จับตาวิกฤตอาหารโลก ไทยได้โอกาส ดันส่งออกผงาด ในฐานะครัวโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงอาหาร ในขณะนี้ว่า ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชากรประมาณ 193 ล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ศกช.) ได้สรุปประเด็นสำคัญของวิกฤตการณ์อาหารโลก (Global Food Crisis) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบด้วยประเด็นที่น่าจับตา เพราะหากพิจารณาแล้ว ประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะข้าวสาลี ปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน

อีกทั้งการส่งออกสินค้าไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้น หลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังส่งผลให้รัสเซีย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อย่างโพแทสและซัลเฟต งดการส่งออก ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นเช่นเดียวกัน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นการจุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาระบุว่า ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน (Food Protectionism) และธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอเพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และหากมองในมุมวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญ หรือครัวของโลก โดยจะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 (มกราคม-เมษายน 2565) ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสินค้าเกษตรไทย สามารถส่งออกไปโลกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 23.22) กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูนาปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมไปถึงการสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นการสร้างการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในท้องถิ่นและลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลจิสติกส์อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการรับมือกับสภาวะวิกฤตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะให้ภาคเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข็งแกร่งภายใต้วิกฤตต่างๆ โดยต้องการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรไทยตามนโยบาย Next Normal 2022 ที่มุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Economy Model เช่น การนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตพลังงาน การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อพลังงาน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตร เป็นต้น จะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาพลังงานของประเทศที่นับวันราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะสูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมกัน