“หญ้าหวานอินทรีย์” พืชสร้างรายได้เสริม ของสาวบัญชี ฟันรายได้ 4 หมื่น/เดือน

หญ้าหวาน มีกำเนิดแถบอเมริกาใต้ ใบของต้นหญ้าหวานมีรสหวาน เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2550 และปลูกกันมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย หญ้าหวานจึงจัดอยู่ในพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ความพิเศษของหญ้าหวานคือ ส่วนของใบให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่ความหวานนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงานแต่อย่างไร ด้วยความพิเศษของหญ้าหวานนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่ได้รับความสนใจทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ ยาสมุนไพร เครื่องดื่ม นำไปสู่การปลูกเป็นพืชสร้างรายได้หลักและเสริมของเกษตรกรหลายจังหวัด

คุณณัฐกานต์ อุตะมะติง หรือ พี่ยุ้ย

คุณณัฐกานต์ อุตะมะติง หรือ พี่ยุ้ย อยู่ที่หมู่ 7 ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สาวบัญชีสานต่องานเกษตรของครอบครัวปลูกและแปรรูปหญ้าหวานอินทรีย์ ตอบรับกระแสคนรักสุขภาพกำลังมาแรง ใช้เวลาว่างจากงานประจำช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ในการดูแล ฟันรายได้ 40,000 บาทต่อเดือน

หญ้าหวานโตเต็มที่ รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต

พี่ยุ้ย เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันตนเองทำงานประจำเป็นพนักงานการเงินและบัญชี ที่โรงพยาบาลสะเมิง การปลูกและแปรรูปหญ้าหวานถือเป็นอาชีพเสริมที่เข้ามาสานต่อจากที่พ่อแม่ทำไว้ โดยก่อนหน้านี้พ่อกับแม่เริ่มปลูกหญ้าหวานมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แต่ทำไม่ต่อเนื่อง ตนเองจึงได้ตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อ และหวังที่จะพัฒนาให้ผลผลิตหญ้าหวานของที่สวนสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี และก็ทำได้สำเร็จนับเป็นเวลากว่า 4 ปี ที่ตนเองได้เข้ามาช่วยและพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและการตลาดของหญ้าหวาน จากรุ่นพ่อแม่เคยโดนพ่อค้าคนกลางผูกขาด ในบางครั้งพ่อค้าไม่เข้ามารับซื้อสินค้าตามที่สั่งไว้ผลผลิตที่สวนก็ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการเก็บรักษาหญ้าหวานจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่เมื่อผ่านระยะ 6 เดือนไปแล้ว สีของใบจะเริ่มเปลี่ยน สีจะเริ่มซีด นำไปขายที่ไหนก็ไม่ได้แล้ว ตนเองจึงได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเน้นทำตลาดออนไลน์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ผลผลิตหญ้าหวานอบแห้งที่ผลิตได้เดือนละ 200 กิโลกรัม ขายหมดเกลี้ยงทุกเดือน

หญ้าหวานตูมดอก คือช่วงที่ความหวานสูงที่สุด พร้อมเก็บเกี่ยว

ปลูกหญ้าหวานอินทรีย์ 3 ไร่
เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

พี่ยุ้ย บอกว่า ปัจจุบันที่ฟาร์มปลูกหญ้าหวานบนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่กว่า แบ่งปลูกเป็น 3 แปลง เพื่อหมุนเวียนให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงแรกของการเริ่มต้นเข้ามาสานต่อจากพ่อแม่ ต้องยอมรับว่าทั้งในด้านองค์ความรู้การปลูกมีไม่มาก อาศัยความขยัน ช่างสังเกต และถามจากพ่อกับแม่แล้วนำมาต่อยอดจนเกิดความเชี่ยวชาญในการปลูก สู่การปรับเปลี่ยนจากเมื่อก่อนที่พ่อกับแม่เคยปลูกแบบพึ่งสารเคมี ก็เปลี่ยนมาปลูกและดูแลให้เป็นอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้สอดคล้องกับการตลาดยุคสมัยใหม่ที่คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น

รดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์

โดยปัจจัยสำคัญในการปลูกหญ้าหวานให้ประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่ หญ้าหวานเป็นพืชที่สามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี แต่ที่เห็นส่วนใหญ่จะมีการปลูกพืชอย่างอื่นหมุนเวียนในช่วงที่ราคาหญ้าหวานราคาตก ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่หญ้าหวานราคาต่ำที่สุด ราคาใบแห้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-150 บาท เนื่องจากผลผลิตออกเยอะ สวนไหนๆ ก็มี บางครั้งถึงขั้นทำให้บางสวนทิ้งแปลงไปเลย ส่วนในช่วงที่หญ้าหวานมีราคาแพงที่สุดคือช่วงฤดูหนาว การเจริญเติบโตของหญ้าหวานจะช้ามาก ทำให้ความต้องการของตลาดมีมาก ราคาจะดีดสูงขึ้นไปขายได้กิโลกรัมละ 600-700 บาท

ล้างทำความสะอาดเรียบร้อย เตรียมเด็ดใบ

ซึ่งที่ฟาร์มจะไม่ทำเหมือนกับที่อื่นๆ จะเน้นทำผลผลิตให้มีตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่ให้ผลผลิตน้อยหรือเป็นช่วงที่ราคาถูก อาศัยการแปรรูปช่วยเพิ่มมูลค่า หากช่วงไหนมีผลผลิตเยอะ นอกจากการทำหญ้าหวานอบแห้งแล้ว ยังมีในส่วนของการนำมาทำหญ้าหวานบดผง โดยการได้รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือในการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง ช่วยแนะนำในส่วนของเตาอบและโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ ในการนำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน

เด็ดใบแยกออกจากก้านเรียบร้อย เตรียมตากในตอนเช้า

และนอกเหนือจากการแปรรูปแล้ว รูปแบบการปลูกแบบอินทรีย์ถือเป็นส่วนช่วยสำคัญในการประหยัดต้นทุน ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ซื้อยา แต่จะไปหนักในส่วนของต้นทุนการจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว ก็จะแก้ปัญหาด้วยการลดจำนวนพนักงานลง แล้วใช้แรงงานในครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการผลิตหญ้าหวานในขั้นตอนที่ต้องใช้คนเยอะจะเป็นในส่วนของขั้นตอนของการเด็ดใบ นอกจากการจ้างแรงงานที่น้อยลงแล้ว ก็คือการแปรรูปหญ้าหวานบดผงให้มากขึ้น เนื่องจากการแปรรูปแบบบดผงสามารถตากแดดได้ทั้งก้านแล้วจึงค่อยเด็ดใบทีหลังได้ ต่างจากการทำหญ้าหวานอบแห้งที่ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ แต่จะต้องเด็ดใบออกจากก้านให้เรียบร้อยก่อนนำไปตาก

วางในตะแกรง เกลี่ยให้หนาบางเสมอกัน เตรียมเข้าโดมตาก

การปลูกหญ้าหวานอินทรีย์

สำคัญที่การดูแลเอาใจใส่ หญ้าหวานเป็นพืชล้มลุก ข้อสำคัญคือการดูแลต้นให้สมบูรณ์ ปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานเกือบ 2 ปี จากนั้นให้โละแปลงปลูกใหม่ เพื่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต

ตากในโดมพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตก

การเตรียมดิน ทำแปลงยกร่องสูงประมาณ 50 เซนติเมตร เพราะหญ้าหวานไม่ชอบที่ชื้น แล้วคลุมแปลงด้วยผ้าพลาสติกเพื่อไม่ให้น้ำขัง จากนั้นนำกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์และแข็งแรงมาลงปลูกในระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 15 เซนติเมตร

พร้อมนำสู่ตลาดในรูปแบบของใบแห้ง

การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย รดน้ำระบบสปริงเกลอร์ 2-3 วันครั้ง นาน 15 นาที ส่วนปุ๋ยที่บ้านเลี้ยงวัวอยู่แล้วก็จะใช้มูลวัวหมัก มาใช้บำรุงต้นในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 10 วัน หญ้าจะเริ่มชอนขึ้นมาใหม่ ก็จะบำรุงด้วยมูลวัวหมัก 1 ครั้ง ในอัตราต้นละ 1 กำมือ

อบในเตาอบฟืนต่อ 1 คืน (7-8 ชั่วโมง)

การดูแลป้องกันโรคและแมลง โดยปกติแล้ว เมื่อเจอโรคในหญ้าหวาน เช่น ใบ หด หยิก ใบเหลือง ต้นไม่สมบูรณ์ ทางฟาร์มจะแก้ปัญหาด้วยการขุดต้นที่แสดงอาการทิ้ง แล้วปลูกใหม่ ส่วนแมลงศัตรูพืช เช่น หนอน เพลี้ยกระโดด จะใช้ยาเส้น แช่น้ำฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน เมื่อพบศัตรูพืชในแปลง

หญ้าหวานอบแห้งบรรจุใส่ถุงละ 1 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกได้ 30-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ถ้าหากเป็นช่วงหน้าหนาวจะยืดเวลาในการเก็บออกไปเป็น 60 วัน โดยทยอยเก็บเป็นแปลง เก็บผลผลิตได้เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งระยะเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดการเก็บในช่วงตูมดอกเพราะจะเป็นช่วงที่หญ้าหวานมีเปอร์เซ็นต์ความหวานสูงที่สุด

หญ้าหวานบดผง

ปริมาณผลผลิตต่อไร่ หากเป็นในช่วงหน้าฝนจะเก็บหญ้าหวานสดได้ปริมาณ 100-120 กิโลกรัมต่อไร่ต่อครั้ง ก็คือเดือนหนึ่งจะผลิตหญ้าหวานแห้งได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม ในช่วงของฤดูฝน แต่ถ้าฤดูหนาวก็จะอยู่ที่ประมาณ 100-120 กิโลกรัมแห้ง

หญ้าหวานอบแห้งในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สะดวกในการรับประทาน

การแปรรูปหญ้าหวานอบแห้ง
และหญ้าหวานบดผง ทำได้ไม่ยาก

เจ้าของบอกว่า ในส่วนของผลิตภัณฑ์แปรรูปหญ้าหวานของที่ฟาร์มจะแบ่งออกเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ด้วยกันคือ 1. หญ้าหวานอบแห้ง และ 2. หญ้าหวานบดผง ที่มีกระบวนการแปรรูปไปแนวทางเดียวกัน เพียงแค่ว่าการบดผงจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ดังนี้

  1. เริ่มจากการเก็บเกี่ยวหญ้าหวานในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นและกำลังตก จะไม่เก็บหญ้าหวานในตอนที่แดดจัด เพราะถ้าเก็บในช่วงที่แดดจัดจะทำให้ใบของหญ้าหวานเหี่ยว ส่งผลทำให้เมื่อนำมาล้างน้ำแล้วนำไปเด็ดจะทำให้หญ้าหวานช้ำ ใบไม่สวย และต้องเลือกเก็บหญ้าหวานในช่วงที่กำลังตูมดอก เพราะจะเป็นช่วงที่มีค่าความหวานมากที่สุด
  2. หลังจากเลือกเก็บผลผลิตตรงตามลักษณะที่ต้องการแล้ว นำไปล้างทำความสะอาด และทำการเด็ดใบออกจากก้าน นำไปตากในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 1 วันครึ่ง ถึง 2 วัน โดยอุณหภูมิในโดมเฉลี่ยอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส
  3. นำไปอบด้วยเตาฟืน ใช้เวลาอบประมาณ 1 คืน หรือประมาณ 8-10 ชั่วโมง เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่อุณหภูมิและช่วงเวลาในการอบ ให้เลือกอบในช่วงที่ไม่มีแดดหรือช่วงที่ฝนตกจะช่วยให้การอบเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สีของใบออกมาเขียวสวย ใบไม่ช้ำ เป็นที่ต้องการของตลาด จบไปในส่วนของขั้นตอนการแปรรูปหญ้าหวานอบแห้ง
  4. การบดผง เป็นการต่อยอดนำใบที่อบแห้งเสร็จแล้ว นำมาบดด้วยเครื่องบดสมุนไพร โดยการบดผงจะเลือกทำตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่ง หรือในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำ ถ้ามีผลผลิตเยอะ ไม่สามารถเด็ดใบได้ทัน
หญ้าหวานบดผงบรรจุขวดสวยงาม

อัตราส่วนในการแปรรูป หญ้าหวานสดจำนวน 6 กิโลกรัมครึ่งต่อหญ้าหวานแห้ง 1 กิโลกรัม บรรจุใส่ถุง ถุงละ 1-2 กิโลกรัม หรือบรรจุตามออร์เดอร์ลูกค้า ราคากิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนแบบบดผงราคาจะสูงกว่าหญ้าหวานอบแห้งกิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนการปลูกและการดูแลแล้วถือว่าคุ้มค่า เพียงแต่เกษตรกรผู้ปลูกต้องอดทนและหาวิธีอยู่ให้ได้ในช่วงที่ราคาอาจจะตกลงมาบ้างก็สามารถนำไปถัวเฉลี่ยกับตอนที่ราคาสูงได้ยังมีกำไร ใน 1 เดือนสามารถผลิตหญ้าหวานแห้งได้เดือนละ 200 กิโลกรัม เมื่อหักต้นทุนแล้วจะมีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท

ชาหญ้าหวาน

แนะมือใหม่ เน้นทำตลาดออนไลน์
ไม่ง้อพ่อค้าคนกลาง สำคัญที่คุณภาพ

“สำหรับใครที่กำลังสนใจอยากปลูกหญ้าหวานเป็นพืชสร้างรายได้เสริม หญ้าหวานก็ยังเป็นพืชที่น่าสนใจ แต่สำคัญคือต้องปลูกแบบอินทรีย์และหาตลาดเองให้ได้ เพราะถ้าหากยอมให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาผูกขาดอาจจะมีผลกระทบตามมาได้ในระยะยาว อย่างที่ฟาร์มของยุ้ยตอนนี้จะเน้นขายตลาดออนไลน์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่เคยประสบปัญหาสินค้าค้างสต๊อกเลย สามารถขายได้หมดทุกเดือน แต่ต้องอดทนด้วย ไม่ใช่ว่าโพสต์ขายแล้วจะขายได้เลย เพราะตัวยุ้ยเองก็ใช้เวลาหาตลาดออนไลน์อยู่สักพัก ในช่วง 2-3 เดือนแรกไม่มีลูกค้าเลย ก็ต้องอดทนและหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าของเราให้กับลูกค้าให้ได้ เพราะการขายของออนไลน์ความซื่อสัตย์ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะทำให้คนที่ไม่รู้จักเราโอนเงินมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นเราต้องตอบแทนลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์ ส่งของตรงต่อเวลา และคุณภาพให้ตรงตามที่พูดไว้ ถือเป็นใจความสำคัญในการทำตลาดอย่างยั่งยืน” พี่ยุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

เตรียมส่งลูกค้าทั้งออนไลน์และลูกค้าประจำ

สอบถามรายละเอียดการปลูกและแปรรูปหญ้าหวานอินทรีย์เพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 093-285-6246 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : Nutthakarn Yui