บุรีรัมย์ ใช้นวัตกรรมแก้จน ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

การทำนา เป็นอาชีพหลักของชาวบุรีรัมย์ ทำนาโดยพึ่งพาน้ำฝนปีละครั้ง อาชีพรองลงมาคือ ปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มักประสบปัญหาภัยธรรมชาติเป็นประจำทุกปี โดยพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งครอบคลุม 23 อำเภอ เนื้อที่ 4 หมื่นไร่

โครงการเกษตรอินทรีย์ สามัคคีร่วมใจ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งให้กับพื้นที่บ้านตามา บ้านสุขวัฒนา และบ้านสุขสำราญ ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

โดย วช. ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการภัยแล้งพื้นที่เกษตรกรรม ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก 12 นวัตกรรม ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ให้สูงขึ้น

ชุดผลิตสับและอัดเม็ดปุ๋ยจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งที่ได้จากป่าชุมชน

 

สูบน้ำระบบโซล่าเซลล์

ลดต้นทุน-แก้ปัญหาน้ำ

นายดุม เจริญรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านตามา ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า  ชุมชนบ้านตามา และบ้านสุขสำราญ จำนวน 291 ครัวเรือนประสบปัญหาการจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะน้ำบริโภค  ที่ชุมชนต้องพึ่งพาระบบการสูบน้ำจากประปา รพช.ที่มีอายุกว่า 20 ปี ซึ่งชุดอุปกรณ์เก่าชำรุด ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ยากแก่การซ่อมแซมบำรุงรักษา อีกทั้งต้นทุนพลังงานไฟฟ้าสูง ชุมชนจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสูบน้ำและส่งน้ำเป็นเวลา แต่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม ในช่วงเวลาเร่งด่วน

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาช่วยเหลือชุมชน

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งมอบชุดสถานีสูบน้ำและกระจายน้ำหนองชลประทาน ได้รับการติดตั้งระบบสูบน้ำและกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด-ออฟกริด ขนาด 3,000 วัตต์ จำนวน 2 ชุด ปั๊มสูบขนาด 2 แรงม้า สู่ถังเก็บขนาด 10,000 ลิตร แล้วสูบส่งขึ้นหอสูง 20 เมตร ด้วยปั๊มขนาด 3 แรงม้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาจัดการน้ำและลดต้นทุนพลังงานของชุมชนบ้านตามา และบ้านสุขสำราญ มีน้ำใช้เพียงพอทั้งการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอด 24 ชั่วโมง น้ำไหลสม่ำเสมอด้วยแรงดันสูง ช่วยลดภาระปั๊มและลดปริมาณพลังงานไฟฟ้าได้ 30-40% นวัตกรรมดังกล่าวทำงานระบบอัตโนมัติทั้งหมด ช่วยลดแรงงานคนในการดูแลจัดการน้ำประปาหมู่บ้าน

นายดุม เจริญรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านตามา

ชุมชนบ้านสุขวัฒนา หมู่ที่ 16 ก็ได้รับการติดตั้งนวัตกรรมสูบน้ำและกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และชุดนวัตกรรมหน่วยเก็บกักน้ำย่อยและกระจายน้ำระบบไฮบริด ออฟกริด ขนาด 3,000 วัตต์ สามารถกระจายน้ำเข้าสู่แปลงปลูกผักเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และได้เชื่อมต่อท่อส่งน้ำเข้าเสริมระบบน้ำใช้ของชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้ กอ.รมน.และวช. ได้ส่งมอบชุดระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อการเกษตร ให้แก่พื้นที่หมู่บ้านตามา สุขวัฒนา และสุขสำราญ เพื่อบริการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร

 

ชุดทำความสะอาด เมล็ดพันธุ์ข้าว

เนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีอาชีพหลักคือ การทำนาข้าว กอ.รมน.และวช. จึงสนับสนุนชุดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า 220 โวลต์ มีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลัง รวม 6.5 แรงม้า โดยเสียค่าไฟฟ้า 21.5 บาท ต่อชั่วโมง นวัตกรรมนี้มีศักยภาพในการทำงาน 400 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง สามารถคัดแยกเศษสิ่งเจือปนที่ติดมากับข้าวที่เก็บเกี่ยว ได้แก่ ฟางท่อน ใบหญ้า วัชพืช ดอกวัชพืช ข้าวลีบ ข้าวปน ข้าวเมล็ดสั้น

นายวิศุรต พรมนัส ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 18 ตำบลชุมแสง กล่าวว่า เทคโนโลยีชุดคัดแยกและทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยส่งเสริมให้กิจกรรมของกลุ่มฯ พึ่งพาตัวเองในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้กันเองในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอ และสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อจำหน่ายเชิงการค้าให้แก่กลุ่มเครือข่ายข้าวอินทรีย์ในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง ภายใต้แบรนด์ “พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ชุมชนบ้านตามา”

นายวิศรุต พรมนัส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 18 ตำบลชุมแสง

ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ให้บริการชุดคัดแยกและทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยคิดค่าบริการ 1.5 บาท ต่อกิโลกรัม ไม่รวมค่าขนส่ง แบ่งเป็น 3 ส่วน โดย 1 ส่วน เป็นค่าจ้างแรงงานผู้ปฏิบัติงาน อีก  2 ส่วน เก็บไว้เป็นค่าส่วนกลางสำหรับบริหารจัดการ ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ค่าบำรุงสาธารณประโยชน์ โดยให้บริการทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแล้ว 45 ตัน มีรายได้เข้ากล่ม 67,500 บาท ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน และเพิ่มคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อทำการเพาะปลูกในฤดูทำนา

 

เครื่องสับย่อย-อัดเม็ดปุ๋ย

ชุมชนบ้านตามา สุขวัฒนา และสุขสำราญ มีความต้องการเครื่องสับย่อยและอัดเม็ดปุ๋ยเพื่อจัดการผลผลิต กอ.รมน.และวช. จึงจัดส่ง “ชุดสับและอัดเม็ดปุ๋ยจากผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งจากป่าชุมชน” เพื่อสามารถผลิตปุ๋ยจากชีวมวล ใช้เป็นปัจจัยการผลิตเองภายในชุมชน โดยเฉพาะรูปแบบการอัดเม็ดปุ๋ย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนได้อย่างดี นวัตกรรมนี้ทำให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองโดยนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ใหม่เองในชุมชน

เครื่องจักรกลชุดนี้ ประกอบด้วย อุปกรณ์บดย่อยวัสดุ แบบจานหมุน สับย่อยได้ 150 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ความโตของกิ่งไม้ ท่อนไม้ ไม่เกิน 2 นิ้ว แบบแฮมเมอร์มิลล์ บดย่อยได้ 120 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง รูตะแกรง 5-10 มิลลิเมตร อุปกรณ์เกลียวลำเลียง 200 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง อุปกรณ์ถังผสมวัสดุ 100 กิโลกรัม ต่อรอบการผลิต อุปกรณ์อัดเม็ดปุ๋ย 250 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังผลิตปุ๋ยชีวมวลอัดเม็ดออกขายสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีก 1-2 เท่าตัว

 

เครื่องอบแห้งข้าวเปลือก

ช่วงฤดูทำนา มีปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้คือ ปัญหาน้ำท่วม ฝนตกชุก หลายครั้งเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวข้าวจมน้ำ ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ขายไม่ได้ราคา กอ.รมน.และวช. จึงสนับสนุน “ชุดระบบอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดแบบถังหมุนชนิดเคลื่อนย้ายได้ ระบบโซล่าร์เซลล์ไฮบริด-ออฟกริด” ส่งมอบให้เกษตรกรนำไปใช้อบแห้งข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด

แปลงสาธิตไร่นาสวนผสม

นวัตกรรมชุดนี้ มีความสามารถในการทำงาน 0.5-3 ตันข้าวเปลือก ต่อชั่วโมง สามารถลดความชื้นได้ 4-6% ในเวลา 3-5 นาที นอกจากนั้น ยังพบว่าข้าวเปลือกมีสภาพร่วนขึ้น ไม่เกาะติดกัน ใช้เชื้อเพลง LPG ประมาณ 1.2 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง กำเนิดรังสีอินฟราเรดและใช้กำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 3,500 วัตต์ ที่ผลิตจากโซล่าร์เซลล์ระบบไฮบริด-ออฟกริด ขนาด 6,000 วัตต์ แบตเตอรี่ลิเที่ยม ขนาด 200 แอมป์-ชั่วโมง ออกแบบให้มีพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ 50 เฮิร์ต ไว้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเชื่อม สว่าน พัดลม ทีวี เป็นต้น โดยใช้แรงงานในการควบคุมการทำงานของเครื่อง 1 คน เหมาะสำหรับกิจการขนาดย่อยสามารถอบแห้งวัสดุทางการเกษตร ลักษณะเป็นผง ก้อน เม็ด และเมล็ดพืช

นวัตกรรมนี้ใช้อบแห้งความชื้นข้าวเปลือก ลดปัญหาขาดแรงงาน ลดระยะเวลาและพื้นที่ตากข้าวนอกฤดูกาล สามารถแปรรูปข้าวเปลือกเป็นสินค้าอื่นได้ ขนาดเครื่องจักรเหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรใช้แรงงานน้อยลง ลดเวลาทำงาน นอกจากข้าวเปลือกแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้มากขึ้นสูงสุดกว่า 50 เท่า

เกษตรกรใช้เครื่องอบแห้ง ทดแทนการตากลานลดต้นทุนได้ 100 บาท ต่อตันข้าวเปลือก ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งสิ้น 71.6 ล้านไร่ จำนวนผู้ปลูกข้าวรายย่อยราว 2 ล้านราย จากทั้งสิ้น 3.5 ล้านราย มีผลผลิตราว 15 ล้านตัน ทำให้ลดต้นทุนได้ราว 1.5 พันล้านบาท (1 ราย ถือครองที่นา 15 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 0.5 ตัน)

ชุดระบบอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรดแบบถังหมุนชนิดเคลื่อนย้ายได้

นวัตกรรมนี้ เมื่อนำไปใช้จริงในหลายพื้นที่พบว่า สามารถเพิ่ม-ปริมาณผลผลิต จากความสามารถในการทำงานที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพของข้าวเปลือกดีขึ้น ลดระยะเวลาในการผลิตและความเสี่ยงในการผลิตจากสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งต้นทุนผลิตกว่าวิธีการใช้แรงงานแบบเดิม

ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้เพื่อการเกษตร

หากใครสนใจนวัตกรรมเครื่องจักรเหล่านี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทร.089-187-4946


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354