ยาหอม ไม่ใช่มีดีแค่แก้ลม

คอลัมน์ พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ประจำเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2556 โดย ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เขียนไว้ว่า ลม มีหน้าที่ในการควบคุมความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ในร่างกาย หากไม่มีลม ก็คงไม่มีเรา เหมือนที่ผู้ใหญ่ท่านมักพูดติดปากว่า “หมดลมหายใจ”

ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย อธิบายไว้ว่า ในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งในจักรวาล (ซึ่งรวมถึงมนุษย์และสัตว์ด้วย) มีตัวควบคุมความสมดุล 3 อย่าง ที่เรียกว่า ตรีโทษะ อันประกอบด้วย เสมหะ (น้ำ-ดิน) ปิตตะ (ไฟ) และวาตะ (ลม) อาจารย์หมอแผนไทยหลายท่านย้ำกับผู้เขียนมาว่าในทางการแพทย์แผนไทยนั้น ให้ความสำคัญกับลมเป็นอันดับแรก เพราะลมทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเสมหะและปิตตะ จึงไม่แปลกที่จะมีคำพังเพยที่พูดถึงคนที่ปรับอารมณ์ยากๆ ว่าเป็นพวกเลือดจะไปลมจะมา หรือแม้กระทั่งในทางการแพทย์แผนไทยเองนั้น จะมียาแก้ลมอยู่มากมายหลายตำรับ ยาหอมก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของยาแก้ลม

นอกจากนี้ ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ยังคงมีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น โดยกล่าวไว้ว่า ในร่างกายของเราประกอบด้วย ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในส่วนของลมนั้นมีการพัดอยู่ทั่วร่างกาย แต่ก็จะมีชื่อเฉพาะของลมที่พัดอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน แต่กล่าวโดยรวมว่า ลมมี 2 ประเภท คือ ลมกองหยาบ กับลมกองละเอียด โดยลมกองหยาบนั้น เราสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของลมได้ อาทิ ลมหายใจเข้า-ออก ลมจากการเรอ และผายลม ส่วนลมกองละเอียดนั้น เรามักไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อเกิดความไม่สมดุลมากๆ ก็จะแสดงอาการออกมา อาทิ ลมที่ก่อให้เกิดอาการหน้ามืดตาลาย เวียนศีรษะ ใจสั่น อ่อนเพลีย

ดังนั้น ยาหอมที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ยาหอม แก้ลมกองละเอียด ซึ่งมีรสหอมเย็น เนื่องจากมีส่วนผมของเกสรดอกไม้ กฤษณา กะลำพักขอนดอก กับยาหอมที่ใช้แก้ลมกองหยาบ ที่จะมีรสร้อน เนื่องจากมีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีรสร้อน อย่างขิง ดีปลี โกฐ และเทียนชนิดต่างๆ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คงมีคำถามว่า แล้วจะเลือกใช้ยาหอมถูกต้องได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าตำรับไหนมีเกสรดอกไม้ ตำรับไหนมีโกฐ เอาแค่หน้าตาของสมุนไพรที่พูดมาก็ไม่เคยเห็น ผู้เขียนก็เลยจะขออนุญาตนำยาหอมตำรับที่อภัยภูเบศรมีจำหน่าย อันได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมอินทจักร์ และยาหอมนวโกฐ มาอธิบายเป็นตัวอย่าง เพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจยาหอมมากขึ้น อีกทั้งใน 4 ตำรับดังกล่าว ยังจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

คุณผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่ายาหอมช่วยปรับให้เกิดการเคลื่อนไหวของอวัยวะและของร่างกาย ให้เป็นปกติ เช่น อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ที่เกิดจากลมกองหยาบกำเริบ) อาการใจสั่น วิงเวียน (ที่เกิดจากลมกองละเอียดกำเริบ) นอกจากยาหอมที่ใช้แก้ลมแล้ว ยาหอมแผนไทยหลายท่านยังพูดตรงกันว่า ยาหอมยังมีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย ในแง่ของการทำให้เกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และบำรุงหัวใจ ซึ่งหากเรานำส่วนประกอบในตำรับยาหอมมาพิจารณาเราก็จะพบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในบรรดายาหอม 4 ตำรับที่กล่าวไปก่อนหน้านี้คือ ยาหอมเทพจิตร ทิพโอสถ นวโกฐ และอินทจักร์ หากดูในส่วนประกอบของตำรับ เราจะพบว่า ยาหอมอินทจักร์ มีส่วนผสมของเบญจกูล   (ที่ในทางการแพทย์แผนไทยกล่าวกันว่า เป็นยาบำรุงไฟธาตุ) ในสัดส่วนที่มากกว่าที่อยู่ในยาหอมอีก 3 ตำรับ ในส่วนอื่นก็จะมีตัวยาที่ค่อนไปทางบำรุง เช่น โกฐพุงปลา โกฐกักเกรา ดีสัตว์  ที่เหลือก็เป็นพวกเกสรดอกไม้ในสัดส่วนพอกัน ยาหอมอินทจักร์จึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการท้องอืดท้องเฟ้อ กับการเต้นผิดปกติของหัวใจแบบที่มีการอุดตันในช่องทางการไหลเวียนของเลือด และใช้บำรุงหัวใจหรือแก้ความผิดปกติเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจที่ไม่รุนแรง

ตำรับยาที่ร้อนน้อยลงมา หรืออาจจะพอๆ กับยาหอมอินทจักร์ คือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมตำรับนี้จึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการท้องอืดท้องเฟ้อ กับการเต้นผิดปกติของหัวใจแบบที่มีการอุดตันในช่องทางการไหลเวียนของเลือด (คล้ายๆ กับยาหอมอินทจักร์) และใช้บำรุงหัวใจ เนื่องจากมีตัวยาจำพวกเกสร ที่มีฤทธิ์หรือสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ ในแง่ของการเติมเต็มหรือฟื้นคืนเนื้อเยื่อหัวใจ ร่วมกับการมีอาการท้องผูก เนื่องจากในตำรับนี้มีส่วนผสมของตรีผลา

ยาหอมทิพโอสถ ในบรรดายาหอมทั้ง 4 ตำรับ ยาหอมตำรับนี้น่าจะใช้ได้ดีกับกรณีของหัวใจเต้นผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับไฟกำเริบปานกลาง เพราะมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้และสมุนไพรที่มีพลังเย็นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ยาหอมทิพโอสถน่าจะใช้แก้ลม และแก้เป็นลม เนื่องจากความร้อนวิงเวียนศีรษะจากภาวะความดันโลหิตสูง

43744071 – phlai herb, cassumunar ginger both fresh and as a powder for the skin scrub

ยาหอมเทพจิตร ตัวยาที่มีปริมาณมากที่สุดคือดอกมะลิ คือเท่ากับน้ำหนักของตัวยาอื่นๆ รวมกัน ที่มีพลังเย็น จึงน่าจะช่วยลดความร้อนได้ดี สมุนไพรที่มีสัดส่วนรองลงมาคือ ผิวของผลไม้รสเปรี้ยวที่จะทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า การรับรู้รสดีขึ้น ยาหอมเทพจิตรจึงน่าจะใช้ได้ดีกับอาการจะเป็นลมและหัวใจสั่น ซึ่งเกิดจากความร้อน (ธาตุไฟ) กำเริบได้ดี ทำให้อารมณ์สงบและทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า

ทว่ายาหอมเทพจิตรและทิพโอสถ ไม่น่าจะเหมาะเท่าไหร่สำหรับหัวใจเต้นผิดปกติที่มีการอุดตันของทางเดินเลือดลม และไม่น่าจะเหมาะกับคนที่มีอาการท้องอืด หรือระบบย่อยอาหารผิดปกติ


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354