เผยแพร่ |
---|
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผนึกกำลังธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงการคลัง พัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พร้อมช่องทางในการรายงานทางการเงินสหกรณ์ เชิญตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ต้องรายงานข้อมูลทางการเงินมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกเดือน ส่วนแผนระยะยาวจะมีการสร้างระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถติดตามฐานะและผลประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กำหนดหลักเกณฑ์ให้สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป นำส่งงบดุล งบกำไรขาดทุนแบบละเอียดและข้อมูลตามแบบฟอร์มการรายงานข้อมูลทางการเงินมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งขณะนี้ได้มี การจัดทำแบบรายงานทางการเงินของสหกรณ์ แบ่งเป็น 8 แบบ ได้แก่ 1.แบบรายงานรายละเอียดการลงทุนในหลักทรัพย์ 2.แบบรายงานลูกหนี้เงินให้กู้ยืม 3.แบบรายงานลูกหนี้เงินให้กู้ยืมรายใหญ่ 50 รายแรก 4.แบบรายงานเงินกู้ยืม 5.แบบรายงานเจ้าหนี้เงินกู้ยืมรายใหญ่ 50 รายแรก 6.แบบรายงานผู้ฝากเงินรายใหญ่ 50 รายแรก 7.แบบรายงานฐานะ สภาพคล่องสุทธิ และ8.แบบรายงานการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
ทั้งนี้ กรมฯได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการรายงานทางการเงินของสหกรณ์แก่เจ้าหน้าที่บัญชีและเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 134 สหกรณ์ แบ่งเป็น 2 รุ่น ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถจัดทำแบบรายงานทางการเงินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในระยะแรกกำหนดให้สหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ นำส่งข้อมูลทางการเงิน ทั้งงบดุล งบกำไรขาดทุนแบบละเอียด พร้อมทั้งข้อมูลตามแบบฟอร์มการรายงานข้อมูลตามที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้น เพื่อให้ทุกสหกรณ์สามารถจัดเก็บข้อมูลทางการเงินได้อย่างเป็นระบบ ส่วนในระยะยาวนั้นจะมีการสร้างระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถรองรับข้อมูลทางการเงินของทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทุกแห่งได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นตัวกลางทางการเงินที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสถาบันการเงินและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแนวทางการกำกับทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้มีการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับมาตรฐาน การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แนวทางหนึ่งในการปฏิรูประบบบริหารจัดการคือ การพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของสหกรณ์ ให้มีความทันสมัยสำหรับหน่วยงานที่กำกับ ด้วยการให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่มีสินทรัพย์ ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป รายงานข้อมูลทางการเงินเข้ามายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกเดือน เพื่อติดตามและป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์ รวมทั้งช่วยเตือนภัยแก่สหกรณ์ก่อนที่จะเกิดปัญหาทางการเงินตามมา ทั้งนี้ ข้อมูลทางการเงินดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำกับและตรวจสอบกิจการ เพื่อให้สามารถติดตามฐานะและผลการดำเนินงานการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น