“ไก่ภูซาง” สุดยอดไก่เนื้อมาแรง น้ำหนักดี ทนโรค 2 เดือน จับขายได้

หลายคนคงยังไม่คุ้นชื่อหรือรู้จักไก่ภูซางมาก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขออธิบายก่อนว่า “ไก่ภูซาง” เป็นชื่อที่ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมืองบ้านฮวก ตั้งขึ้นมาเพื่ออยากให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัด โดยมีแนวคิดมาจากไก่ย่างวิเชียรบุรีและไก่ย่างเขาสวนกวาง ที่หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ต้องนึกถึงไก่ย่างวิเชียรบุรี หรือใครเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ก็ต้องนึกถึงไก่ย่างเขาสวนกวาง ซึ่งทางกลุ่มก็อยากให้ไก่ภูซางเป็นเช่นเดียวกัน ที่หากใครเดินทางมาถึงจังหวัดพะเยาแล้ว ก็ต้องได้ลิ้มรสชาติไก่ภูซางดูสักครั้ง รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง

ไก่ภูซางตัวนี้อายุ 3 เดือน น้ำหนัก 4.2 กิโลกรัม เก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์
ไก่ภูซางที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ระหว่างประดู่หางดำกับเหลืองหางขาว

จากคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ภูซางบอกว่า “ไก่ภูซาง” เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ระหว่างไก่ประดู่หางดำ มีลักษณะเด่นคือ มีอัตราการเจริญเติบโตดี รสชาติเนื้อหนา อร่อย นิยมบริโภคในภาคเหนือ และเหมาะกับการนำมาใช้ทำพิธีต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย มาผสมกับสายพันธุ์เหลืองหางขาว ที่มีความแข็งแกร่ง แข็งแรง และต้านทานโรคได้ดี

ไก่ภูซางที่เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ระหว่างประดู่หางดำกับเหลืองหางขาว

คุณณัฐกฤตา พิสิษรดากูล หรือ พี่ลิน อาศัยอยู่ที่ 251 หมู่ที่ 12 บ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา อดีตพนักงานประจำในเมืองหลวงทิ้งเงินเดือนเกือบแสน กลับบ้านเกิดมุ่งหน้าพัฒนาที่ดินทำกินของพ่อกับแม่ให้งอกเงยด้วยการทำเกษตรผสมผสาน ควบคู่กับการเป็นอาสาสมัครช่วยชาวบ้านพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยใจรัก

สภาพภายในโรงเรือนโปร่ง โล่ง สะอาด

พี่ลิน เล่าว่า ก่อนที่ตนเองจะเป็นที่ยอมรับของคนในครอบครัวและคนในชุมชน ตนเองผ่านคำดูถูกมามากมาย เพราะจากที่เคยทำงานประจำรับเงินเดือนเกือบแสนมาก่อน แต่กลับลาออกมาเพื่อทำการเกษตร ซึ่งในตอนแรกที่ลาออกพ่อกับแม่ก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ หนำซ้ำยังถูกชาวบ้านนินทา แต่ก็ไม่ย่อท้อ สู้และฟันฝ่าอุปสรรคจนมีทุกวันนี้

“ตอนแรกๆ ที่พี่ทำเกษตรถูกชาวบ้านนินทามากมาย แต่ยังดีที่พ่อแม่สนับสนุน ให้กำลังใจ ไม่ต้องสนใจคำนินทาจากชาวบ้าน พี่จึงค่อยๆ ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ และด้วยความที่พื้นที่แถวบ้านพี่เป็นดอย มีแต่ป่า พี่ก็มาบุกเบิกทำ มีการจัดสรรพื้นที่แบ่งโซนวางผังของพี่เอง ทำมาเรื่อยๆ จากที่ชาวบ้านเคยหัวเราะ ตอนนี้คือเขากลับมาทำเรียนแบบสวนพี่กันเยอะมาก บางครั้งก็ขอเข้ามาดูงานบ้าง ขอวิธีทำปุ๋ยหมักบ้าง จนสวนพี่กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดย่อม เริ่มทำจากการที่ไม่มีความรู้ ในปีแรกพี่ก็นำความรู้มาจากกูเกิ้ล แต่ช่วงหลังจากนั้นพี่ได้เข้าร่วมอบรมเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่จะมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยคนที่เข้ามาอบรมจะมีทั้งคนเก่งมากและคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเกษตรเลย มาแชร์ประสบการณ์และช่วยเหลือกัน นับว่าพี่ได้อะไรจากการอบรมมาเยอะ และนำมาประยุกต์ปรับใช้ให้เข้ากับสวนเราเอง”

ลูกไก่ภูซาง อายุ 7 วัน
ลูกไก่ภูซาง อายุ 7 วัน

 

จากสวนเกษตรผสมผสาน
ต่อยอดเลี้ยงไก่ภูซาง สร้างรายได้

เจ้าของบอกว่า หลังจากที่ลาออกจากงาน ก็เริ่มศึกษาและลงมือทำงานเกษตร เริ่มจากการทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ มีทั้งเงาะโรงเรียน กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงหอยขม เลี้ยงกบไว้เพาะพันธุ์ลูกอ๊อดขาย และการต่อยอดสวนยางพาราของพ่อกับแม่ มีการปลูกโกโก้เสริมในสวนยางสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงการต่อยอดเลี้ยงไก่เพิ่มอีกช่องทางที่มีแนวคิดสืบเนื่องมาจากการที่ตนเองได้ไปหาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนที่ทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้นั่งคุยกับเพื่อนเพียงครึ่งวัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือตลอดระยะเวลาที่คุยกันกับเพื่อนจะมีคนเข้ามาซื้อไก่ของเขาเยอะมาก ซึ่งเขาขายเป็นลูกเจี๊ยบ ที่คลอดออกมาแค่ 1 อาทิตย์ ก็ขายได้แล้วตัวละ 20 บาท จึงเกิดเป็นไอเดีย และมองเห็นช่องทางสร้างรายได้ในการที่จะเลี้ยงไก่อย่างจริงจัง โดยยึดปฏิทินชุมชนเป็นหลัก

“ปฏิทินชุมชนก็คือการยึดหลักฤดูกาลเพาะปลูกของคนในชุมชนเป็นหลัก เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ยึดอาชีพการทำนา ทำสวนยางเป็นหลัก อย่างช่วงต้นปีคนทำสวนยาง เขาก็จะเลี้ยงผีสวนยาง ซึ่งความหมายของผีสวนยาง ก็ต้องใช้ไก่ในการไหว้ และหลังจากนั้นพอไหว้ผีสวนยางเสร็จก็จะเริ่มทำนาต่อ ก็ต้องเลี้ยงผีอีก ซึ่งการเลี้ยงผีในที่นาเปรียบเสมือนการไหว้เจ้าที่ ก่อนที่จะทำอะไร เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และนอกจากการเอาไก่มาไหว้ผีแล้ว คนในชุมชนสวนใหญ่ก็จะนิยมกินไก่มากกว่าเนื้อหมู เนื้อวัวที่มีราคาแพงกว่า รวมถึงพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ติดกับเขาและชายแดนไทย-ลาว พอถึงช่วงปีใหม่หรือเทศกาลงานสังสรรค์ต่างๆ ก็จะมีชนเผ่าที่อยู่บนภูชี้ฟ้าลงมาสั่งไก่ขึ้นไปเลี้ยงทีละ 200-300 ตัว การเลี้ยงไก่จึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อย”

ปัจจุบันที่สวนเลี้ยงไก่อยู่จำนวน 300 กว่าตัว และมีการขยายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ขาดตลาด โดยไก่จำนวน 300 กว่าตัวที่เลี้ยง หากอยู่ในช่วงฤดูกาลทำนาปีจำนวนไก่เท่านี้ไม่พอขาย ยังไม่รวมถึงที่จะทำส่งขายให้กับตลาดประเทศเพื่อนบ้านเลยด้วยซ้ำ

หยอดวัคซีน ป้องกันโรคนิวคาสเซิล ฝีดาษ หลอดลมอักเสบ อหิวาต์
บรรจุปริมาณกระปุกละ 50 กรัม ราคา 35 บาท

วิธีการเลี้ยง สิ่งที่ต้องคำนึงอันดับแรกคือเรื่องของการรักษาความสะอาด จำเป็นต้องมีการทำความสะอาดโรงเรือนนำขี้ไก่ออกทุกอาทิตย์ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดการหมักหมมทำให้เกิดเชื้อรา และหมั่นพ่นยาฆ่าเชื้อทุกอาทิตย์ ช่วยทำให้ไก่ไม่เป็นโรคได้ง่าย โดยยึดหลักง่ายๆ ถ้าสะอาดตั้งแต่เริ่มต้นการดูแลขั้นต่อไปก็ง่ายขึ้น

ผสมอาหารเตรียมไว้ให้ไก่ อาทิตย์ละ 1 วัน

ที่สวนจะมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดประมาณ 2 ไร่ แบ่งพื้นที่สำหรับทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ประมาณ 3-4 งาน เน้นเลี้ยงแบบธรรมชาติ ทำโรงเรือนไว้ให้สำหรับไก่หลบแดด หลบฝน จำนวน 3 โรงเรือน ขนาดความกว้างของแต่ละโรงเรือนประมาณ 5×7 เมตร และลักษณะของโรงเรือนต้องสูง โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในช่วงระหว่างวันก็จะปล่อยให้ไก่ออกหาอาหาร กินหญ้าที่ปลูกไว้ในสวนได้เต็มที่

อาหาร เน้นวัตถุดิบที่ปลูกและหาเองได้จากธรรมชาติคือ 1. ปลวก หาขุดได้จากในป่า 2. แบ่งพื้นที่ไว้สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์หวานอิสราเอลไว้เอง 3. ต้นกล้วย ทั้งจากที่ปลูกเองและจากการเข้าไปหาในป่า 4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำมาจากสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาหารที่ผสมให้ไก่กินเองจากการสังเกตจะช่วยทำให้ไก่ทนโรคมากขึ้น

โรงเรือนสำหรับหลบแดด หลบฝน

การให้อาหาร ให้ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นอาหารที่ทำเอง และในช่วงระหว่างวันจะมีการให้กล้วยน้ำว้าสุกหรือปลวก เป็นอาหารเสริมตามวัตถุดิบที่หาได้ในแต่ละวัน ซึ่งที่สวนจะมีอุปกรณ์สำหรับสับต้นกล้วย เครื่องอัดเม็ดอาหาร และเครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับที่จะนำเอารำข้าวจากที่นำมาบดทำอาหารให้ไก่กินช่วยเพิ่มความสะดวกมากขึ้น

ปล่อยหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ

สูตรอาหารลดต้นทุน คุณประโยชน์สูง 1. ต้นกล้วยที่หมักทิ้งไว้ประมาณ 12 วัน 2. ข้าวเปลือก 3. รำข้าว 4. ข้าวโพดบดละเอียด 5. หญ้าเนเปียร์หวานอิสราเอล 6. อีเอ็ม และ 7. เปลือกหอยขม หรือเปลือกไข่บด ช่วยเพิ่มแคลเซียม นำมาตำให้พอหยาบ แล้วใส่ผสมลงไปคลุกเคล้าพร้อมกับวัตถุดิบชนิดอื่นๆ เป็นอาหารประจำวันให้ไก่กินเช้า-เย็น ช่วยทำให้ไก่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีเนื้อเยอะขึ้น โดยอ้างอิงมาจากการจดบันทึกข้อมูลการให้อาหารทุกๆ เดือนว่าในแต่ละครั้งให้สูตรอาหารแบบไหน ปริมาณเท่าไหร่ และผลที่ได้รับเป็นอย่างไรจึงทำให้มั่นใจได้ว่าสูตรไหนเหมาะกับไก่เราที่สุด

และยังสามารถลดต้นทุนค่าอาหารไปได้มากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ จากที่เมื่อก่อนเคยให้อาหารสำเร็จรูป เดือนหนึ่งต้องใช้อาหารประมาณ 5 กระสอบ ราคากระสอบละ 400-500 บาท คิดเป็นเงินหลายพันบาทต่อเดือน และไก่ได้รับสารอาหารไม่เต็มที่ด้วย แต่พอหันมาทำอาหารไก่เอง ใช้วัตถุดิบที่ปลูกและหาได้ตามธรรมชาติ ต้นทุนค่าอาหารเกือบเท่ากับศูนย์ มีเพียงค่าซื้อยาถ่ายพยาธิบ้างเล็กน้อย ส่วนวัคซีนจะไปขอมาจากกรมปศุสัตว์มาใช้

ให้อาหารไก่เช้า-เย็น

ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 2 เดือน สามารถจับขายได้ เมื่อเทียบกับไก่เนื้อสายพันธุ์ทั่วไปที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน โดยน้ำหนักเฉลี่ยที่ลูกค้าจะนำไปทำพิธีจะนิยมไก่ที่มีน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม แต่ถ้านำไปประกอบอาหารส่วนใหญ่จะนิยมไก่ที่มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป

ข้อดีของไก่ภูซาง ไก่มีความแข็งแรง ทนโรคมากขึ้น จากตอนแรกที่เริ่มเลี้ยงไก่ จะเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่ไปซื้อพันธุ์มาจากร้านคนรู้จัก และเจ้าของร้านก็แนะนำมาว่าไก่สายพันธุ์นี้จะไม่ค่อยทนโรค ในตอนแรกก็ยังไม่เชื่อ แต่พอได้ทดลองเลี้ยงไปสักพักก็จริงอย่างที่พ่อค้าบอก เพราะจากการสังเกตบางครั้งแค่โรคที่มากับลมก็ทำให้ไก่ในสวนเราป่วยได้ เขาจึงแนะนำให้ลองนำพันธุ์เหลืองหางขาวที่เป็นไก่ชนไปผสมพันธุ์ด้วย มันจะแข็งแรงและทนโรคมากขึ้น 

ส่วนผสมของอาหารมื้อหลัก มีกล้วยหมัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเนเปียร์ รำข้าวอ่อน

ราคา กิโลกรัมละ 130 บาท หรือราคาเฉลี่ยต่อ 1 ตัว ประมาณตัวละ 200 บาท และนอกเหนือจากการขายเป็นไก่เนื้อแล้ว ยังมีในส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกไก่ภูซางเพิ่มขึ้นมา ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก เพราะหากมีเวลาโพสต์ขายในกลุ่มไลน์เมื่อไหร่ ต้องมีออเดอร์สั่งเข้ามาอย่างน้อย 50-60 กระปุกขึ้นไป ขายในราคากระปุกละ 35 บาท บรรจุ 50 กรัม เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เลี้ยงที่น้อยกว่าไก่สายพันธุ์ทั่วไป บวกกับสูตรอาหารลดต้นทุนถือว่าสร้างรายได้ดีไม่น้อย

เฉลี่ยรายได้ต่อเดือน เดือนละ 25,000-30,000 บาท ที่แทบไม่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงอะไรมากมาย แค่มีเวลาให้อาหารเช้า-เย็น และหาเวลาว่างสักอาทิตย์ละวันเข้าสวนมานั่งทำอาหาร หมักต้นกล้วย สับหญ้า บดอาหารทิ้งไว้ ส่วนเวลาที่เหลือจะนำไปทำงานเพื่อสังคม เป็นจิตอาสาช่วยชาวบ้าน

อนาคตการตลาดสดใส
ส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน

พี่ลิน บอกว่า สำหรับการตลาดของไก่ภูซางตนเองได้มีการเลี้ยงและแปรรูปมาเป็นเวลากว่า 2 ปี การตลาดเป็นไปได้ดีมาตลอด และมองว่าอนาคตตลาดสดใส โดยคาดการณ์จากสถานการณ์ที่ผ่านมาที่สวนตนเองเลี้ยงไก่จำนวน 300 ตัว ก็ยังไม่พอขาย ยังไม่รวมกับสมาชิกกลุ่มอีก 38 รายที่เลี้ยงไว้ในสวนครัวเรือนละ 50-100 ตัว ก็สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งหมด

โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงก็จะเดินหน้าทำการตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มรูปแบบ จากข้อได้เปรียบจากพื้นที่ตรงนี้ติดกับชายแดนไทย-ลาว วันนี้ด่านกลับมาเปิดอีกครั้งจึงไม่ลังเลที่จะเดินหน้าทำการตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ได้เวลากินอาหารแล้ว
ผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำพริกไก่ภูซาง บรรจุในผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม

ด้วยแผนการตลาดที่วางไว้คือ

  1. สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อ เดินหน้าส่งออกเต็มกำลัง เนื่องจากปัจจุบันที่บ้านฮวกเป็นด่านชายแดนถาวรแล้ว และนอกจากตลาดที่ลาวแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อีกด้วย
  2. ตลาดออนไลน์ ที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและรุกตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อสร้างเครือข่ายกับฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจากที่ได้พูดคุยปรึกษากับนายอำเภอ ท่านบอกว่าทางฝั่งนั้นไก่ส่งออกไม่พอ
  3. การสร้างรายได้เสริมให้กับคนขับรถสองแถว ที่วิ่งขายจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย หากใครหาลูกค้าจากฝั่งนั้นมาซื้อไก่ที่สวนได้ ก็จะมีการแบ่งรายได้ให้กับคนที่พามา

“ก่อนที่จะมีโควิด พี่เคยทำส่งมาแล้วครั้งละ 500-600 ตัว ความซื่อสัตย์และคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการติดต่อการค้าทางฝั่งลาว แต่ถ้าหากทำให้เขาไว้ใจได้แล้ว เขาจะไม่เปลี่ยนใจไปจากเราแน่นอน” พี่ลิน กล่าวทิ้งท้าย

เครื่องอัดเม็ดอาหารขนาดเล็ก
ผสมคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากัน แล้วเสริมเปลือกไข่เข้าไปเพิ่มโปรตีน
ให้จอกแหนเป็นอาหารเสริมวันละ 2 ถัง

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-245-6652 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : ไก่ ภูซาง


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354