มะแขว่น เครื่องเทศพื้นเมือง สู่การพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

มะแข่น หรือมะแขว่น ในบางท้องถิ่นก็เรียก พริกหอม หมากมาศ หมากแก่น มะแว่น ลูกระมาศ มะแขว่นจัดเป็นไม้ยืนต้นที่ชาวเหนือนิยมเอาผลและเมล็ดแห้งมาประกอบอาหาร รวมทั้งนำมาใช้เป็นสมุนไพร เนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมแรงและมีรสเผ็ดร้อน ทำให้ช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยมากขึ้น

คุณสุพัฒธนกิจ โพธิ์สว่าง ต้อนรับ คุณระพีภัทร จันทรศรี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในงานถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับการผลิตมะแขว่น ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

มะแขว่นเป็นไม้ที่พบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ พม่า และลาว

ในประเทศไทยมีอยู่ทั่วไป ทั้งภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ซึ่งชาวเหนือเป็นเครื่องเทศหลักในการประกอบอาหารและรับประทานเป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทลาบ

นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ออกสำรวจต้นมะแขว่นในป่าเพื่อศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการเจริญเติบโตในแต่ละพื้นที่

มะแขว่นเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่

คุณสุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พืชสกุลมะแขว่นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบในพื้นที่ภาคเหนือ 9 ชนิด มีการนำมาบริโภค 3-4 ชนิด ได้แก่ มะแขว่น มะข่วง และมะก๊าด ส่วนมะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวันยังไม่นิยมบริโภคมากนัก เนื่องจากมีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากมะแขว่นสายพันธุ์พื้นเมือง

คุณสุพัฒธนกิจสำรวจศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิชาการเกษตรและชาวบ้านในท้องถิ่น

มะแขว่น หรือมะแข่น ถือเป็นพืชเศรษฐกิจประจำภาคเหนือตอนบนของเมืองไทย นิยมนำมาประกอบอาหารประเภทน้ำพริก แกงอ่อม บางส่วนนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรและเครื่องสำอาง มีการจำหน่ายทั้งผลสดและผลแห้งเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องเทศให้รสเผ็ดและร้อนให้กลิ่นหอมชวนรับประทาน และนำมาเป็นเครื่องเคียงในการรับประทานอาหารประเภทลาบเนื้อทั้งสุกและดิบ

คุณสุพัฒธณกิจ กล่าวว่า มะแขว่นได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลายในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีการผลิตและแปรรูปเป็นปริมาณมาก

เกษตรกรกับมะแขว่นแปรรูปหลายชนิด

สำหรับประเทศไทย ผลผลิตในปัจจุบันส่วนหนึ่งเก็บจากต้นที่ขึ้นเองในป่า และส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้จากการปลูกในเชิงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ตลาดมีความต้องการผลผลิตมากขึ้น เพราะมีการแปรรูปจำหน่าย และมีการนำมาสกัดมาเป็นส่วนประกอบในการทำเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ จึงมีการส่งเสริมให้มีการเพาะขยายพันธุ์และส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกมะแขว่นเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่

เมล็ดมะแขว่นแห้ง เตรียมนำไปแปรรูป

จากที่มะแขว่นเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่มีการผลิตมากในบางพื้นที่ จึงหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้สนับสนุนและผลักดันให้มะแขว่นเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ด้านพืช (GI) ประจำจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดน่าน ศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาและศึกษาการใช้ประโยชน์พืชสกุลมะแขว่น

คุณสุพัฒธณกิจ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายและการตรวจวิเคราะห์จำแนกชนิดพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปสกุลมะแขว่น เพื่อศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา จำแนกชนิด และศึกษาการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ของพืชพื้นเมืองทั่วไปสกุลมะแขว่น

กล้าที่เตรียมแจกเกษตรกร

ในระหว่างปี 2560-2562 ได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่าง รวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์พืชสกุลมะแขว่นในประเทศไทย และพบพืชสกุลมะแขว่น จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ มะแขว่น, มะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวัน และมะข่วง ซึ่งพืชสกุลมะแขว่นมักพบตามป่าทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ที่รกร้าง ชายป่า หรือริมสวนป่า ตั้งแต่ระดับพื้นราบไปจนถึงบนดอยที่มีความสูงมากกว่า 1,000 เมตร

ต้นมะแขว่นที่ปลูกร่วมกับป่า และที่ขึ้นตามธรรมชาติ

มารู้จักกับชนิดของพืช สกุลมะแขว่น

มะแขว่น หรือมะแข่น จัดเป็นพืชบุกเบิกที่ขึ้นภายหลังจากไฟไหม้ป่า หรือป่าเสื่อมโทรม ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง โตเร็ว โรคและแมลงศัตรูพืชมีน้อย ต้องการการบำรุงรักษาน้อย สามารถปลูกในสภาพป่าธรรมชาติ และปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นในภาคเหนือได้ดี เช่น ชา กาแฟอะราบิก้า ส้ม เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด ไม้ผลเมืองหนาว หรือแม้แต่พืชผัก

คุณสุพัฒธณกิจ บอกว่า เนื่องจากมะแขว่นเป็นพืชที่ผลัดใบ และมีทรงพุ่มสูงโปร่ง แสงทะลุผ่านทรงพุ่มได้ดี จึงสามารถเป็นพืชบังร่มเงาให้กับพืชที่ไม่ชอบแสงแดดจัดได้ รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาบางประการในการผลิตพืชได้ อาทิ ลดอาการผิวไหม้ (sun-burn) ในการผลิตส้ม

เพาะจากเมล็ดเพื่อเตรียมเพาะกล้า

มะแขว่นจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 3 ปี มีอายุการให้ผลผลิตนานหลายสิบปี และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามอายุ

คุณสุพัฒธณกิจ บอกอีกด้วยว่า มะแขว่นผลสด 3 กิโลกรัม เมื่อนำมาทำแห้งแล้วจะเหลือ 1 กิโลกรัม มะแขว่นอายุ 3-5 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 5-15 กิโลกรัมสดต่อต้น อายุ 6-10 ปี จะให้ผลผลิต 15-45 กิโลกรัมสดต่อต้น และต้นที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ขนาดต้นสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตได้มากกว่า 50 กิโลกรัมต่อต้น

มะแขว่นขึ้นร่วมป่าที่จังหวัดน่าน

มะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวัน

ลักษณะเด่นมะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวันคือ ลำต้นมีหนามสั้นแหลม ต้นเตี้ย และเล็กกว่ามะแขว่นสายพันธุ์ไทย มีผลดก ผลสุกจะมีสีแดงสด ผลมีน้ำมันหอมระเหยปริมาณมาก ใบและขนาดทรงพุ่มเล็กกว่า เมื่อเทียบกับมะแขว่นสายพันธุ์ไทย

แหล่งที่พบ มีการนำเข้าพันธุ์มาจากแรงงานรับจ้างที่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน นำมาปลูกที่จังหวัดพะเยาเป็นแห่งแรก พบว่าเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตเร็วกว่ามะแขว่นพื้นเมืองพันธุ์ไทย ได้มีการเพาะพันธุ์ต้นกล้าจำหน่ายแพร่กระจายไปทั่วภาคเหนือหลายจังหวัด

มะแขว่นแปรรูปได้หลายชนิด น้ำมันหอมระเหย

มะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวันมีกลิ่นไม่หอมเหมือนมะแขว่นพื้นเมืองสายพันธุ์ไทย จึงไม่ได้รับความนิยมมาประกอบอาหารเป็นเครื่องเทศ ภายหลังต้นมะแขว่นสายพันธุ์ไต้หวันขาดการดูแลและถูกโค่นทิ้ง แต่จากการสกัดทำน้ำมันหอมระเหย พบว่ามีปริมาณน้ำมันค่อนข้างสูง จึงได้รับความสนใจในการนำน้ำมันที่สกัดมาใช้ประโยชน์แทนการบริโภค

มะข่วง

พบได้ตามป่าเบญจพรรณ เจริญในพื้นที่เขตร้อน หรือในพื้นที่เขตอบอุ่นของโลก สำหรับประเทศไทยพบมะข่วงในพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ และพะเยา

คุณสุพัฒธณกิจ อธิบายว่า มะข่วงเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-20 เมตร มีหนามรอบลำต้นและกิ่ง ใบเป็นประกอบแบบขนนกใบคู่ หรือคี่เรียงสลับกัน ออกดอกตรงปลายกิ่งช่วงเดือนเมษายน เป็นดอกชนิดไม่สมบูรณ์ เพศ (แยกต้นแยกเพศ) เริ่มให้ผลประมาณปลายเดือนเมษายน ผลค่อนข้างกลม เมล็ดขนาดเล็ก สีดำเป็นมัน มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบ

คุณสุพัฒธณกิจ อธิบายต่อไปว่า เรายังสามารถพบมะข่วงในบางพื้นที่ของภาคตะวันตกที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น และมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในบางที่ของจังหวัดเพชรบุรี อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และอำเภอแก่งกระจาน เนื่องจากมีชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและลาวโซ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ปลูกสำหรับใช้ประกอบอาหารและนำมาเป็นยาสมุนไพร ชาติพันธุ์กลุ่มนี้เรียกพืชชนิดนี้ว่า มะแข่น มะแขว่น พริกพราน หรือพริกนายพราน นอกจากนั้น มะข่วงถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาแผนโบราณสำหรับรักษาโรคชนิดต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยพบว่ามีสารแอลคาลอยด์ เป็นสารกลุ่มหลัก และสารกลุ่มรองคือ ลิกแพนคูมา รินเอไบด์ และเทอร์ฟีน และยังมีข้อมูลจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงการมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายของสารพฤกษเคมีที่เป็นองค์ประกอบโดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านมะเร็ง

การจำหน่าย เขามักจะนำผลสุกแก่ที่ตากแห้งมามัดเป็นช่อขนาดประมาณ 1 กำมือ มาวางขายในราคากำละ 20-50 บาท แล้วแต่ช่วงฤดูกาล เพื่อใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหารประเภทพริกแกง

โอกาสที่มะแขว่น จะเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

คนทางภาคเหนือนิยมนำผลและเมล็ดแห้งประกอบอาหาร เนื่องจากผลแห้งของมะแขว่นมีกลิ่นหอมแรงและมีรสเผ็ดร้อน ช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อย รวมถึงใช้เป็นยาสมุนไพร มีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร และฆ่าพยาธิบางชนิด

นอกจากนี้ ยังมีการนำผลสดและแห้งมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ทา ถู นวด ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เช่น แชมพู ครีมบำรุงผม และยังสามารถพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นป้องกันยุงและไล่แมลงศัตรูพืช

คุณสุพัฒธณกิจ กล่าวอีกด้วยว่า จากสรรพคุณต่างๆ ดังกล่าว มะแขว่นมีศักยภาพและสามารถที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของบางพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดน่าน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายเป็นพืชการค้า มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายทั้งการเป็นส่วนประกอบอาหาร และยาในตำรับยาไทยและตำรับยาจีน

สารสำคัญหลักในมะแขว่น ที่ให้กลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ คือ สาร D-limonene, Terpin-4-OL และ Sabimene จากการวิจัยยังพบว่า น้ำมันมะแขว่นมีสรรพคุณบรรเทาอาการบาดเจ็บ และลดการอับเสบของกล้ามเนื้อ การสูดดมน้ำมันมะแขว่น ยังมีผลต่อการเพิ่มค่าความดันโลหิต และกระตุ้นประสาทให้มีการตื่นตัว ทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นด้วย

ส่งเสริมให้ปลูกมะแขว่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า

คุณสุพัฒธณกิจ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า มะแขว่นเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ยาก เนื่องจากในธรรมชาติ เมล็ดมีอัตราการงอกต่ำ ต้นกล้ามะแขว่นที่เพาะได้ เมื่อย้ายปลูกลงดิน มีอัตราการรอดชีวิตน้อย เนื่องจากระบบรากอ่อนแอและไม่ทนน้ำขัง รวมทั้งไม่ทนทานต่อสารเคมีกำจัดวัชพืช จึงจำเป็นต้องการมีพัฒนาและส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์มะแขว่นอย่างถูกต้องเหมาะสม และให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่จะนำไปปลูก

จากการสำรวจจะเห็นว่า มะแขว่นเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และสามารถปลูกเป็นพืชเพิ่มรายได้ร่วมกับป่าและร่วมกับพืชอื่น โดยใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

คุณสุพัฒธณกิจ เล่าว่า ที่ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง มีการปลูกมะแขว่นมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ โดยในพื้นที่หมู่ที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่และต้นปลูกมากที่สุด

ทั้งนี้พบว่า พื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลป่าแป๋ มีสภาพอุดมสมบูรณ์หนาแน่นไปด้วยป่าไม้ ราษฎรทุกบ้านจะช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทุกบ้านจะปลูกต้นมะแขว่นเป็นพืชร่วมกับป่าไม้ เนื่องจากต้นมะแขว่นเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ปลูกอยู่ท่ามกลางป่าไม้ ช่วยในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ และปลูกร่วมกับพืชระดับล่าง เช่น กาแฟอะราบิก้า ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตและสร้างรายได้มากที่สุด อะโวกาโด พลัม (ลูกไหน) โกโก้ กล้วย มะกิ๊ง (พืชใกล้จะสูญพันธุ์) รวมทั้งพืชสมุนไพร ได้แก่ กระชายดำ กระชายขาว ขมิ้น เถาวัลย์เปรียง ไพลดำ ไพลเหลือง หญ้าเอ็นยืด ซึ่งเป็นสมุนไพรองค์ประกอบในการทำลูกประคบ

สานต่องานวิจัยให้สมบูรณ์

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ได้นำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นดังกล่าว จัดทำ “โครงการยกระดับการผลิต การกระจายพันธุ์ การแปรรูป การสร้างผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการตลาดมะแขว่นแบบครบวงจร” เพื่อยกระดับให้มะแขว่นเป็นพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมให้เป็นพืชเกษตรปลอดภัย ภายใต้แนวทางเกษตรชีวภาพ และเกษตรแปรรูป ต่อยอดสู่เกษตรอุตสาหกรรม และส่งเสริมและผลักดันให้มะแขว่นซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่น และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้านพืช ประจำตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

สนใจชมสวนป่ามะแขว่น ปลูกร่วมป่าไม้ และพืชสมุนไพร ที่ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ติตต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 โทร. 053-114-133-6 หรือ คุณสุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ โทร. 089-637-4821

……………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354