ฤดูกาลทำปลาร้า

หลังจากที่ฝนตกโปรยปรายมาสักระยะหนึ่ง ก็เข้าสู่ฤดูกาลทำปลาร้า เนื่องจากช่วงนี้มีปลามาก ในแม่น้ำเชิญ บริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ หากไม่ทำช่วงนี้ก็จะไม่มีปลาทำปลาร้า นอกจากนี้ ปลาในช่วงนี้มีราคาถูกและเนื้อมัน ในวันที่เตรียมวัตถุดิบ

ปลาแช่แข็งเตรียมขอดเกล็ด

คุณเดือน เหลาประเสริฐ อายุ 70 ปี เลขที่ 18 หมู่ที่ 2 บ้านกงกลาง ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ได้ตรียมปลานานาชนิด ได้แก่ ปลาตะเพียน (ทางอีสานเรียกว่า ปลาขาว) ปลากระดี่ ปลานิล ไว้ถึง 40 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25 บาท (รวมราคา 1,000 บาท) คุณเดือน และ คุณทอง พ่อบ้านได้ลงมือขอดเกล็ดควักเครื่องในไปแล้วส่วนหนึ่ง

คุณเดือน เหลาประเสริฐ กำลังขอดเกล็ดปลาเพื่อทำปลาร้า

บรรยากาศในการทำปลาร้า ในขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ขอดเกล็ดปลาจนแล้วเสร็จและนำไปควักเครื่องใน ล้างน้ำจนสะอาด 2-3 น้ำ สำหรับขั้นตอนการทำปลาร้าแบบอีสานพื้นบ้าน คุณเดือนได้แนะนำขั้นตอนการทำปลาร้า ได้น่าสนใจดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ

วิธีทำ

หนึ่ง ขอดเกล็ดควักเครื่องในออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด 2-3 น้ำ คัดใส่กะละมัง

สอง ใส่เกลือหมักไว้ก่อน 1 คืน

สาม พรุ่งนี้เช้าใส่ข้าวคั่วกับรำข้าวประมาณกิโลกว่า ปลา 40 กิโลกรัม ใส่ไหเก็บไว้ (คุณเดือนประยุกต์ใช้กล่องพลาสติกปิดฝาอย่างมิดชิด) ปลาตัวใหญ่จะใช้เวลาหมักประมาณ 1 ปี ปลาตัวเล็กจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน วันนี้ทำปลาร้า 40 กิโลกรัม เกลือ 1 กิโลกรัมต่อปลา 4 กิโลกรัม แต่ถ้าหากปลา 40 กิโลกรัมจะใช้เกลือ 10 กิโลกรัม, รำข้าว 2 กิโลกรัมต่อปลา 40 กิโลกรัม, ข้าวคั่ว 1 กิโลกรัมครึ่งต่อปลา 40 กิโลกรัม สำหรับเกลือทะเลนั้นราคากิโลกรัมละ 20 บาท

หมักเกลือไว้ก่อน 1 คืน

ส่วนใหญ่คนอีสานนิยมกินปลาร้าที่หมักครบ 1 ปี เพราะที่ผ่านมาถ้าปลาร้าไม่ครบปีจะไม่นิยมเปิดไห สำหรับราคาปลาร้า กิโลกรัมละ 50 บาท ปลาร้าตัวเล็ก กิโลกรัมละ 30 บาท วิธีดูปลาร้าหากครบ 1 ปีเนื้อปลาร้าจะมีกลิ่นหอม น้ำก็ใช้ได้นำไปประกอบอาหาร ใส่ส้มตำได้ ถ้าปลาร้าผิวปลามีสีแดง เนื้อนิ่มแสดงว่า ปลาร้าเป็นแล้ว

กระปุกเก็บปลาร้า ทางซ้ายมือปิดสนิทด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันแมลงวัน

สำหรับคนที่ชอบปลาร้าปรุงรส คุณเดือน บอกว่า

หนึ่ง ต้มปลาร้า ใส่ใบกระถิน ใบหม่อน ใบเตยเพื่อให้กลิ่นหอม

สอง กรองด้วยตะแกรง

สาม ปรุงด้วยกะปิ น้ำกระเทียมดอง น้ำตาล เหยาะผงชูรสนิดหน่อย เก็บได้เป็นปี นำไปใส่กระปุกเก็บไว้เพื่อปรุงอาหารต่อไป

รำและข้าวคั่วคลุกกับปลา
หลังจากคลุกรำกับข้าวคั่วและเกลือก็เตรียมเก็บลงกระปุก

ส่วนวิธีถนอมอาหารและเพิ่มมูลค่าให้ปลาร้าอีกอย่าง คุณเดือน บอกเคล็ดลับว่า หากนำปลาร้าไปสับทำเป็นแจ่วบองรสแซ่บ ราคาก็จะขยับสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 300 บาทเลยทีเดียว

………………………………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354