จมูกปลาหลด ชื่อเป็นปลา หาว่าสลดใจ แปลกที่ชื่อเป็นต้นไม้…จมูกสวย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxystelma esculentum (L.) Br.

ชื่อสามัญ Rosy milkweed

ชื่อวงศ์ APCYNACEAE

ชื่ออื่นๆ ตะมูกปลาไหล (นครราชสีมา) ผักไหม (เชียงใหม่) สะอึก (ภาคกลาง) เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม) กระเดียวเผือ (สกลนคร) กระพังโหม (ราชบัณฑิต)

ต้นเดือนเมษายน 2565 นี้ ฉันมีข่าวดังผ่านสื่อคลิปวิดีโอ ไลน์ fb และทีวี

กรณีสรรพคุณสมุนไพร “จมูกปลาหลด” ใช้รักษาโรคมะเร็งได้ เป็นว่าฉันดังโดยไม่ทันตั้งตัว แต่เพียงวันเดียวก็มีการออกข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ คือไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ ฉันจึงค้นหาตัวเองว่าฉันคือใครกันแน่ เพราะนักวิชาการหลายท่านเขียนเรื่องราวของฉัน ระบุข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ ทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ แตกต่างกันมาก แต่ชื่อท้องถิ่นก็พ้องกันหลายชื่อจนรู้สึกสับสน ก็ค้นประวัติตัวเองจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต 2554 หา “ต้นจมูกปลาหลด” พบคำตอบว่า ให้ดู “กระพังโหม” และระบุว่าเป็นไม้เถาในวงศ์ ASCLEPIADACEAE พอหารายละเอียดก็สอดคล้องกับต้นตดหมูตดหมา และเป็นวงศ์ย่อยจากวงศ์ APCYNACEAE อีกที ส่วนชื่อท้องถิ่นทั้งหมดก็มีคุณสมบัติ ทั้งต้น ยางขาวใบแคบเรียว ใช้ทำยาสมุนไพร และเป็นอาหารได้ ที่เด่นที่สุดคือดอกสีม่วงแกมชมพูที่สวยงาม ถูกเรียกขานว่าเป็นจมูกของปลาน้ำจืดทางภาคอีสาน คือจมูกของ “ปลาหลด” นี่ซิที่ฉันอยากรู้จัง ปลาหลดเป็นอย่างไร ทำไมตั้งชื่อดอกสวยของฉันว่าเป็น “จมูก” ของปลาหลดได้อย่างไรกัน

ฉันเคยได้ยินแต่ “ปลาไหลต้มเปรต ปลาหลดต้มส้ม” และรู้ว่าปลาหลดเป็นอาหารยอดฮิต เมนูแกงหน่อไม้ดอง ปิ้ง  ย่าง ทอดแดดเดียว ต้มส้มใส่ผักแขยง หรือมะขามเปียก ฝักมะขาม เพื่อลดคาวปลา เนื่องจากปลาหลดชอบอยู่ในโคลนตม ตัวสด หรือเพิ่งตายจะมีกลิ่นดินโคลน ตัวลื่นเหมือนปลาไหลแต่สั้นกว่า และมีรูปร่างเพรียวยาว ลำตัวแบนข้าง หัวและตามีขนาดเล็ก ปากเล็กและแหลมยาวมีจะงอย จุดเด่นอยู่ที่ปลายปากยืดยาว สามารถยืดหดได้ มีทั้งสีเทาและสีดำ มีช่องเหงือกเปิดอยู่ใต้ส่วนหัว ฟันเล็กและแหลมคม บริเวณครีบหลังมีเงี่ยงหนามแหลมแข็ง เป็นปลากินเนื้อ ตัวอ่อนแมลง หนอน ไส้เดือน เนื้อแน่นหวาน อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำไหลและน้ำนิ่งในธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึง ในนาข้าว หมกโคลน หรือหลบซ่อนในโพรงไม้ รูดิน กอหญ้า ถามชาวอีสานจะตอบว่า “ฮู้จักเด้อ” หากย้อนหลัง 30 ปี ในนาข้าวพบมากที่ท้องนาทุ่งกุลาร้องไห้ ปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติหรือตามผืนนาที่ทำการเกษตรสมัยใหม่ นิยมใช้สารปุ๋ยเคมีกำจัดวัชพืชกำจัดแมลง สภาพดินน้ำเปลี่ยนไปส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารลดลง จึงมีจำนวนน้อยลง แม้ในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับสมญาว่ามีมากที่สุด กระทั่งปลาหลดเป็นปลา “ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด” ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ก็ลดน้อยเช่นกัน จึงมีการรณรงค์ให้ตั้ง “ธนาคารปลาหลด” เพื่อฟื้นฟูขยายพันธุ์ส่งเสริมให้เพาะเลี้ยง และสามารถเพาะพันธุ์ได้ครั้งแรกของโลกเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยที่ สนง.ประมงร้อยเอ็ด จัดตั้งธนาคารปลาหลด เพื่ออนุรักษ์เรียนรู้เทคโนโลยี และแจกจ่ายให้สมาชิกมากมาย เพราะสามารถเลี้ยงได้ทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์ รวมทั้งส่งเสริมให้เลี้ยงในนาข้าวอินทรีย์ ที่ฉันพูดถึง “ปลาหลด” ซะยืดยาวเพื่อให้คุณๆ ได้รู้จัก เพราะฉันเองก็จินตนาการอยู่เหมือนกันว่า ปลายปากยื่นยาวมีจะงอยปากแหลมที่ “ยืดหด” ได้นั้น มันจะสวยงามเพียงแค่ไหนจึงมาเปรียบกับดอกสวยเด่นของฉัน จนต้องไปส่องกระจกดูตัวเองซะบ้างแล้ว

 

ตามที่ฉันเคยเล่าให้ฟังว่า ฉันได้ออกสื่อทีวีว่าต้นจมูกปลาหลดใช้รักษาโรคมะเร็งได้นั้น เป็นข้อมูลข่าวปลอม นั้นคือเรื่องจริง แต่ข่าวจริงๆ ของฉันคือเป็นสมุนไพรโบราณโดยมีเอกสารและจารึกบนแผ่นศิลา ที่ผนังวัดพระเชตุพน และวัดราชโอรส และใช้เพื่อเข้าร่วมยาอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ยาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากะเพรา เพียงแต่ว่าคนรุ่นใหม่น้อยนักที่จะรู้จัก แต่ความจริงรู้จักทั้งประเทศอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย เอกลักษณ์ส่วนตัวอีกอย่างคือใบเขียวและเถามีรสขม เมื่อขยี้ใบแล้วจะมีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายตดหมูตดหมา หากเข้าป่าละเมาะหลายคนใครขยี้ใบ คงต้องมองตากันว่าเป็นกลิ่น “ตด” ของใคร

 

ฉันเองเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นได้ไกลกว่า 5 เมตร ยอดอ่อนมีขนใบเล็กน้อย เมื่อแก่ลำต้นมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามใบรียาวแคบเรียวแหลมสีเขียวสด ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด รสขมเฝื่อนปนมัน ก้านใบสั้น ออกดอกเดี่ยวหรือช่อเล็กๆ ประมาณ 2-3 ดอก หรือมากกว่า กลีบดอกด้านในสีชมพูเข้ม มีลายเส้นสีม่วงจุดประสีน้ำตาล ด้านนอกสีขาว มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ ดูคล้ายดาว ริบขอบกลีบมีขน ใจกลางดอกสีเขียวอ่อน เมื่อบานพร้อมกันสวยงามมาก เมื่อแก่จัดเป็นผลเป็นฝักโค้งรูปไข่เปลือกนิ่ม ภายในพองลมคล้ายพริกหยวก มีเมล็ดจำนวนมากติดกับไส้กลางผล เมื่อแก่จะแตกด้านเดียว เมล็ดมีขนสีขาวคล้ายนุ่นติดปลายเมล็ด นำไปขยายพันธุ์ได้ดี และเมล็ดจะลอยลมไปได้ไกล

โดยธรรมชาติจะขึ้นอยู่ริมบึงตามสวนป่าละเมาะ หรือเลื้อยตามรั้วบ้าน เป็นอาหารท้องถิ่น ใช้เป็นผักแกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย หรือผักเคียงน้ำพริก ผักข้าวยำปักษ์ใต้ คั้นน้ำจากใบเถาได้น้ำสีเขียวผสมปรุงขนมขี้หนู  สรรพคุณทั้งต้นเถาใบนำมาต้มน้ำกลั้วคอ แก้อักเสบรักษาโรคดีซ่าน ตัว-ตาเหลือง เป็นยาระบายแก้ไข้รากสาดแก้บิด รักษาแผลสด-น้ำยางจากต้นเถามีสาร มีรสขมเย็นใช้ล้างแผลที่เป็นหนองได้ และปลูกเป็นไม้เลื้อยประดับได้ดี

ฉันถูกเรียกชื่อทั้งเหม็นทั้งคาวทั้งเป็นแอ่งน้ำ ทั้งบูชา ทั้งกระตุกและสวยนุ่มนวลคือ “เหม็นตด” คาวไส้ปลาไหล กระพังแอ่งน้ำโหมคือ บูชายัญบวงสรวง กระตุกคือสะอึก และที่สวยนุ่มนวลคือเรียกผักไหม เพราะใบอ่อนมีสีเขียวอมแดงเป็นเลื่อมเงาคล้ายผ้าไหม แต่ชื่ออะไรไม่สำคัญเท่ากับความน่าภูมิใจที่ดอกสวยแบบจมูกปลาหลด ที่ยืดหดได้จนปลาจริงๆ ต้อง “สลดใจ” เลยจ้า!


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354