สศท.9 เจาะแนวทางโซนนิ่ง จ.สงขลา ชู สละ-สมุนไพร พืชร่วมยาง ที่น่าจับตา

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา จัดหารือระดมแนวทางบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือ Zoning ของจังหวัดสงขลา ยกพืชร่วมยางพาราที่น่าสนใจ เช่น สละ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน และพืชสมุนไพร ที่สามารถแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ระบุ พืชเสริมและพืชทดแทนอื่นที่มีศักยภาพในพื้นที่ยังมีอีกมาก เช่น กระจับในร่องน้ำ มะพร้าวน้ำหอม และ มะม่วงเบา เป็นต้น

นายคมสัน  จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงผลการประชุมหารือโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ปี 2560 ของจังหวัดสงขลา ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 (สศท.9) จังหวัดสงขลา จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 8 (ว่าที่ ร.ต. ไพเจน มากสุวรรณ์)  เป็นประธาน เพื่อนำเสนอหลักคิดในการบริหารจัดการในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการเป็นรายพื้นที่ต่อไป

สำหรับจังหวัดสงขลา นับเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง โดย สศท.9 ได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ ของสินค้าข้าว บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา  ดำเนินการศึกษาสินค้าทดแทนและปรับเปลี่ยนที่เหมาะสม เช่น ปาล์มน้ำมัน พืชผัก และสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ดาวเรืองตัดดอก หญ้าหวายข้อ กล้วยหอมทอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังค้นพบข้อสรุปที่ได้จากการระดมความคิดเห็น โดยพบว่า พืชร่วมยางพาราที่น่าสนใจ ได้แก่ สละ เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน และพืชสมุนไพร ที่สามารถแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตลาดมีความต้องการสูง อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีที่ใช้ในสวนยาง เพราะอาจปนเปื้อนได้  สำหรับพืชเสริมและพืชทดแทนชนิดอื่นที่น่าสนใจ เนื่องจากมีศักยภาพในพื้นที่ ได้แก่ กระจับในร่องน้ำ มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงเบา

ทั้งนี้ พบว่า เกษตรกรยังมีความต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มรายได้ โดยการปลูกพืชแซม การเลี้ยง ปศุสัตว์ในสวนยางพารา ซึ่งแนวทางในการเลือกสินค้าทดแทนนั้น ควรพิจารณาหลายด้าน ทั้งโอกาสทางการตลาด ความเหมาะสมทางกายภาพ (ดิน น้ำ)  เป็นสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินค้าที่ทดแทน  มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุน และสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนอีกด้วย  ซึ่งเกษตรกรและท่านที่สนใจในโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดสงขลา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 โทร. 074 312 996 หรือ อีเมล [email protected]