เลี้ยงปลากรายครบวงจร แปรรูปเพิ่มมูลค่า ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น

ปลากราย เป็นอีกหนึ่งปลาเศรษฐกิจที่มีเกษตรกรในหลายพื้นที่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยการเลี้ยงส่วนใหญ่จะเน้นให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก ช่วยให้ง่ายต่อการจัดการในการให้ปลากินในแต่ละมื้อ ซึ่งเนื้อปลากรายสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำมาแกงเขียวหวานที่เป็นเมนูยอดนิยม หรือเมนูอื่นๆ รสชาติอร่อยไม่แพ้กัน

ปลากรายเป็นสัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง และบึง เกือบทั่วประเทศ และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามถิ่นนั้นๆ ภาคเหนือ เรียกว่า ปลาหางแบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า ปลาตองกราย เป็นต้น ปลากรายเป็นปลาประเภทกินเนื้อ ซึ่งอาหารที่หากินตามธรรมชาติ ได้แก่ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ลูกปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่นๆ

โดยลักษณะทั่วไปของปลากรายมีลำตัวยาวบาง แบนข้าง ส่วนหัวมีขนาดที่เล็กเว้าเป็นสันโค้ง ลักษณะที่เด่นของปลากรายคือ เหนือครีบก้นจะมีจุดสีดำค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 5-10 จุด เรียงเป็นแถว เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะนิยมนำมาขูดเอาเนื้อเป็นการเพิ่มมูลค่า เพราะจำหน่ายได้ราคาที่แพงกว่าปลาที่จำหน่ายเป็นตัว การนำเนื้อปลากรายมาปรุงอาหารนั้น สามารถทำได้หลากหลายเมนู ทอดมันปลากราย จัดได้ว่าเป็นเมนูที่ทุกคนรู้จักกันดี

คุณสิทธิชัย ลิ้มตระกูล อยู่บ้านเลขที่ 235 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ได้เห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลากราย โดยได้แบ่งพื้นที่ทางการเกษตรของเขา มาขุดเป็นบ่อจำนวน 2 ไร่ เพื่อใช้สำหรับเลี้ยงปลากรายเป็นรายได้เสริม ทำให้เขามีช่องทางสร้างรายได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงปลากรายที่เข้มแข็ง ส่งผลให้การผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

 

เลี้ยงปลากราย เสริมรายได้

คุณสิทธิชัย เกษตรกรเลี้ยงปลากรายเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ ปี 2548 ได้กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดชัยนาท เพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งในระหว่างนั้นได้ทำการศึกษาในเรื่องของการทำเกษตรหลากหลายแขนงตามศาสตร์พระราชา ทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน ส่วนในเรื่องของการเลี้ยงปลากรายนั้น ได้ไปศึกษากับเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ จึงทำให้เขาเกิดความสนใจ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน

“ช่วงที่เห็นเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง เราก็เกิดความสนใจว่า ในพื้นที่ 2 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี แต่สามารถทำรายได้พอสมควร จึงทำให้เราเกิดแนวความคิดว่า เราน่าจะแบ่งพื้นที่ทำนามาทำบ้าง เพราะเราทำนาปีละ 2 ครั้ง บางครั้งได้กำไรไม่ดี เมื่อเทียบกับการเลี้ยงปลากราย ผมก็เลยแบ่งพื้นที่ทำนาบางส่วนมาเลี้ยงปลากรายเป็นบ่อดิน และบางส่วนก็มีเลี้ยงในกระชังบ้าง ก็ประสบผลสำเร็จดีเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้ดีทีเดียว” คุณสิทธิชัย บอก

ปลากรายเลี้ยง 1 ปี

จึงจะจับขายได้

คุณสิทธิชัย อธิบายถึงขั้นตอนการเลี้ยงปลากรายให้ฟังว่า หลังจากที่จับปลากรายขายจนหมดบ่อแล้ว จะเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงในรอบใหม่ต่อไป ด้วยการทำความสะอาดบ่อโดยวิดน้ำออกให้หมด โรยก้นบ่อด้วยปูนขาวพร้อมกับตากบ่อทิ้งไว้ 7 วัน หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้ามาภายในบ่อ และเตรียมบ่อให้มีอาหารธรรมชาติ ลูกปลากรายจะได้มีอาหารกินในช่วง 2 วันแรก

การทำแพลงตอนน้ำ จะนำฟางข้าวและปุ๋ยคอกมาใส่ลงไปในบ่อในมุม 4 ด้านของบ่อ เมื่อเตรียมน้ำภายในบ่อเรียบร้อยแล้ว จึงนำลูกปลากรายขนาดไซซ์ 3 นิ้ว มาใส่เลี้ยงในอัตราส่วน 12,000 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ บ่อของเขามีขนาด 2 ไร่ อัตราส่วนที่เลี้ยงจึงอยู่ที่ประมาณ 24,000 ตัวต่อพื้นที่ 2 ไร่ โดยในช่วง 2 วันแรกที่ปล่อยเลี้ยงจะปล่อยให้ลูกปลากรายกินแพลงตอนน้ำเพียงอย่างเดียว

 

 

“หลังจากที่เราปล่อยเลี้ยงได้ 2 วันแล้ว จากนั้นเราก็จะเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดเบอร์ 1 ที่มีโปรตีนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ช่วง 1 เดือนแรกจะให้กิน 4 มื้อ เช้า สาย บ่าย เย็น หลังจากครบ 1 เดือน ก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเบอร์ 2 ให้กินแค่ช่วงเช้าและเย็นต่อไปอีกประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเบอร์อาหารอีกครั้งหนึ่ง เป็นอาหารเบอร์ 3 ให้กินอีกประมาณ 4 เดือนหรือกินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจับปลาขาย” คุณสิทธิชัย บอก

การดูแลน้ำภายในบ่อเลี้ยง คุณสิทธิชัย ย้ำว่าสำคัญมาก เพราะปลากรายจะไม่ชอบสภาพน้ำที่เน่าเสีย ในระหว่างที่เลี้ยงเมื่อเห็นมีสีน้ำเปลี่ยน เขาจะถ่ายน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไปบ้าง ส่วนถ้าช่วงที่มีฝนตกหนักๆ ในช่วงต้นฤดูกาล จะทำการสาดเกลือลงไปภายในบ่อ จำนวน 30 กิโลกรัม เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักๆ และสิ่งที่ช่วยให้ไม่เกิดโรคกับปลาภายในบ่อ คือการนำจุลินทรีย์เข้ามาช่วยบำบัด โดยใส่ลงภายในบ่อทุก 1 เดือน ก็จะช่วยในเรื่องของการบำบัดน้ำได้เป็นอย่างดี

“การปลี่ยนถ่ายน้ำสำหรับการเลี้ยงปลากรายนี่สำคัญมาก ผมก็จะเปลี่ยนถ่ายทุก 2 เดือนครั้ง แล้วเติมน้ำใหม่เข้ามาภายในบ่อ ก็จะทำให้ปลากรายสดชื่น กินอาหารได้ดี ส่งผลให้เกิดการเติบโตของเขาดีไปด้วย เพราะฉะนั้นน้ำจึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก โชคดีที่พื้นที่นี้มีน้ำชลประทาน บวกกับผมก็มีปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย โดยสูบน้ำจากบาดาล ทำให้ฟาร์มผมมีน้ำค่อนข้างเพียงพอในการเลี้ยงปลากราย” คุณสิทธิชัย บอก

ขายทั้งปลากรายสดและเนื้อปลาขูด

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อส่งขายปลากราย คุณสิทธิชัย เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เลี้ยงปลากรายจนได้อายุครบ 1 ปี หลังจากที่มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ที่เข้มแข็ง จึงทำให้ปลากรายในพื้นที่แห่งนี้สามารถจับจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี โดยเกษตรกรภายในกลุ่มจะมีการวางแผนการเลี้ยงที่ค่อนข้างชัดเจนและตกลงกันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ในแต่ละเดือนจะหมุนเวียนกันจับปลากรายของสมาชิกได้ครบทุกบ้าน จึงช่วยให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้หมุนเวียนตลอด

เมื่อกลุ่มมีการทำการเลี้ยงปลากรายแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ช่วยให้เกิดรายได้ไม่มีสะดุด เพราะแทนที่จะส่งขายปลากรายสดเพียงอย่างเดียว หลังจากที่นำมาแปรรูปด้วยการขูดเนื้อขายเอง จึงช่วยให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากขึ้น เพราะร้านอาหารในรอบๆ จังหวัดชัยนาทต่างชื่นชอบในคุณภาพ เพราะเนื้อปลากรายที่นำไปประกอบอาหารมีคุณภาพสดใหม่ ช่วยชูรสชาติของเมนูอาหารได้ดีทีเดียว

โดยปลากรายที่ยังไม่ผ่านการขูดเนื้อ ส่งขายเป็นตัว ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 72 บาท และเนื้อปลากรายที่ผ่านการขูดเนื้อแล้วราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 220 บาท

“พอเราทำแบบครบวงจรมากขึ้น พอทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว เราก็เรียนรู้การทำตลาดออนไลน์ไปด้วย มีการสร้างเพจว่าสมาชิกในกลุ่มเรา สินค้าเรามีอะไรบ้าง ก็ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงมากขึ้น ตั้งแต่เลี้ยงปลากรายมา ผมถือว่าเป็นอาชีพเสริมรายได้ที่ดีทีเดียว ไม่ต้องเฝ้าดูทั้งวัน ช่วงให้อาหารเสร็จเราก็ไปทำงานอย่างอื่นได้ ส่วนพื้นที่รอบบ่อก็ปลูกพืชผักไปด้วย สำหรับผมเวลานี้ ปลากรายถ้ามีการจัดการที่ดี สร้างตลาดที่เข้มแข็งต่อเนื่อง ก็ถือว่าเกิดรายได้ยั่งยืนได้ไม่ยาก” คุณสิทธิชัย บอก

สำหรับท่านใดต้องการเข้าไปศึกษาดูงาน หรือต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อปลากรายขูด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสิทธิชัย ลิ้มตระกูล หมายเลขโทรศัพท์ 089-745-0399

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354