กำลังซื้อชาวสวนยาง วูบหมื่นล้านบาท ลามทุบค้าปลีกซบ-จี้รัฐเร่งแปรรูป-สร้างอาชีพเสริม

พ่อค้า นักธุรกิจนั่งไม่ติด ราคายางผันผวนทุบกำลังซื้อวูบหนักหมื่นล้าน การค้าขายหลายจังหวัดเงียบเหงา ยอดขายสินค้าซบเซาอีกระลอก วอนรัฐบาลทำงานเชิงรุก เร่งวิจัย/แปรรูปเพิ่มการใช้ยางในประเทศจริงจัง จี้ปลดล็อกทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างให้นำยางพารามาผสมทำถนนได้ แนะเกษตรกรชาวสวนยางอย่าทำพืชเชิงเดี่ยว ควรปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์เพิ่มรายได้

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้ เนื่องจากยางพาราเป็นรายได้หลักของเกษตรกร โดยในแต่ละปีมีน้ำยางพาราออกสู่ตลาดประมาณ 3 ล้านกว่าตันทั่วประเทศ และเมื่อราคายางพาราลดลงทุก ๆ 10 บาท/กิโลกรัม (กก.) จะส่งผลให้มูลค่าลดลงไปกว่า 30,000 ล้านบาท ทั้งนี้มองว่าราคายางควรจะอยู่ที่ 70 บาทขึ้นไป/กก. เกษตรกรจึงจะสามารถปรับตัวและผ่านไปได้ แต่หากราคาสูงถึง 90 บาท/กก.จะดีมาก แต่อาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสต๊อกยางของโลกยังมีอยู่

ทั้งนี้มองว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจและจริงจังในการนำงบประมาณมาวิจัย(Research)เพื่อหาวิธีการนำยางไปเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเริ่มต้นอาจทำเพียงใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศก่อน เช่น หลังคายางพารา พาร์ทิชั่นบอร์ด เป็นต้น โดยจะต้องเป็นภาครัฐที่เข้ามาศึกษาวิจัย เพราะหากให้ภาคเอกชนทำวิจัยเองจะค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงและระยะเวลานาน ซึ่งหากทำได้จริงจะส่งผลให้สต๊อกยางในประเทศลดลง ซึ่งทำให้เกิดดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงตลาดด้วย

ในปัจจุบันยังมีงบฯในส่วนนี้น้อยมาก และที่สำคัญควรจะแก้กฎระเบียบหรือกฎหมายให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะงานชิ้นนั้นเป็นของรัฐ และเอกชนไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการแก้ปัญหาระยาวสามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างแน่นอน

“การแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น ควรจะนำยางไปทำเป็นส่วนผสมในการทำถนนและสนามฟุตซอล เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้แอ็กชั่นแบบนั้น เพราะยังติดปัญหาทีโออาร์ (TOR) ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มียางพาราเป็นส่วนผสมในการทำถนน มีเพียงยางมะตอยเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ ดังนั้นภาครัฐควรจะมีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการแก้ไขทีโออาร์” นายวัฒนากล่าว

ราคายางลามค้าปลีกนครศรีฯซบ

ขณะที่นายกรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบันเกิดจากดีมานด์และซัพพลายของตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อภายในจังหวัด เนื่องจากกำลังซื้อในภาคการเกษตรคิดเป็น 60-70% ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือคิดเป็นมูลค่า 70,000-80,000 ล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกหดตัว ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผู้บริโภคยางพารา หรือผู้ที่นำยางพาราไปเป็นวัตถุดิบ เราไม่สามารถควบคุมปลายทางได้ เนื่องจากผู้บริโภคหลักอยู่ต่างประเทศ ฉะนั้นเราควรจะบริหารจัดการความเสี่ยงของเราเองจะดีกว่า

“มองว่าเกษตรกรจะต้องปรับตัว เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นการทำเกษตรที่หลากหลาย หรือการหารายได้หลายช่องทาง แทนที่จะรอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ซึ่งภาคการเกษตรมีกิจกรรมหลายระดับและมิติที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ปัจจุบันเกษตรจังหวัดได้ส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน แพะ ปลา และการเลี้ยงสัตว์ปีกแบบเปิด” นายกรกฎกล่าว

เศรษฐกิจตรังเงียบเหงามาก

นายภราดร นุชิตศิริภัทรา รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งในการกำหนดภาวะเศรษฐกิจของจังหวัด หากราคายางพาราดี ประชาชนมีกำลังซื้อ ธุรกิจอื่น ๆ ก็ดีตามไปด้วย แต่หากราคายางพาราไม่ดีอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อย การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลง ดังนั้นจึงทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ มียอดขายที่ลดลงตามกันไปหมด เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เรียกว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีความเงียบเหงามาก

ขณะที่ความจริงแล้วช่วงนี้ราคายางน่าจะดีขึ้น เนื่องจากปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีน้อย เพราะฝนตกต่อเนื่องทำให้เกษตรกรกรีดยางไม่ได้ เฉลี่ยแล้วปีนี้มีเวลากรีดยางไม่ถึง 10 วันต่อเดือนด้วยซ้ำ แม้ว่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกร แต่ตนมองว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากเป็นมาตรการเดิม ๆ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและซื้อเวลาออกไปเท่านั้น ปัญหาราคายางพาราที่เกิดขึ้นนั้นตนเห็นว่าเกิดจากผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องยางพาราฝีมือยังไม่ถึง ไม่สามารถเข้าไปกำหนดราคาในตลาดได้

“รัฐบาลก็ยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ และให้ความสนใจการส่งเสริมการแปรรูปน้อย หากฟังชาวบ้านและออกมาตรการใหม่ ๆ ที่ตรงกับปัญหา ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาราคายางพาราในระยะยาวได้อย่างถาวร เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก” นายภราดรกล่าว

ยางโล 70 บาทปลุกกำลังซื้อ

นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอ็สเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราที่เป็นอยู่ในขณะนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวสวนยาง แต่ถ้าเกษตรกรขายยางได้ราคาดีก็จะเกิดกำลังซื้อ และส่งผลให้ผู้ประกอบการเอ็มเอสอี พ่อค้าแม่ค้าสามารถที่จะขายสินค้าดีขึ้นทั้งประเทศ หากจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นต้องรักษาเสถียรภาพราคายางขยับขึ้นมาอยู่ที่ 70-80 บาท/กก.

เช่นเดียวกับนายปรีชา กิจถาวร ประธานฝ่ายเศรษฐกิจพอเพียงและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ภาวะราคายางที่อยู่ในสภาพปัจจุบันทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนลดลงมาก โดยเฉพาะเนื้อสุกรหดตัวไปเกินกว่า 50% ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปก็ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งสภาพการค้าขายแตกต่างกันมากจากในยุคที่ราคายางอยู่ในระดับ 80-90 บาท/กก. ที่มีความคึกคักเป็นอย่างมาก เพราะเกิดกำลังซื้อที่ดี อย่างไรก็ตาม หากทำให้ราคายางอยู่ในระดับ 70 บาท/กก. ก็จะทำให้เกิดกำลังซื้อและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีด้วย

บึงกาฬจี้รัฐบาลทำงานเชิงรุก

ด้านนางกุสุมา หงษ์ชูตา อดีตประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในภาคอีสาน เปิดเผยว่า ราคายางพาราปัจจุบันนี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด สร้างความสับสนให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างมาก จากราคายางที่ตกต่ำลงทำให้สภาพบ้านเมืองบึงกาฬเวลานี้การซื้อขายเงียบเหงาซบเซา ยกตัวอย่างเช่น ไก่ย่างวิเชียรบุรีจากเดิมขายได้วันละ 20 ตัว ตอนนี้ 3 ตัวก็ยังขายไม่หมด

“ชาวบ้านบางคนไม่พอใจ แต่ก็ต้องออกมากรีดยาง เพราะทำอะไรไม่ได้ หากราคาลงต่ำกว่านี้ เกษตรกรอาจเข้ากรุงเทพฯ ไปใช้แรงงานแทน แล้วก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ดิฉันมองว่าเรื่องนี้กลายเป็นเกมการเงิน ปั่นราคากันที่ตลาดฟิวเจอร์ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องออกมาสู้อย่างจริงจัง ตลาดฟิวเจอร์จะปั่นราคาก็ทำไป แต่รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุก เพราะวันนี้ต้นน้ำ ปลายน้ำถึงกันอยู่แล้ว ต้องจับมาเจอกัน ทำสัญญาซื้อขายกันทั้งปีให้ชัดเจน แบบนี้จึงจะแก้ไขปัญหาได้”

 

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์