ม.มหิดล ส่งต่อแนวคิด “ปรีชาญาณนคร” เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน การดำเนินชีวิตต้องอาศัยความฉลาดและคุณธรรมในการอยู่รอด ปรับตัว พึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ หมดสมัยแล้วที่จะต้องคอยรอรับแต่การช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการพิสูจน์ตนเองว่ามีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ “อีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร” ที่ริเริ่มขึ้นโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ปณิธาน “Wisdom of the land” ที่มีความหมายว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” ด้วยการร่วมพัฒนาชุมชนบนที่สูงให้เกิดเป็น “แผ่นดินอุดมปัญญา” (Land of Wisdom)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พธู คูศรีพิทักษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาผู้สอนหลักกลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาโทของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งได้รับการประกาศให้ได้รับทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2565 ในฐานะหัวหน้าโครงการ “นโยบายการพัฒนาปรีชาญาณนคร”

ก่อนจะพัฒนามาเป็นโครงการ “ปรีชาญาณนคร” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พธู คูศรีพิทักษ์ ได้ใช้เวลาและสั่งสมประสบการณ์นับทศวรรษ เพียรพยายามสร้าง “อีโคมิวเซียม” (Eco Museum) ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชิตชยางค์ ยมาภัย อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา และหัวหน้าโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม (Mahidol Social Engagement) ให้เกิดขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่าง จากการนำนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาของสถาบัน RILCA มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเรียนรู้วิถีชีวิต กินอยู่กับชาวปกากะญอในหมู่บ้านแห่งนี้ ในรายวิชา “การฝึกปฏิบัติระเบียบวิธีวิจัยทางวัฒนธรรมศึกษา” เป็นเวลา 10 ปี จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับชุมชนอย่างแน่นแฟ้นโครงการจึงได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ ตามแนวทางอีโคมิวเซียม “พิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พธู คูศรีพิทักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชิตชยางค์ ยมาภัย ได้ฝากผลงานการสร้างสรรค์และออกแบบพื้นที่ การจัดวางสิ่งจัดแสดง และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจไว้มากมายภายในพิพิธภัณฑนิเวศสถานดอยสี่ธาร ไม่ว่าจะเป็น “สวนเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ชาวชุมชนไทยภูเขาปกากะญอ “ดอยสี่ธาร” ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมออกแบบในครอบครัว และดำเนินการจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนการฝึกให้ลูกหลานชาวไทยภูเขาปกากะญอเป็น “มัคคุเทศก์รุ่นเยาว์” นำชมและทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะสามารถตอบสนองประสาทสัมผัสทั้ง 6 ซึ่งได้แก่ ตา หู  จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พธู คูศรีพิทักษ์ และคณะ จึงมุ่งมั่นสร้างให้มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ได้ร่วมสร้าง “แผ่นดินแห่งปัญญา” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ติดตามนิทรรศการออนไลน์ อีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร ได้ที่ https://artsandculture.google.com/story/gQWhQSbMtRgUdw

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354