“คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน” ผลิตภัณฑ์แปรรูปเด่น ฝ่าวิกฤตมะพร้าวราคาตก สร้างรายได้ไม่น้อย

มะพร้าวในประเทศไทยมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 1 นั้นคงหนีไม่พ้น มะพร้าวทับสะแก ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ลูกดก ลูกใหญ่ เนื้อหนา เปลือกบาง และที่สำคัญคือมีค่าความมันของกะทิที่สูงมาก ทำให้มะพร้าวทับสะแกได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของร้านเบเกอรี่ ร้านอาหารที่นำไปเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญในการชูรสชาติอาหาร และด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นที่กล่าวมานี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวทับสะแกที่นอกเหนือจากการปลูกเพื่อจำหน่ายผลเพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่มูลค่าไม่น้อย

คุณลัษมา ขันธศิริ หรือ พี่ยุ้ย ประธานวิสาหกิจชุมชนหนองแกแปรรูป

คุณลัษมา ขันธศิริ หรือ พี่ยุ้ย ประธานวิสาหกิจชุมชนหนองแกแปรรูป อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 8 บ้านหนองแก ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบธุรกิจทัวร์ ควบคู่งานเกษตรปลูกพืชผสมผสานบนพื้นที่ 30 ไร่ พร้อมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เด่นจากมะพร้าว ที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นสินค้าเด่นช่วยเกษตรกรในชุมชนฝ่าทุกวิกฤตมาได้

ผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน บรรจุในแพ็กเกจจิ้งทันสมัย ใช้ง่าย สะดวกกับผู้บริโภค

พี่ยุ้ยเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกร รวมถึงบทบาทการเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนหนองแกแปรรูปให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพทำบริษัททัวร์ รวมถึงธุรกิจรถเช่ามาก่อน โดยอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่เกิดจากความชอบส่วนตัวที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อของสามีมีที่ดินว่างเปล่าอยู่ 1 ผืน ตนเองและสามีจึงมีความคิดเห็นตรงกันว่าอยากจะทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ให้งอกเงยขึ้นมา ประกอบกับที่ตนเองมีความสนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์เป็นทุนเดิม อาชีพเกษตรจึงสำเร็จขึ้นมา ส่วนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในชุมชนได้มีพื้นที่มาร่วมกันหาทางออกในทุกสถานการณ์ทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปหลักๆ ของกลุ่มก็คือมะพร้าว ที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร มาเป็นตัวหลักในการแปรรูปครั้งนี้

แปลงเพาะพันธุ์มะพร้าว

ปลูกพืชผสมผสานบนพื้นที่ 30 ไร่
ชูมะพร้าวทับสะแกเป็นผลผลิตเด่น

พี่ยุ้ย บอกว่า ปัจจุบันตนเองมีพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ 30 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ 10 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 20 ไร่ เป็นการปลูกผสมผสานทั้งพืชสวน ไม้ผล รวมถึงไม้ป่าไว้ด้วยกัน ซึ่งมะพร้าวที่นำไปแปรรูปก็ปลูกรวมไว้อยู่พื้นที่ส่วนนี้ ด้วยจุดเด่นของมะพร้าวทับสะแกที่ปลูกอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอเมือง (เฉพาะตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ และตำบลห้วยทราย) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นมะพร้าวสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GI (GI คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่) ทำให้มะพร้าวทับสะแก กลายเป็นสินค้า GI ที่สำคัญของพื้นที่และเป็นที่ยอมรับในคุณภาพมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การพลิกวิกฤตต่อยอดสร้างรายได้ จากพืชเศรษฐกิจหลักของคนประจวบฯ และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนในชุมชนบ้านเกาะหลักที่ปลูกมะพร้าวเป็นอาชีพเกือบทั้งหมด ซึ่งในบางครั้งต้องประสบกับปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำหรือผลผลิตล้นตลาด เกิดเป็นการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา โดยเริ่มจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทขนมหวานทานเล่น เช่น มะพร้าวแก้ว ทองม้วน มะพร้าวเกล็ดหิมะ น้ำตาลสดจากดอกมะพร้าว จนมาถึงผลิตภัณฑ์ล่าสุดคือ คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน และมะพร้าวข้นหวาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ

มะพร้าว GI ทับสะแก

ด้วยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน และมะพร้าวข้นหวาน สามารถใช้แทนนมข้นหวานได้เลย แต่จะมีความแตกต่างไปจากนมข้นหวานทั่วไปคือ นมข้นหวานทั่วไปจะมีส่วนผสมของวัตถุดิบหลักคือน้ำตาลทราย ซึ่งน้ำตาลทรายจะเป็นโทษต่อร่างกายถ้าทานในปริมาณที่มากเกินไป แต่สำหรับมะพร้าวข้นหวานของเราทำมาจากน้ำตาลมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว ที่มีค่ามวลดัชนีน้ำตาลต่ำ เมื่อเวลาผู้บริโภคทานเข้าไปจะค่อยๆ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดไม่แกว่ง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาเพื่อตีตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ สามารถใช้แทนนมข้นหวาน หรือนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบในการทำเบเกอรี่ หรือใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ โกโก้ รวมทั้งนำไปทานคู่กับขนมปัง กล้วยปิ้ง ได้เลย การันตีว่าอร่อยมากๆ

ผลิตภัณฑ์มะพร้าวข้นหวาน ขนาดเล็ก

โดยองค์ความรู้กระบวนการแปรรูปสำหรับผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน และมะพร้าวข้นหวาน เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาวงการมะพร้าวให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกกลุ่มทุกคนจะพยายามคิดค้นสรรหาวิธีการแปรรูปอยู่ตลอดเวลา จนบังเอิญได้เข้าร่วมโครงการของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 8 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เข้ามาร่วมพัฒนาสูตรจนสำเร็จ

ผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน ขนาดเล็ก

กระบวนการแปรรูป หัวใจสำคัญ
ต้องเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพ

สำหรับขั้นตอนกระบวนการกว่าจะออกเป็นผลิตภัณฑ์ได้ พี่ยุ้ย บอกว่า ต้องใช้ทั้งความอดทนและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากที่ทางกลุ่มได้สูตรมาจากคณะวิจัยมาแล้ว ยังต้องนำมาปรับปรุงสูตรเพิ่มเติมอีก เนื่องจากอัตราส่วนที่ได้มา เป็นอัตราส่วนในลักษณะของการทำในระดับครัวเรือน ยังไม่ถึงขั้นทำเป็นอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นหากจะทำเพื่อการค้าเชิงอุตสาหกรรมจะต้องทำในปริมาณที่เยอะ จึงต้องมีการปรับปรุงคำนวณสูตรใหม่ ใช้เวลาลองผิดลองถูกพอสมควรกว่าจะได้สูตรที่เหมาะสมสำหรับการทำขายในปริมาณมากสำหรับเรื่องของวัตถุดิบ ถัดมาคือเรื่องของอุปกรณ์เครื่องจักรถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าจะทำเพื่อจำหน่ายเน้นในปริมาณในการขายจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่มีราคาสูงต่างไปจากการทำแบบครัวเรือน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาโดยตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิต

ใช้เป็นส่วนผสมหลักทำขนม ชูรสชาติเด่นให้กับขนมได้เป็นอย่างดี 

ขั้นตอนการแปรรูป

  1. มะพร้าวคือวัตถุดิบหลักสำคัญ ที่มะพร้าวทับสะแกมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกะทิที่ได้จากการคั้นออกมา จะมีความเข้มข้นและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
  2. น้ำตาลมะพร้าว ถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้อีกเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องใช้ความอดทนพอสมควร เพราะขั้นตอนกว่าจะได้เป็นน้ำตาลมะพร้าวต้องผ่านกระบวนการมากมาย ตั้งแต่การไปเก็บน้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าว หลังจากนั้นก็ต้องนำมาผ่านกรรมวิธีในการเคี่ยวจนได้เป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ 100 เปอร์เซ็นต์
มะพร้าวข้นหวานเสิร์ฟพร้อมขนมปังครัวซองต์ 

วิธีการทำ

  1. ในส่วนของน้ำกะทิที่คั้นออกมาแล้ว นำไปปั่นจนเนื้อกะทิแตกตัวเป็นเนื้อเนียนนุ่มเหมือนครีม
  2. นำน้ำกะทิที่ปั่นจนได้ที่มาผสมกับน้ำตาลมะพร้าว แล้วเคี่ยวจนส่วนผสมทั้ง 2 อย่างผสานเป็นเนื้อเดียวกัน โดยขั้นตอนก่อนจะนำน้ำตาลมะพร้าวมาผสม จะต้องเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวให้เป็นเนื้อคาราเมลก่อน แล้วจึงค่อยนำมาผสมกับน้ำกะทิที่มีเนื้อเนียนนุ่ม จากนั้นเคี่ยวจนส่วนผสมทั้ง 2 อย่างจะข้นเหนียวเป็นเนื้อคาราเมล ใช้เวลาเคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 1 กิโลกรัม
  3. เคี่ยวจนส่วนผสมเหนียวข้นได้ที่แล้ว พักไว้ให้เย็น จึงค่อยบรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้
  4. อัตราส่วนในการทำ กะทิ 1 กิโลกรัมต่อน้ำตาลมะพร้าว 6 ขีด ไม่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย ไม่แต่งกลิ่นหรือรสชาติใดๆ ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเรา สดใหม่ ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์
น้ำตาลสดจากดอกมะพร้าวน้ำหอม ขายดีไม่แพ้กัน

ในปัจจุบันราคามะพร้าวกะทิราคาลูกละประมาณ 8-9 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปสามารถเพิ่มมูลค่าได้มาก อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์มะพร้าวข้นหวานปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม ราคา 350-400 บาท หรือจะเป็นขนาดเล็กก็มีทั้งแบบที่บรรจุใส่กระปุกพลาสติก และหลอดบีบก็มีจำหน่ายในปริมาณ 250 มิลลิกรัม ราคา 120-130 บาท ปริมาณ 150 มิลลิกรัม ราคา 100 บาท โดยเน้นจำหน่ายกับร้านเบเกอรี่ คาเฟ่ และผู้บริโภคโดยตรง

ออกบู๊ธขายอยู่ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การตลาดไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง
เตรียมแผนรุกตลาดออนไลน์

ในส่วนของเรื่องการตลาด พี่ยุ้ย อธิบายว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน และมะพร้าวข้นหวาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างใหม่เริ่มทำตลาดได้ประมาณ 1 ปี แต่ผลตอบรับที่ได้กลับดีเกินคาด โดยปริมาณการผลิตครั้งละประมาณ 8-100 กิโลกรัม 1 เดือนผลิต 3-4 ครั้ง แค่ให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า จะไม่ผลิตเกินความต้องการเพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ใส่วัตถุกันเสีย เน้นความสดใหม่ เต็มไปด้วยคุณภาพ ทำให้ได้รับความสนใจกับกลุ่มคนรักสุขภาพ และผู้ประกอบการร้านเบเกอรี่เป็นอย่างมาก

น้ำตาลมะพร้าว อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขายดี

โดยเน้นทำการตลาด “จากผู้ผลิตส่งตรงถึงมือผู้บริโภคโดยตรง” คือการวางขายที่สวน และการออกไปตั้งบู๊ธขายนอกพื้นที่ ทั้งในตลาดเกษตรกร ตลาดอาหารปลอดภัย ขายที่ศาลากลางจังหวัด รวมถึงศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน

ผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน แบบบรรจุในหลอดบีบ

ซึ่งข้อดีของการที่ผู้ผลิตส่งตรงถึงมือผู้บริโภคเองคือ “พี่เป็นทั้งคนผลิตและผู้จำหน่ายเอง เพราะฉะนั้นพี่จะรู้ฟีดแบ็กของลูกค้า ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือมีอะไรต้องปรับเปลี่ยน เราจะนึกจากความต้องการของตัวเองไม่ได้ แต่เราต้องทำตามความต้องการของลูกค้า อย่างที่พี่เจอคือเรื่องของแพ็กเกจจิ้งที่มันอาจจะดูดี แต่ราคามันสูงไป ลูกค้าจับต้องได้ยาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาปรับเปลี่ยนวิธีให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าให้ได้ รวมถึงตลาดออนไลน์ที่ตอนนี้อยู่ในช่วงวางแผนการตลาด ทั้งในรูปแบบการเสนอให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจ และการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะสมกับการขนส่ง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน และมะพร้าวข้นหวาน ต้องไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน”

ผลิตภัณฑ์คาราเมลมะพร้าวข้นหวาน แบบบรรจุขวดแก้ว 

ทางรอดของเกษตรกร
ต้องวิ่งหาโอกาสให้ตัวเอง

“จุดประสงค์ในการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเราจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤตราคาโดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมาราคามะพร้าวเคยตกไปเหลือลูกละ 2 บาท จนเกษตรกรไม่อยากขาย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา เราต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างกลุ่มเราเริ่มต้นก็ทำจากผลิตภัณฑ์ง่ายๆ แล้วค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ คือจะพยายามศึกษาและช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และสิ่งสำคัญคือเรื่องของการตลาด เกษตรกรจำเป็นจะต้องเรียนรู้ทั้งกระบวนการตลาดเลย ตั้งแต่ในเรื่องของราคา การตั้งราคา รวมถึงช่องทางการจำหน่าย ว่าของเราเหมาะที่จะไปลักษณะไหน รูปแบบใด รวมถึงการวิ่งเข้าหาโอกาสอย่างตัวพี่เอง นอกจากจะเป็นเกษตรกร แล้วมาเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้พี่ก็เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของจังหวัดประจวบฯ ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับองค์ความรู้ในการอบรมมากมาย รวมถึงโอกาสที่เราจะได้ไปพันธกิจกับหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากการหาตลาดเอง ทั้งอุตสาหกรรมที่เราได้สูตรมา ทั้งจังหวัดเราไปได้พื้นที่การขายมา และอีกหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นการวิ่งเข้าหาโอกาสถือเป็นเรื่องสำคัญ” พี่ยุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 091-878-3267 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สะแกเพลิน Sakaeploen

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354