บัณฑิตวิทยาลัยเกษตรฯ บุรีรัมย์ เลี้ยงแกะเสริมรายได้ มีเงินเก็บรายปี

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่ได้สัมภาษณ์องค์ความรู้กับเกษตรกรในสายปศุสัตว์หลายๆ ท่าน การทำปศุสัตว์ที่ครอบคลุมในเรื่องของการปลูกหญ้าอาหารสัตว์เอง เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกษตรกรให้ความสำคัญ เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้ดีไม่น้อยทีเดียว เพราะจากเดิมที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ เมื่อเจอราคาสินค้าทางการเกษตรลดลง ทำให้การจำหน่ายไม่ได้ผลกำไรเท่าที่ควร ส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับตัวการทำเกษตรมากขึ้น โดยแบ่งพื้นที่มาทำการเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งแบ่งพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์เอง จึงช่วยให้สัตว์ที่เลี้ยงมีอาหารกินตลอดทั้งปี

ทุ่งหญ้าสำหรับให้แกะเล็ม
คุณอนุชิต ทรงฐาน

คุณอนุชิต ทรงฐาน อยู่บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ได้มีการปรับตัว ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำเกษตรของครอบครัวมาแบ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเขาได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการสำเร็จการศึกษาทางด้าน ปวส.   สัตวศาสตร์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ มาปรับใช้กับการทำเกษตรของครอบครัว โดยแบ่งพื้นที่ทำปศุสัตว์แบบครบวงจร มีการแบ่งพื้นที่ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ชัดเจน ช่วยให้การทำปศุสัตว์มีความสะดวก สามารถทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการทำงานประจำได้

แม่แกะและลูกแกะ

แกะ สัตว์เลี้ยงง่าย

ให้ลูกในเวลาไม่นาน

คุณอนุชิต เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีงานประจำเพื่อสร้างรายได้หลักอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่มีองค์ความรู้ในเรื่องของปศุสัตว์ที่เป็นวิชาร่ำเรียนมา จึงได้เกิดความสนใจที่อยากจะเลี้ยงแกะเป็นอาชีพเสริมเป็นเงินเก็บรายปี และมีความหวังไว้ว่าในอนาคตจะทำเป็นอาชีพหลัก สาเหตุที่เลือกเลี้ยงแกะให้เหตุผลว่า ในพื้นที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อซื้อถึงในฟาร์ม ส่งผลให้เขามองว่าตลาดน่าจะยังดำเนินไปได้เรื่อยๆ จึงได้ตัดสินใจเลี้ยงแกะ

“บ้านผมเองก็มีการทำเกษตรมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่จะเน้นไปทางพืชเชิงเดี่ยว ทีนี้ผมก็เลยอยากจะปรับเปลี่ยน มาสร้างรายได้ทางช่องอื่นบ้าง เพื่อให้มีความหลากหลาย จึงตัดสินใจเลือกเลี้ยงแกะ เพราะในพื้นที่เขามีการเลี้ยงกัน ประมาณปี 2560 ผมก็ทดลองซื้อเข้ามาเลี้ยง แรกๆ เลี้ยง 3 ตัวก่อน พอเลี้ยงแล้วไม่ตาย รู้หลักการเลี้ยงมากขึ้น ก็เริ่มขยายการเลี้ยงมากขึ้น จัดการฟาร์มให้เป็นระบบ แบ่งพื้นที่เลี้ยงชัดเจน ซึ่งหญ้าอาหารสัตว์นี่สำคัญมาก ต้องแบ่งปลูกไว้ ก็จะช่วยให้ประหยัดต้นทุน มีกำไรมากขึ้น” คุณอนุชิต บอก

พื้นที่คอก

โดยแกะที่เลี้ยงทั้งหมดภายในฟาร์มเป็นตัวเมียที่สามารถให้ลูกได้ประมาณ 30 ตัว และมีตัวผู้คอยผสมพันธุ์อยู่ 1 ตัว ยิ่งในจังหวัดบุรีรัมย์มีกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้เขาสามารถหาองค์ความรู้ได้อยู่เสมอ การทำปศุสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องยาก พร้อมทั้งมีตลาดรองรับตลอดการเลี้ยง

 

เน้นเลี้ยงแกะขนสั้น

เหมาะสมกับสภาพอากาศ

ในเรื่องของสายพันธุ์แกะที่เลี้ยงภายในฟาร์มนั้น คุณอนุชิต บอกว่า จะเลือกเลี้ยงเป็นแกะสายพันธุ์ขนสั้นที่สอดคล้องต่อสภาพอากาศในพื้นที่ มีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น โรงเรือนนอนที่ยกสูงจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมทั้งมีแปลงหญ้าให้แกะได้ลงไปเล็มในช่วงเช้าและเย็นประมาณ 2 ไร่ และแปลงปลูกหญ้าสำหรับตัดมาเลี้ยงแกะภายในฟาร์ม ปลูกอยู่บนเนื้อที่ 4 ไร่ จึงทำให้หญ้าอาหารสัตว์มีเพียงพอ

โดยการผสมพันธุ์แกะภายในฟาร์มจะเน้นให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ ซึ่งแม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์ต้องมีอายุ 8 เดือนอย่างต่ำ ส่วนพ่อพันธุ์ต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หลังจากที่พ่อพันธุ์แกะผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์แล้ว รอตั้งท้องประมาณ 5 เดือน เมื่อได้ลูกแกะคลอดออกมาแล้ว จะนำมาแยกเลี้ยงให้อยู่ในฝูงแม่แกะรวมกัน เพราะบางช่วงแกะบางตัวจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ก็จะให้แม่พันธุ์แกะตัวอื่นๆ ช่วยให้นมแทนสำหรับตัวแม่พันธุ์อื่นที่ไม่มีน้ำนม

“ต่อรอบที่แกะตั้งท้อง ก็จะประมาณ 5 ตัว ผสมหมุนเวียนกันไปแบบนี้ ซึ่งลูกแกะที่ออกมา ในช่วง 1-3 เดือนแรก ก็จะเน้นให้กินนมแม่อย่างเดียวจนกว่าจะหย่านม ส่วนแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ภายในฟาร์ม หลักๆ จะเลี้ยงด้วยหญ้าอาหารสัตว์ที่ปลูกเอง ถ้าช่วงแกะเข้ามาพักภายในคอก จะเน้นให้กินฟางแห้งเป็นหลัก ส่วนอาหารที่เสริมเข้ามาช่วยอีกอย่าง ก็จะเป็นรำข้าว เพราะบ้านผมมีเครื่องสีข้าวเอง จึงทำให้มีรำข้าวพอที่จะให้แกะกินเสริมได้ 300 กรัมต่อตัวต่อวัน อาหารก็จะเลี้ยงประมาณนี้ ถือว่าเรามีความพร้อมในเรื่องของหญ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตเราคุมได้” คุณอนุชิต บอก

พื้นที่คอก
พื้นที่คอก

สำหรับการทำวัคซีนและป้องกันโรคให้กับแกะภายในฟาร์ม หลักๆ จะเน้นในเรื่องของการถ่ายพยาธิทุก 3 เดือนครั้ง ส่วนในเรื่องของการทำวัคซีนอื่นๆ ก็จะมีแผนทำวัคซีนตามกำหนด พร้อมทั้งมีการให้วิตามินเพื่อบำรุงให้แกะอีกด้วย

 

ลูกตัวเมียเลี้ยงเก็บ

ลูกตัวผู้เน้นขายออก

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายแกะภายในฟาร์ม คุณอนุชิต เล่าให้ฟังว่า ถ้าลูกแกะที่ออกมาเป็นตัวผู้หลังจากอายุได้ 3 เดือนหย่านมแล้วจะจำหน่ายออกไปทันที จะไม่นิยมเลี้ยงแกะตัวผู้ไว้ภายในฟาร์ม แต่ถ้าเป็นลูกแกะตัวเมียจะนำมาเป็นแม่พันธุ์ทดแทนต่อไปในอนาคต หรือถ้ามีเพื่อนๆ เกษตรกรท่านไหนสนใจซื้อไปเป็นแม่พันธุ์ภายในฟาร์ม ก็จะมีแบ่งจำหน่ายออกไปด้วยเช่นกัน

โดยลูกแกะตัวผู้ที่หย่านมมีน้ำหนักอยู่ที่ 10-20 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ส่วนตัวผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ที่ 20-30 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-100 บาท แกะตัวเมียหย่านมที่ทรงสวยสามารถนำไปเป็นแม่พันธุ์ได้ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 3,000 บาท และแกะตัวเมียที่เป็นสาวสามารถนำไปผสมพันธุ์ได้ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 5,000-6,000 บาท

การทำคลอดสัตว์ที่เลี้ยงภายในฟาร์ม

“ตลาดที่ผมเน้นจำหน่าย จะเน้นสร้างเป็นส่งตลาดเนื้อเป็นหลัก เพราะเรามีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เราก็จะมีการส่งแกะเข้าไปทำการแปรรูปด้วย จึงทำให้แกะที่เลี้ยงจำหน่ายได้หลายช่องทาง การจำหน่ายต่อรอบก็ถือว่าได้ผลตอบแทนที่ดี สำหรับใครที่สนใจอยากจะเลี้ยง ผมมองว่าตลาดเนื้อแกะยังไปได้ การเลี้ยงก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การมีหญ้าอาหารสัตว์ปลูกเอง มีการจัดการที่ดี การเลี้ยงแกะประสบผลสำเร็จแน่นอน” คุณอนุชิต บอก

การตัดขนแกะ

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแกะ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอนุชิต ทรงฐาน หมายเลขโทรศัพท์ 088-042-6242