการ มีการจัดบ้านเรือนที่ถูกสุขลักษณะ เป็นแบบอย่างของบ้านเกษตรสมบูรณ์

การส่งเสริม อกม. ปลูกพืชสมุนไพร (กระชายขาว) ในตะกร้า

คุณกนกวรรณเป็นคนทันสมัยสามารถใช้การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและไลน์ให้เป็นประโยชน์ โดยมีการอัพเดทกิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่สม่ำเสมอ เมื่อมีผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคและแบ่งปันแล้วก็ยังสามารถจำหน่ายได้หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะมีผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัยและราคาเป็นกันเอง แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือแบบ New Normal ก็ตาม เชื่อว่า การสร้างความมั่นคงด้านอาหารในแบบที่คุณกนกวรรณ สารวัตร อกม. คนเก่ง ได้ทำมาโดยตลอด จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน

สนใจเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ คุณกนกวรรณ สารวัตร โทร. 099-487-9890 Facebook : Nok Kanokwan หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681