แสยก ใบหยัก ยางเยอะ หยอดหยด เยี่ยงยา หยาดเยิ้ม สะแหยะยิ้ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia tithymaloides L.

ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE

ชื่อสามัญ Slipper flower, Jew-Bush, Zigzag Plant

ชื่ออื่นๆ กะแหยก ว่านสลี เคียะไก่ไห้ นางกวัก ตาสี่กะมอ (แม่ฮ่องสอน) ย่าง แสชู กวักเงินกวักทอง มหาประสาน (ปราณบุรี)

ฉันไม่แปลกใจเลยที่หลายๆ คนอ่านชื่อฉันไม่ถูก เพราะชื่อฉันเขียนแปลกกว่าชื่อใครๆ ชื่อฉันเรียกกันมากจนจำที่มาไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าขายต้นไม้จึงเรียกชื่อฉันเป็นมงคลว่า “กวักเงินกวักทอง”

แต่ใครๆ ยังเรียกผิดว่า “แส-ยก” อยู่ดี จนกระทั่งตีความกันว่า “ยก” คือ “ชู” ฉันจึงถูกเรียกชื่อว่า “แสชู” อีกชื่อ อันนี้ก็แล้วแต่คิด แต่ที่ฉันชอบมากคือหมอพื้นบ้านนิยมเอาใบและยอดโขลกละเอียดพอกแผลสด เป็นยาประสานเนื้อดีนัก นี่ซิชาวบ้านปราณบุรี จึงเรียกฉันว่า “มหาประสาน” อันนี้แหละเป็นกำลังใจที่ดีเยี่ยม จนอยากจะยิ้มให้หยาดเยิ้มหยดย้อย แต่พอยิ้มก็ยังกระแนะกระแหนฉันว่า “สะแหยะยิ้ม” ก็ยังดีนะมันใกล้ๆ กับชื่อที่เรียกฉันอย่างถูกต้อง ว่า “สะแหยก”

พูดถึง “ยิ้ม” ที่สร้างสรรค์ไม่ใช่ “สะแหยะ” ทำให้ฉันคิดถึงบทเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง “ยิ้มพิมพ์ใจ” ขับร้องโดย คุณธานินทร์ อินทรเทพ ประพันธ์เนื้อร้องทำนองโดย ครูเนรัญชรา อายุเพลงมากกว่า 40 ปีแล้ว ขึ้นต้นว่า “ยิ้มประหนึ่งมนตรา เชือดเฉือนชีวาพาใจร้อนรุ่ม ยิ้มเธอเสมือนเฉือนความเป็นหนุ่ม ดั่งไฟมาสุมรุมทรวง…(แล้วจบท่อนสุดท้ายว่า)…ยิ้มใจเกือบละลาย วาบหวิวใจชาย งมงายหมายมั่น ยิ้มเธอน่ารักชักพาใจหวั่นตื่นตาพาฝัน ใจรัญจวน” ฉันพยายามจินตนาการถึงรอยยิ้มของสาวสวยคนนั้นแล้วเปรียบเทียบกับ “สะแหยะยิ้ม” ของฉัน โอ๊ย! มันช่าง “สยอง” ใจ

ฉันรู้ดีว่าชื่อฉันไม่น่าเอ่ยถึง แม้ฉันเป็นที่นิยมปลูกกันทั่วบ้านทั่วเมืองเพราะปลูกง่ายตายยาก จะปลูกเป็นรั้วกั้นคน หรือปลูกป้องกันหมาแมวก็ได้ หากอยู่ในกระถาง มีดินมีน้ำนิดหน่อย ฉันก็ยังชูต้นชูใบสดสีตลอดเวลา บางตำรามีข้อมูลว่าถิ่นกำเนิดฉันมาจากหมู่เกาะอินดีสตะวันตก แต่ฉันรักเมืองไทยมาก เขาจัดฉันเป็นไม้โบราณและแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดต้นและใบสีเขียวล้วน เรียกว่า “แสยกเขียว” อีกชนิดลำต้นและใบเป็นสีเขียวสลับขาว จึงนิยมเรียกกันว่า “แสยกลาย” หรือ “แสยกด่าง” อ้อ! ยังมีอีกญาติของฉันอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่เขาเรียกกันว่า “แสยกออสเตรเลีย” มีลักษณะเดียวกับฉัน แต่จะมีดอกเหมือนนกกำลังจะกระพือปีกบิน มีคนนำมาปลูกจึงเรียกว่า “นกน้อยนำโชค” ลักษณะดอกมีกลีบด้านข้าง 2 ข้าง ขนาดใหญ่ สีหลืองปนเขียว กลีบล่างสีเหลืองปนแดงชมพู และมีจงอยใจกลางดอกเหมือนปากนก เวลาดอกบานจึงทำให้ดูเหมือนตัวนกกำลังกระพือปีกบิน รวมทั้งมีสรรพคุณทางยามีพิษและแก้พิษได้เหมือนฉัน

พูดถึงสรรพคุณในตำรายาแล้วขอต่อเนื่องเลยนะ ว่าฉันนี่แหละมีน้ำยา เอ๊ย! น้ำยางที่ไล่จระเข้ หรือเบื่อปลาได้ คือหากทุบต้นพอแตกให้น้ำยางไหลหยดแล้วใส่ลงในบ่อน้ำ หรือวังน้ำที่มีจระเข้ ก็จะหนีไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งถ้าเป็นบ่อปลาก็จะเมาหรือตายได้ เพราะมีฤทธิ์เหมือนกับต้นหางไหลหรือต้นโล่ติ๊นที่ชาวจีนชอบใช้ แต่จะใช้เพื่อการกำจัดหรือป้องกันศัตรูพืชทางการเกษตร ก็รับรองผลได้ เพราะทั้งต้นมีรสเมา เบื่อ เอียน ใช้สมานแผล ห้ามเลือดได้ดี ทุบต้นสดทาแก้กลาก เกลื้อน โรคผิวหนัง หรือแก้พิษแมลงกัดต่อย แมงป่อง ตะขาบได้ น้ำยางมีรสร้อนเมา ทากัดหูด ยอดสด นำมาตำโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อยทาพอก หรืออยากจะใช้ทำเป็นน้ำหมักแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง จะใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อหรือแมลงก็ได้ เพราะฤทธิ์จากน้ำยางจะเป็นพิษฆ่าแมลงคือ มีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้แมลงอักเสบ ยับยั้งการวางไข่ของตัวด้วง ซึ่งวิธีการอาจจะทุบลำต้นแช่น้ำทิ้งไว้แล้วกรองเอาน้ำหมักใช้ หรือใส่ส่วนของลำต้นทุบให้ละเอียด คลุกเคล้าเมล็ดพืชป้องกันศัตรูพืชได้โดยเฉพาะ ถ้าใช้น้ำยางผสมน้ำแล้วเพิ่มยาสูบยาเส้นไปด้วยแมลงหนีกระเจิงแน่ๆ ฟังดูเหมือนฉันจะโหดร้ายเป็นที่น่ารังเกียจของสิ่งมีชีวิต แต่จริงๆ ในเชิงวิชาการเขาจัดเป็นยาเย็นมีรสเปรี้ยวฝาด พิษในน้ำยางและลำต้นใช้เป็นยาภายนอก มีสรรพคุณช่วยขับพิษร้อนทำลายพิษไข้ ทั้งต้นใบสดและยอดใช้เป็นยาห้ามเลือดอย่างดี หากใช้น้ำยางโดยตรงทาที่บาดแผลมีดบาดก็ให้แผลหายเร็วขึ้นได้ ต้นสดยังใช้ตำพอกแก้ปวดบวม ฟกช้ำ ประสานกระดูกร้าว นี่แหละที่มาของ “มหาประสาน” โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากกินน้ำยางเข้าไป ก็มีผลทำให้อาเจียนได้ โดยสรรพคุณทางยาสมุนไพรพบสารออกฤทธิ์ ชื่อ Chemiebase

ฉันคุยแต่เรื่องน้ำยาน้ำยาง จนลืมแนะนำตัวว่าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เพราะสามารถแตกพุ่มขยายกอได้ เป็นไม้เนื้ออ่อนลำต้นอวบน้ำ แตกกิ่งก้านคดงอไปมา สูงได้ถึง 1 เมตร แต่อาจหักงอซิกแซ็ก กิ่งก้านแตกกอแน่น ใบเรียงสลับ ขอบใบเรียบเป็นแผ่นหยักพลิ้วหรือเป็นคลื่น เส้นใบมองยากเพราะเนื้อหนา ชนิดที่ออกดอก จะออกช่อสีแดงหรือม่วง ที่ยอดและปลายกิ่งแขนงสั้นๆ ดอกคล้ายเรือหรือรองเท้าแตะ จึงถูกเรียก “Slipper” มีช่อดอก มีใบประดับ เมื่อพัฒนาเป็นผลแก่จัดจะแห้งแล้วแตก ปลูกในดินได้ทุกสภาพ แต่ขยายพันธุ์ได้ดีด้วยวิธีปักชำ เติบโตทั้งในที่ร่มและทนสภาพแล้ง แต่น่าแปลกใจที่จะสลัดใบทิ้งหมดหรือเกือบหมดก่อนที่จะออกดอกทั้งๆ ที่ใบก็อวบน้ำ

น่าแปลกใจที่สุดสำหรับชื่อของฉัน เมื่อเรียกเป็นภาษาไทยก็ออกเสียงยากและเขียนยาก ทำให้อ่านไม่เหมือนกัน แต่น่าน้อยใจยิ่งกว่า พอเรียกชื่อฉันเป็นภาษาอังกฤษ ก็เรียกฉันว่า “Slipper Flower” หรือ “Jew Bush” ใครนะ ที่มองกลีบดอกของฉันแล้วจินตนาการว่าเหมือน “รองเท้าแตะ” แต่เอาเถอะ…! บางคนเรียกว่า “Redbird Cactus” ก็พอมีกำลังใจบ้างจะเป็นนกน้อยหรือนกแดง ได้ยินชื่อนี้แล้วสัญญาว่าจะไม่ “สะแหยะยิ้ม”

ฉันจะขอบคุณทุกคนด้วยรอยยิ้มแบบ “ยิ้มพิมพ์ใจ” ให้วาบหวิวไปเล้ย…!