ผลิตผักปลอดภัย มุ่งสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด (โนนเขวาโมเดล)

โนนเขวาโมเดล ผลิตผักปลอดภัยส่งเทสโก้ โลตัส มีรายได้ทุกวันได้อย่างไร นี้คือต้นแบบ บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จุดเริ่มต้นคือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กหนองโง้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2538 เป็นพื้นที่ชีหลง ช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ในฤดูแล้งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ พระองค์จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการทำแก้มลิงและระบบการส่งน้ำ ประตูระบายน้ำเพื่อการจัดการน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกัน

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ได้จัดทำข้อมูลและศึกษาวิเคราะห์พื้นที่รายครัวเรือน คัดเลือกพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กหนองโง้วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผักและข้าวที่สำคัญมาดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2559 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์

ผัก

ดังนั้น เริ่มจากต้นปี พ.ศ. 2559 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองขอนแก่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหัน เข้ามาร่วมกันทำงานเชิงบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในชุมชนบ้านโนนเขวา โดยสินค้าการเกษตรที่สำคัญคือ การผลิตผักปลอดภัยจากสารเคมี หรือการพัฒนาการผลิตให้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP จากจุดนี้เอง ผู้จัดการเทสโก้ โลตัส ที่ดูแลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ คุณเปรม ได้เข้ามาหาข้อมูลและให้ทางสำนักงานพาไปดูพื้นที่และได้พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยผู้ใหญ่บ้านโนนเขวาและประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารเคมีบ้านโนนเขวาคือ ผู้ใหญ่อภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ได้พาดูพื้นที่บริเวณรอบๆ   หนองโง้ว พื้นที่กว่า 1,100 ไร่ เกษตรกรกว่า 200 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกขี้นฉ่าย กวางตุ้ง คะน้า และผักบุ้งจีน ส่งพ่อค้าคนกลางและตลาดศรีเมืองทอง ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม

พ่อใหญ่อภิสิทธิ์ เริ่มต้นเล่าให้ฟัง และชาวบ้านมาร่วมฟังและพูดคุยกับผู้จัดการเทสโก้ โลตัส กว่า 50 ราย แต่ละครอบครัวมีพื้นที่ปลูกผักเฉลี่ยครัวเรือนละ 1-5 ไร่ โดยพ่อใหญ่อภิสิทธิ์มีพื้นที่ปลูกผักจำนวน 5 ไร่

ช่วงแรกๆ เกษตรกรในพื้นที่ใช้สารเคมีมาก ต่อมามีผลกระทบต่อสุขภาพ มีการล้มป่วย และ กรมวิชาการเกษตรจึงได้เข้ามาอบรมและส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตให้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP

ปลูกผัก

จุดประกายการเข้าห้างหรือโมเดิร์นเทรด เราจะเข้ายังไง เข้าได้หรือ นี้คือประโยคที่ชาวบ้านพูดกัน จุดนี้เองกระผมได้แนวคิดกับคุณเปรม ว่าจะพากลุ่มเกษตรกรฯ นี้ไปศึกษาดูงานที่บริษัท พรานเฟส จำกัด ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของเทสโก้ โลตัส ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่ม ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ดูการบรรจุถุง การตัดแต่งผัก มาตรฐานและขนาดของผัก การตรวจสารเคมี สินค้าผักที่จะต้องส่งผ่านบริษัท พรานเฟส จำกัด เพื่อส่งไปศูนย์กระจายสินค้า เทสโก้ โลตัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งวันแรกที่เราส่งผักเข้าเทสโก้ โลตัส คือวันที่ 19 มิถุนายน 2559 จำนวน 1,000 กิโลกรัม ผัก 9 ชนิด

ดังนั้น เทคนิคการล้างผัก การตัดแต่งผัก บรรจุถุงอย่างไรส่งบริษัท พรานเฟส จำกัด ประกอบด้วย

  1. การบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม
  2. ล้างผักให้สะอาด ตัดตกแต่งอย่างดี อาทิ ผักบุ้งจีน ต้องมีรากติดมาด้วย
  3. มีชื่อ-นามสกุล เจ้าของถุงผัก
  4. การตรวจสอบสารเคมี ตามมาตรฐานความปลอดภัย
  5. เปิดบัญชีกลุ่มเกษตรกรฯ (เงินจะโอนค่าผักทุก 30 วัน)

จุดนี้เองคือปัญหา เราต้องมานั่งคุยกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรฯ ว่า เงินเราต้องใช้จ่ายทุกวันกับครอบครัว ทำอย่างไรจึงจะได้มีเงินของกลุมเกษตรกรฯ มาจ่ายให้กับสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการก่อน เสียงสะท้อนนี้เราได้แจ้งไปยังผู้บริหารของเทสโก้ โลตัส ซึ่งท่านได้ลงมาดูในพื้นที่และมีการประชุมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรฯ ณ ศาลาประชาคมของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ กศน. ของหมู่บ้าน ผู้บริหารได้กลับไปกรุงเทพฯ และรอฟังผลว่ากลุ่มจะได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินของกลุ่มหรือไม่

กระผมได้รับทราบทางโทรศัพท์และหนังสือแจ้งจากเทสโก้ โลตัส จะได้มอบเงินเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตหรือเพื่อสนับสนุนกลุ่ม โดยจ่ายเป็นเช็คจำนวน 1 ล้านบาท ให้กลุ่มเกษตรกรฯ ในวันที่ 27 มกราคม 2560 ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ให้กับตัวแทนกลุ่มเกษตรกรฯ

แนวคิดและการสร้งโรงแพ็กผัก Packing House เป็นของกลุ่ม และสร้าง Brand เป็นของตัวเอง “DINO โนนเขวาผักอร่อย ปลอดภัย” จึงได้เกิดขึ้น เพราะเราไปศึกษาและดูงาน โรงแพ็กผักของกลุ่มเกษตรกรอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น และโรงแพ็กผักของบริษัท พรานเฟส จำกัด จึงได้เกิดแนวคิดและของบประมาณจากทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น (คุณชัยธวัช เนียมศิริ) และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในสมัยนั้น

กระผมจึงได้จัดทำโครงการนี้ว่าจะผ่านตรงไหนดี ระหว่างงบพัฒนาจังหวัดหรืองบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง จึงได้เกิดโครงการผลิตผักปลอดภัย กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ร้อยแก่นสารสินธุ์)

การได้ประมาณก่อสร้างมาดำเนินการจำนวน 2.5 ล้านบาท มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

  1. ประสานกรมวิชาการเกษตรออกแบบโรงแพ็กกิ้งผัก
  2. ขอพื้นที่กรมธนารักษ์ของโรงเรียนบ้านโนนเขวา จำนวน 1 ไร่ (ที่ดินราชพัสดุ)
  3. ประสาน อบต.ดอนหัน (การขออนุญาตก่อสร้างและดูแลการก่อสร้าง) ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 6 เดือน เราไม่มีประสบการณ์คือ ไม่ได้รวมระบบแอร์และระบบไฟฟ้า 3 เฟสไว้ จึงได้แต่โรงแพ็กกิ้งผักเปล่าๆ มา 1 โรงเรือน จากจุดนี้เองเราถึงแจ้งเรื่องให้ผู้บริหารได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และจึงแจ้งเรื่องให้กับผู้บริหารเทสโก้ โลตัส ท่านก็ใจดีกับทางกลุ่มเกษตรกรฯ ได้ส่งมอบแอร์ในราคา 4 แสนกว่าบาท และระบบไฟฟ้า 3 เฟส มูลค่ากว่า 2.5 แสนบาท ให้กับทางกลุ่ม โรงแพ็กกิ้งเฮ้าส์จึงเสร็จสมบูรณ์

การเปิดตัวโรงแพ็กกิ้งเฮ้าส์และขยายชนิดสินค้าเกษตรจากผัก 9 ชนิด เป็น 14 ชนิด ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์

ใน 1 สัปดาห์ รถห้องเย็นของเทสโก้ โลตัส จะมารับผักของกลุ่มเกษตรกรฯ 2 วันต่อครั้ง        (1 สัปดาห์ต่อ 4 ครั้ง) เพราะเราได้เปรียบกว่าทุกกลุ่ม เนื่องจากศูนย์กระจายสินค้าบริษัท เทสโก้ โลตัส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ ณ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ห่างจากกลุ่ม 6 กิโลเมตร จากวันนั้นคือ เดือนมีนาคม 2559 จนถึงปัจจุบันก็กว่า 6 ปี ที่กลุ่มเกษตรกรฯ จาก 43 ครัวเรือน ขยายเป็นสมาชิกกว่า 170 ครัวเรือน ที่ผลิตผักส่งตลาดเทสโก้ โลตัส และตลาดล่าง ในจังหวัดขอนแก่น มีรายได้ต่อครัวเรือนสมาชิกใหม่ 10,000 บาทต่อเดือน สมาชิกเก่ามีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน

กราฟฟิก

นี้คือ ผลสำเร็จอีกด้านหนึ่งที่ทุกภาคส่วนของหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้ามาร่วมกันทำงานอย่างจริงจัง ในการทำงานเชิง  บูรณาการในพื้นที่ ไม่ใช่บูรณาการในแผ่นกระดาษอย่างเดียว

ต้องขอกราบขอบพระคุณ “เทสโก้ โลตัส” เป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรฯ ได้ผลิตผักปลอดภัย มีมาตรฐาน และรายได้ที่ยั่งยืนต่อชุมชนและครัวเรือนทุกวันนี้จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ประชาชนหรือผู้สนใจกลุ่มเกษตรกรฯ นี้ ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ควรศึกษาและดูงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารเคมีบ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมทำ เปิดตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ แล้วสู้กับปัญหาต่างๆ

แม้ทุกวันนี้กระผมจะอยู่ในเรือนจำ แต่เอาเวลาว่างๆ มานั่งเขียนงาน และสอนความรู้ อาชีพให้กับผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เพื่อเป็นแนวคิดหนึ่ง ความรู้หนึ่ง ให้กับผู้ต้องขังได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต ภายหลังการปล่อยตัวและไม่ให้เป็นภาระสังคม ผมหวังว่า ทางกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และประชาชนจะได้อ่านและให้โอกาส “คนหลังกำแพงบ้างด้วยครับ”

 

Value Chain
ผลิตผักปลอดภัย กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์

ต้นน้ำ

– การวิเคราะห์ SWOT กลุ่ม

เกษตรสายครัวเรือน

– การจัดทำฐานข้อมูล

– การจัดการบริหารจัดการน้ำ

เพื่อการเกษตร (ระบบชลประทาน/น้ำบาดาล)

 

กลางน้ำ

– การฝึกอบรมกลุ่มเกษตรฯ

– การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

– การสร้าง Brand (DINO โนนเขวาผักปลอดภัย)

– การสร้าง Packing House

– การผลิตผักให้ได้มาตรฐาน GAP

 

ปลายน้ำ

– มหกรรมสินค้าเกษตร

ปลอดภัยกลุ่มจังหวัดฯ

– การทำ Route การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบแอปพลิเคชั่น

– การติดตามประเมินผลโครงการ (มข.)