ราคาข้าวขยับรับรัฐล้างสต๊อก ชาวนา-โรงสีข้าวภาคใต้ยิ้มออก

ชาวนา เถ้าแก่โรงสีข้าวภาคใต้ใจชื้น ราคาข้าวขยับขึ้น 20% โรงสีกำลังการผลิตล้นเกือบ 50% ข้าวไม่พอขาย เหตุเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มหลังรัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ เจ้าของโรงสีพัฒนโสภณเจริญพาณิชย์ ในฐานะนายกสมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปีนี้ธุรกิจโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาในภาคใต้เริ่มมีรายได้ดีขึ้น เนื่องจากราคาข้าวได้ขยับขึ้นประมาณ 20% เช่น ข้าวขาวจากเดิมราคาตันละ 5,800-6,000 บาท ขยับขึ้นถึง 7,100-7,200 บาท ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น เล็บนก ข้าวเฉี้ยง และข้าวสังข์หยด ราคาดีต่อเนื่องและมีเสถียรภาพในระดับ 10,000-18,000 บาท/ตัน แต่ชาวนาจะมีรายได้ที่ดีหากราคาข้าวเปลือก (ข้าวขาว) อยู่ที่ 8,500 บาท/ตัน และข้าวพันธุ์พื้นเมือง 10,000 บาท/ตัน ในระดับความชื้น 15%

ทั้งนี้ประเมินว่าแนวโน้มราคาข้าวจะดีขึ้น เพราะได้ปรับฐานราคา และที่สำคัญปริมาณข้าวในสต๊อกของรัฐบาลเหลือน้อยและเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ขณะนี้ชาวนาได้ตื่นตัวในการปลูกข้าวอีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะทำนาปรัง ซึ่งแหล่งปลูกข้าวรายใหญ่ของภาคใต้คือ จังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม พื้นที่นาข้าวในภาคใต้ลดลงไปกว่า 1 ล้านไร่ ขณะนี้เหลือประมาณ 5 แสนไร่เท่านั้น โดยมีผลผลิตรวมประมาณ 350,000 ตัน/ปี จากเดิมเคยมีผลผลิตข้าวอยู่ที่ 4-5 แสนตัน/ ปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่นาลดลงไป เนื่องจากชาวนาหันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันหลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เพราะทำนาแล้วขาดทุนอย่างหนัก โดยพื้นที่นาข้าวมีสัดส่วนลดลงปีละประมาณ 10-20% ปัจจุบันการบริโภคข้าวส่วนใหญ่จึงต้องนำข้าวมาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง

สำหรับผู้ประกอบการโรงสีข้าวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ประสบภาวะขาดทุนและหลายรายขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันมีโรงสีข้าวจำนวนกว่า 100 โรง มีกำลังการผลิตสีข้าวได้มากถึง 5-6 แสนตัน/ปี แต่ตอนนี้ปริมาณข้าวมีไม่เพียงพอหายไปเกือบ 50% และมีเงินหมุนเวียนในระบบลดลงจากประมาณ 5 พันล้านบาทเหลือเพียง 2-3 พันล้านบาท/ปีเท่านั้น แต่สถานการณ์ขณะนี้ก็เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์