ม.มหิดล สร้างเครื่องมือ “แกะรอยเท้ายาปฏิชีวนะ” ช่วยโลกพ้นวิกฤตเชื้อดื้อยา

รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผู้วิจัยหลัก “รอยเท้ายาปฏิชีวนะ” (Antibiotic Footprint) แห่งหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit; MORU) และภาคสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และสมาคมยาต้านจุลชีพและเคมีบำบัดประเทศอังกฤษ (British Society of Antimicrobial Chemotherapy) ร่วมกับภาคีระดับโลกที่มีคณะทำงานประจำประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียวประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย (World Animal Protection Thailand)

ล่าสุดทีมนักวิจัยได้ขยายผลต่อยอดสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือวัดรอยเท้าการใช้ยาปฏิชีวนะรายบุคคล “Antibiotic Footprint Calculator” (https://www.antibioticfootprint.net/calculator/th) ในภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อประโยชน์สำหรับคนทั่วไปและคนไทย โดยผู้ใช้สามารถประมาณปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกิดจากการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ทั้งจากการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยตรง และการรับประทานเนื้อสัตว์ เพราะสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการเลี้ยง จากนั้นผู้ใช้จะสามารถเปรียบเทียบรอยเท้ายาปฏิชีวนะของตนเองกับของบุคคลอื่นๆ ทั่วโลกได้

จากการศึกษาต่างๆ พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ายาปฏิชีวนะ คือยาที่สามารถฆ่า หรือหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น และยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้ หากใช้ไม่เหมาะสม เช่น นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการรักษาอาการไข้หวัด เจ็บคอ หรือท้องเสีย จะก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียตามมาอีกมากมาย

ยาปฏิชีวนะที่มักถูกนำไปใช้โดยไม่ถูกต้องคือ การทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการหวัด เช่น การรับประทานยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) อิริโทรไมซิน (Erythromycin) แอมพิซิลลิน (Ampicillin) หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ เมื่อมีไข้ ไอ หรือเจ็บคอ อีกกรณีที่พบบ่อยที่ไม่ถูกต้องคือ การทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการท้องเสีย เช่น การรับประทานยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ เมื่อมีอาการท้องเสียถ่ายเหลว โดยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การจะรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์หรือผู้ให้บริการทางสาธารณสุขอย่างเหมาะสมเท่านั้น

ส่วนในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อนำมารับประทานเป็นอาหารนั้น ตามมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดให้งดยาปฏิชีวนะ 10-20 วันก่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ ทำให้ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ (“No Residual Antibiotics” หรือ “No Antibiotics”) แต่คนทั่วไป มักไม่ทราบว่าเนื้อสัตว์ที่ตนเองได้รับประทานนั้น มาจากสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการเลี้ยง

ผู้วิจัยตั้งใจให้ “Antibiotic Footprint Calculator” ที่สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นนี้ เป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถนำไปใช้วัดรอยเท้าการใช้ยาปฏิชีวนะของตัวเอง เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความตระหนักรู้ ปรับพฤติกรรม และร่วมกันลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นลง